พาราสาวะถี อรชุน
แน่นอนว่าจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อปลดล็อกปมปัญหาการทำประชามติ โดย วิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมร่วมครม.-คสช.ว่าจะแก้ไขใน 5 ประเด็น ที่ชัดเจนไม่ต้องตีความคือ การนับคะแนนเสียงประชามติให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิและให้คิดคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ โดยไม่นับคะแนนเสียงของผู้งดออกเสียง
แน่นอนว่าจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อปลดล็อกปมปัญหาการทำประชามติ โดย วิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมร่วมครม.-คสช.ว่าจะแก้ไขใน 5 ประเด็น ที่ชัดเจนไม่ต้องตีความคือ การนับคะแนนเสียงประชามติให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิและให้คิดคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ โดยไม่นับคะแนนเสียงของผู้งดออกเสียง
ที่น่าสนใจอีกประการคือ จากเดิมกรณีร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างชุด บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ให้สปช.และสนช.สามารถส่งคำถามประกบได้องค์กรละ 1 คำถาม แต่เมื่อวันนี้ไม่มีสปช.แล้ว จึงแก้ไขให้สนช.สามารถตั้งคำถามได้และส่งไปยังกกต.ได้โดยตรง คงต้องจับตาดูหากกรธ.ไม่แก้ไขให้ส.ว.มาจากการสรรหา สนช.อาจใช้สิทธิถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับส.ว.ลากตั้ง
นอกจากนั้น ก็จะเป็นประเด็นที่ว่าด้วยกฎหมายการทำประชามติ จากที่มีกระแสข่าวว่าจะออกเป็นพระราชกำหนดหรือพ.ร.ก. แต่ที่ประชุมครม.-คสช.ก็เคาะชัดเจนว่าจะเป็นพระราชบัญญัติหรือพ.ร.บ. โดยจะเป็นหลักเกณฑ์ใกล้เกียงกับกฎหมายเลือกตั้งส.ส.และประชามติเดิม แต่จะมีการกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการกีดขวาง ต่อต้าน จงใจไม่ให้มีการไปใช้สิทธิ ซึ่งจะรวมถึงการฉีกทำลายบัตรออกเสียงประชามติด้วย
เป็นอันชัดเจนกันไปไร้กังวล ที่เหลือก็อยู่ที่การจับตาดูเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ฟังจากบทสัมภาษณ์ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ล่าสุด ดูเหมือนว่าแนวโน้มที่จะแก้ไขที่มาส.ว.นั้นน่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะถึงขั้นที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาช่วยสำทับอีกคนจากข้อเสนอเดิมของสนช. ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลให้กรธ.ต้องปฏิเสธหรือเห็นเป็นอย่างอื่น แม้จะยืนยันว่าไม่มีใครสั่งการหรือชี้นำได้ก็ตาม
อย่างไรก็ดี มีเวทีเสวนาหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นการวิพากษ์ถึงสถานการณ์ในเมืองไทยโดยเฉพาะหลักนิติธรรมและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเป็นเวทีเสวนาเปิดตัว “โครงการนิติธรรมในประเทศไทย” หรือ Rule of Law in Thailand Project ของศูนย์กฎหมายเอเชียตะวันออก หรือ CEAL ภายใต้วิทยาลัยบูรพศึกษาและการศึกษาแอฟริกาหรือ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน
งานนี้จัดกันที่ห้องประชุม The Court Room อาคาร Senate House มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยโครงการนิติธรรมในประเทศไทย มุ่งดำเนินการทางวิชาการเพื่อศึกษาความหมายของหลักนิติธรรมและประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เช่น ความเปลี่ยนแปลงในทางรัฐธรรมนูญ ระบบกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและประเด็นอื่นที่มีผลกระทบต่อสังคมไทย
เป้าหมายของโครงการคือ การผลักดันการศึกษาวิจัยกฎหมายเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนการทำงานของนักวิจัยในช่วงต้นของสายงานวิชาการและนักศึกษาปริญญาเอกที่ศึกษาวิจัยหัวข้อเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและประเทศไทย งานนี้มีการอภิปรายในหลายหัวข้อไม่ว่าจะเป็นหลักนิติธรรมมีความสากลเพียงใด การฟื้นรากฐานของหลักนิติธรรมในประเทศไทยและความแตกแยกทางสังคมในช่วงเปลี่ยนผ่านทางรัฐธรรมนูญ
