ฟองสบู่ตลาดหุ้นพลวัต 2016

นักวิเคราะห์หุ้นไทยพยายามบอกว่าดัชนีหุ้นจะยังเดินหน้าไปถึงแนวต้านต่อไปที่เนหือ 1380 จุด จากกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้า แต่ไม่มีใครพยายามบอกเลยว่า ตลาดเข้าเขตซื้อมากเกินไปนานหลายวันแล้ว มีความเสี่ยงเสมอที่จะปรับตัวลงแรงได้


วิษณุ โชลิตกุล

 

นักวิเคราะห์หุ้นไทยพยายามบอกว่าดัชนีหุ้นจะยังเดินหน้าไปถึงแนวต้านต่อไปที่เนหือ 1380 จุด จากกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้า แต่ไม่มีใครพยายามบอกเลยว่า ตลาดเข้าเขตซื้อมากเกินไปนานหลายวันแล้ว มีความเสี่ยงเสมอที่จะปรับตัวลงแรงได้

เหตุผลที่แท้จริง คงไม่ใช่เพราะนักวิเคราะห์หุ้นไทยมองไม่เห็นสัญญาณอันตราย แต่น่าจะเป็นเพราะพวกเขามีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ขัดขวางการวิจารณ์ทางลบในยามที่ตลาดกำลังขึ้นแรง

โดยข้อเท็จจริง ดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นแรงนับแต่วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ จากระดับ 1,290 จุดมาอยู่ที่ปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 1,379.33 จุด  บวกไปแล้วเกือบ 90 จุด หรือ 6.97 % ถือว่าผิดปกติอย่างยิ่ง แต่ก็สอดคล้องกับทิศทางการเคลื่อนตัวของตลาดหุ้นทั่วโลกที่เคลื่อนตัวผิดปกติเช่นกัน

การขึ้นแรงของตลาดหุ้นทั่วโลกยามนี้ มีเหตุผลที่ดูเลื่อนลอย 2 เรื่องพร้อมกัน และเป็นเหตุผลที่ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจเอาเสียเลย กล่าวคือ เกิดจากความเชื่อมั่นว่า 1) ราคาน้ำมันจะมีเสถียรภาพ จากข้อตกลงตรึงการผลิตน้ำมัน 2) ในภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่ ธนาคารกลางชาติต่างๆจะล้างผลาญทุนสำรองเงินตราของตนเองเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจไปเป็นระยะๆ เป็นผลดีต่อตลาดหุ้น

ความเชื่อมั่นดังกล่าวเปราะบางยิ่งนัก เพราะแรกสุดนั้น ข้อตกลงตรึงการผลิตในขณะที่มีการผลิตสูงสุด ไม่ได้แก้ปัญหาอุปทานน้ำมันล้นเกินอุปสงค์แต่อย่างใดเลย ย่อมไม่ใช่การสร้างเสถียรภาพของราคาน้ำมัน  ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่ยาสารพัดนึกทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

นักวิเคราะห์หุ้นที่น่าเชื่อถือได้มากที่สุดของตลาดหุ้นนิวยอร์ก ร่วมสมัย นาย เจฟ เดอกราฟ แห่งบริษัท Renaissance Macro Research Inc.ออกมาระบุวานนี้ว่า ความเชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วในยามนี้เป็นมายาคติชัดเจน เพราะการวิ่งขึ้นยาวนาน 3 สัปดาห์ของดัชนี S&P500 มากถึง 150 จุด กลับมาใกล้ระดับแนวต้าน 2,000 จุดอีกครั้ง ไม่เพียงพอที่จะบอกเช่นนั้น และสถานการณ์นี้ก็ไม่ใช่ภาวะกระทิงในความหมายที่แท้จริง

เขาระบุอีกว่า ตลาดหุ้นและภาวะเศรษฐกิจโลก ยังคงเป็นขาลง และภาวะหมีไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเกือบทั่วโลกล้วนถดถอย และมีราคาเกินจริงอยู่มากในปัจจุบัน บางกลุ่มเช่นธนาคารแม้จะมีผลประกอบการดีขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าคาดมากเกินจะเชื่อว่าพ้นจุดต่ำสุดแล้ว

คำพูดเก่าแก่ของปรมาจารย์ของนักลงทุนเน้นคุณค่าหรือ วีไอ ว่า ไม่มีทางที่ตลาดหุ้นจะลอยตัวเหนือหรือสวนทางภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ได้ หรือ “งาช้างย่อมไม่งอกออกจากปากสุนัข” ย้อนกลับมาเตือนสตินักลงทุนอีกครั้ง

