STHAI เล็งจ้างที่ปรึกษาฯศึกษาออกแบบโรงไฟฟ้า 9.9 MW รองรับประมูลขายไฟฟ้า
STHAI เล็งจ้างที่ปรึกษาฯศึกษาออกแบบโรงไฟฟ้า 9.9 MW เพื่อใช้ประกอบในการขอทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และใช้ในการประมูลสร้างโรงไฟฟ้า มูลค่า 40 ลบ.
บริษัท ซันไทยอุตสาหกรรมถุงมือยาง จำกัด (มหาชน) หรือ STHAI ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ มีมติให้ขอสัตยาบันในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในการเข้าทำรายการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาและออกแบบ โรงผลิตไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกะวัตต์ (MW) ที่พร้อมเสร็จ เพื่อใช้ประกอบในการขอทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และใช้ในการประมูลสร้างโรงไฟฟ้า มูลค่า 40 ล้านบาท กับบริษัท เอกสิทธิ์ ออโตเมชั่น เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวโยงขณะที่กำหนดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 ในวันที่ 20 เม.ย.นี้
สำหรับบริษัท เอกสิทธิ์ ออโตเมชั่น เทคโนโลยีนั้น มีประสบการณ์และผลงานในการดำเนินการโครงการในการออกแบบโรงไฟฟ้าหลายโครงการ เช่น การออกแบบโรงไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ ในจ.สมุทรปราการ และสุราษฎร์ธานี ขณะที่การดำเนินธุรกิจดังกล่าวของบริษัทนั้น เป็นไปตามแผนการพัฒนาศักยภาพธุรกิจที่เคยส่งให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากบริษัทจำเป็นต้อง diversify ธุรกิจไปในธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีรายได้ประจำให้แก่บริษัทในระยะยาว
ทั้งนี้ บริษัทซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยางเป็นผลิตภัณฑ์หลัก โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตนอกเหนือจากน้ำยางธรรมชาติและสารเติมแต่งแล้ว กระแสไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่มีส่วนในการผลิต คิดเป็น 35% โดยประมาณ ซึ่งในอดีตกระบวนการผลิตถุงมือยางต้องหยุดการผลิตบ่อยครั้งเพราะการจ่ายไฟฟ้าที่ไม่คงที่ ทำให้การเดินเครื่องผลิตไม่สม่ำเสมอ และบางครั้งก่อให้เกิดความเสียหายเนื่องจากของวัตถุดิบที่ไม่สามารถขึ้นรูปเป็นถุงมือได้ เสียหายทั้งวัตถุดิบ เสียเวลาในการเริ่มต้นการผลิตใหม่เพราะต้องทำความสะอาดและเสียกำลังการผลิตที่จะไม่ได้เป้าหมาย
โดยกรณีดังกล่าวทำให้บริษัทมีแนวคิดที่จะผลิตไฟฟ้าเอง เพราะจะใช้ในกระบวนการผลิตทำให้มีความมั่นคงต่อการผลิตที่ต่อเนื่อง ,เลือกใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในช่วงค่าไฟฟ้าถูก และช่วงค่าไฟฟ้าแพงบริษัทจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเองทำให้สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้มากกว่า 30% ขณะที่ยังจะสามารถขายไฟฟ้าที่เหลือจำนวน 7 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นรายได้ของบริษัทราว 12 ล้านบาท/เดือน
สำหรับพื้นที่ที่จะตั้งโรงไฟฟ้านั้น บริษัทยังมีพื้นที่เพียงพอที่จะตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้า ณ ที่ผลิตถุงมือยางในปัจจุบันที่จ.ระยอง และยังเป็นสถานที่ที่มีวัตถุดิบที่เป็นชีวมวลอยู่มาก โดยเฉพาะเศษไม้ยางพารา รวมถึงจากการศึกษาพบว่าการใช้ชีวมวลหรือเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมีศักยภาพในการนำมาผลิตไฟฟ้าจะให้ผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ 14.9% และยังเป็นโครงการที่รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องราคาไฟฟ้าถ้าผลิตจากชีวมวล