การอภิปรายที่น่าสนใจคงเป็นมุมมองของ Peter Leyland จาก SOAS ที่เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการกันอยู่ยังไม่มีสัญญาณว่ากองทัพจะคืนอำนาจ โดยเขามองว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการรัฐธรรมนูญหรือกรธ. มีความพยายามอำพรางเนื้อหาและทำให้เกิดความล่าช้าในรัฐบาลปัจจุบัน
กรธ.ชุดที่มี มีชัยเป็นประธาน เผชิญข้อกล่าวหาที่ว่าพวกเขาเป็นตัวแทนชนชั้นนำพวกเดียวกัน และความชอบธรรมก็มีน้อยลงเพราะถูกตั้งขึ้นโดยคสช. การร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการคุมเข้มอย่างหนัก สิ่งที่ทำให้นักวิชาการรายนี้ตกใจคือ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีการเปิดเผย มีรายละเอียดมหาศาล
โดยปีเตอร์ระบุว่า ตนได้ดูคร่าวๆ เลื่อนดูผ่านคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ซึ่งมันทำให้ตนแก่ไปเลย พร้อมกับอุทานว่า “พระเจ้า” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แบ่งเป็นหมวดต่างๆ มากกว่าเดิมเสียอีก ร่างรัฐธรรมนูญนี้กำลังจะถูกบันทึกสถิติโลกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลก ยาวกว่ารัฐธรรมนูญอินเดียเสียอีก แต่โดยส่วนตัวก็ไม่คิดว่าสิ่งนี้จะอยู่ได้นาน
ก่อนจะอธิบายต่อว่า ในร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดก่อนที่จะมีการปรับแก้อีกครั้ง มีหลายสิ่งที่กรธ.ตัดแปะมาจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ซึ่งรวมทั้งเนื้อหาที่มีการเน้นเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชั่นและคณะกรรมการตรวจสอบชุดต่างๆ แต่ร่างรัฐธรรมนูญยังอนุญาตให้นายพลสามารถรวบคืนอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในเวลาใดก็ได้ ในนามของความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งนี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ แต่หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านก็จะอยู่ไปอีกนาน ทั้งนี้ร่างฉบับนี้ยังจะต้องพบกับอุปสรรคขัดขวางใหญ่นั่นก็คือ การลงประชามติ
ทั้งนี้ ปีเตอร์ประเมินว่าจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีสัญญาณว่าจะมีการคืนอำนาจอย่างแท้จริง พร้อมเสนอว่า มีความจำเป็นที่จะต้องหยุดเบ้าหลอมสร้างวงจรการยึดอำนาจโดยกองทัพ ตลอดจนการปลดเปลื้องตนเองให้พ้นจากความรับผิดชอบและความรับผิดทั้งหลาย
สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้สำหรับความเห็นของนักวิชาการรายนี้ คงเป็นการวิจารณ์ในลักษณะประชดประชันต่อกรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งกำลังเผชิญกับการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่นำมาปฏิบัติโดยรัฐบาลชุดของเธอ โดยถูกกล่าวหาว่าล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้เกิดคอร์รัปชั่นในการจำนำข้าว
ในมุมมองของเขาเห็นว่าคำว่าคอร์รัปชั่น เป็นคำที่พูดกันไปทั่วในเมืองไทย โดยเป็นคำที่ถูกใช้โดยไม่ต้องนิยามถึงบริบท ดังนั้น จึงมีกลิ่นสองมาตรฐาน การลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนและเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้คนที่มีอำนาจมากและคนรวยมักจะหนีรอดกระบวนการยุติธรรม พูดอีกอย่างก็คือ มีการยกเว้นการใช้หลักนิติธรรมกับคนระดับบนสุด
กรณีนี้คงจะเป็นบทพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่พยายามจะอ้างว่าเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ และอาจแบ่งใช้เป็นบางส่วนในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านตามความคิดและความเห็นของผู้มีอำนาจนั้น คงไม่ใช่เรื่องที่จะคิดและทำได้โดยง่าย เพราะในระดับนานาชาติเขาจับตามองอย่างใกล้ชิด หากไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ภาวะกดดันจากภายนอกนั้นมันจะรุนแรงและหนักหน่วงเพียงใด