การวิ่งขึ้นนของราคาน้ำมัน และราคาหุ้นในตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลก ตามสัญญาณทางเทคนิค และแรงซื้อที่ไม่สมเหตุผล ซึ่งแรลลี่เป็นขาขึ้นสวนทางที่ไม่สอดรับกับข้อเท็จจริงของผลประกอบการธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม จึงมีขีดจำกัดที่สุ่มเสี่ยงมากทีเดียว เพราะมีโอกาสที่จะเป็นกระทิงเทียม หรือ ตลาดฟองสบู่ได้ง่ายมาก ซึ่งผลลัพธ์คาดเดาไม่ยากล่วงหน้าเลยคือการปรับฐานรุนแรงเมื่อฟองสบู่แตกลง

ข้อเท็จจริงล่าสุดว่า สต๊อกน้ำมันดิบในสหรัฐ และภาวะล้นตลาดของน้ำมันในโลกยังดำเนินต่อไปแม้จะมี ข้อตกลงตรึงการผลิตน้ำมันที่จะกดดันราคาน้ำมันต่อไปตลอดปีนี้ ส่วนในยุโรป ภาวะเงินฝืดยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เช่นกันกับ ญี่ปุ่น ในขณะที่จีนก็ยังมีปัญหาถูกลดอันดับเครดิตทั้งภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว ขณะที่ในสุดสัปดาห์นี้ นายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน จะประกาศปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี สู่ระดับ 6.5%-7.0% จากเดิม 7% ต่อที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ตอกย้ำความสุ่มเสี่ยงของเศรษฐกิจทั่วโลก

ภายในประเทศไทยเอง ตัวเลขส่งออก-นำเข้าที่ลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งเงินเฟ้อที่ติดลบ และล่าสุดวานนี้ ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ยังคงลดลงต่อไปอีก เพราะภัยแล้งที่รุนแรงอย่างหนัก

ทั้งหมดที่กล่าวว่า ส่งสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกไม่มีสภาพฟองสบู่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราแม้กระทั่งการฟื้นตัวจากภาวะเงินฝืด หรือเงินเฟ้อติดลบ ยังยากจะฝ่าข้ามเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากขาดองค์ประกอบสำคัญคือการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์เทียมของตลาดมากกเกินขนาด ด้วยองค์ประกอบ 4 อย่างคือ 1) สภาพคล่องของเงินในตลาดล้นเกิน 2) ผู้บริโภคเชื่อว่า ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เร่งการซื้อเร็วขึ้น 3) การคำนวณราคาทรัพย์สินและสินค้าเกินจริง จากความฉ้อฉลของสถาบันการเงิน 4) สัญชาตญาณฝูงแกะของผู้บริโภคจากกระแสข่าวลือพาไป

การพุ่งขึ้นแบบผิดธรรมชาติของราคาและตลาดหุ้นที่หลุดลอยออกจากรากฐานของระบบเศรษฐกิจยามนี้ จึงเป็นประเด็นปัญหาว่าด้วยจิตวิทยาสุ่มเสี่ยงของนักเก็งกำไรแบบการพนันที่ล้นเกินบางช่วงเวลา โดยเฉพาะผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรที่หยิ่งผยองในอำนาจของเงินที่ตนเองบริหารในตลาดที่มากเกินขนาดเหนือนักลงทุนกลุ่มอื่น

 ครั้งหนึ่ง เคยมีข้อสรุปในบรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้บริหารตลดาทุนว่า ตลาดหุ้นจะไม่เกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นได้ หากว่าไม่มีเงื่อนไขหรือแรงสนับสนุนที่สอดรับกันจากฟองสบู่เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี 7 ขั้นของฟองสบู่โดยไฮแมน มินสกี้ (Minsky’s 7-stage Bubble Economy) มีฐานรากจากนโยบายและมาตรการที่ผิดพลาดในการกำกับดูแลตลาดเงินของธนาคารกลางเป็นสำคัญ ผสมกับความฉ้อฉลของสถาบันการเงิน และพฤติรกรมการลงทุนของธุรกิจในภาคการลิตที่แท้จริง แต่สถานการณ์ล่าสุดในเกิดขึ้นในรอบมากกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาในตลาดเก้งกำไรและตลาดหุ้นทั่วโลก ยืนยันชัดเจนว่า ฟองสบู่ตลาดหุ้น สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะไม่มีฟองสบู่เศรษฐกิจเกิดขึ้นเลย

ข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครถกเถียงแม้แต่น้อยอยู่ที่ว่า จุดจบของฟองสบู่ตลาดหุ้นทุกครั้งคือ การพักฐานหรือปรับฐานที่รุนแรง หรือภาวะฟองสบู่แตก เพื่อปรับสมดุลขอราคาหุ้นและตลาดให้ใกล้เคียงกับพื้นฐานอีกครั้ง

ตัวอย่างฟองสบู่หุ้นจีนในครึ่งแรกของปี 2558 และฟองสบู่แตกในครึ่งหลังปีเดียวกัน เป็นบทเรียนที่ชัดเจน

 สถานการณ์ดังกล่าว นักลงทุนคงจะไม่ต้องรอนาน ที่จะได้เห็นและสัมผัส

 

 

 

 

Back to top button