ดูโอ้เด็กเลี้ยงแกะแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ภาษิตโบราณบอกว่า ก่อนพูด เป็นนายคำพูด พูดแล้ว “คำพูดเป็นนาย”
ภาษิตโบราณบอกว่า ก่อนพูด เป็นนายคำพูด พูดแล้ว “คำพูดเป็นนาย”
กรณีนี้ ใช้ได้กับ 2 บุรุษแห่งวงการหุ้นได้ดี
คนแรก นายอมร มีมะโน ถือหุ้นใหญ่ และ ผู้บริหารสูงสุดในฐานะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ AJD… ที่ชอบให้ใครยกตนเองด้วยคำนำหน้านามว่า ดร. อย่างภาคภูมิใจ
คนหลัง นายวิชัย วชิรพงศ์ นักลงทุนรายใหญ่…หรือ เสี่ยยักษ์ ขาใหญ่รายย่อยที่โด่งดังคับวงการเซียนเหยียบเมฆ นั่นเอง
ผลประกอบการของ AJD ที่เพิ่งออกมาล่าสุด ทำให้คนทั้งคู่ กลายเป็น “ดูโอ้เด็กเลี้ยงแกะ” โดยปริยาย
หากไม่ลืมกัน.(จะด้วยเพราะแก่จนอัลไซเมอร์กำเริบ หรือเพราะมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าให้จำแทน)…. เดือนกรกฎาคม 2558 มีการแถลงข่าวเปิดแผนธุรกิจครั้งใหญ่ที่เป็นจุดพลิกผันของ AJD ที่แม้จะยังมีกำไรจากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดล่าง แต่กำไรก็ถดถอยลงเรื่อยๆ ทำให้ต้องค้นหาธุรกิจ “ดาวรุ่ง”ขึ้นมา
แผนธุรกิจดังกล่าว เกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ 800 ล้านหุ้น ซึ่งมีทั้งขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม หรือ อาร์โอ และขายแบบเฉพาะเจาะจงให้รายใหม่ หรือ พีพี
การเพิ่มทุนดังกล่าว ระบุว่า จะเป็นหุ้นสามัญ 800 ล้านหุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 0.10 บาท แต่แบ่งขาย 160,502,333 หุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 20 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาจองซื้อ 0.80 บาท/หุ้น ส่วนอีก 440,000,000 หุ้น ขายต่อต่อบุคคลแบบพีพี จัดสรรให้กับกลุ่มแรก ในส่วนแรกรวม 300 หุ้น ในราคา 1 บาท/หุ้น ให้กับ 4 คน ประกอบด้วย นายวิชัย วชิรพงศ์ 200 ล้านหุ้น, นายชูเกียรติ รุจนพรพจี 50 ล้านหุ้น, นายอานนท์ชัย วีระประวัติ 30 ล้านหุ้น และ ผศ.ดร.ณัฐนันท์ ต.เทียนประเสริฐ 20 ล้านหุ้น
ส่วนที่เหลืออีก 140 ล้านหุ้น จะจัดสรรให้แก่ PP ภายใน 12 เดือนหลังจากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเนื่องจากบริษัทยังไม่มีความเร่งด่วน
การเพิ่มทุนดังกล่าว นายอมรระบุว่า จะรองรับแผนขยายธุรกิจเต็มเหนี่ยว เปิดแนวรบใหม่ รุกคืบธุรกิจ ออนไลน์ และรองรับแผนร่วมลงทุนโลจิสติกส์กับ “อาลีบาบา กรุ๊ป” ผ่านทาง YTO Express Co., Ltd.
โครงงานทั้งหมดนี้ ที่ถือเป็นไม้เด็ดสุดในมุมมองของ อมร อยู่ที่การเปิดตัวโครงการจำหน่ายตู้เติมเงินมือถือ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของบริษัท โดยปี 2558 คาดว่าจะขายได้ที่ 20,000 ตู้ ในราคาตู้ละ 39,900 บาท และปี 2559 ตั้งเป้าว่าจะขายได้ 50,000 ตู้ ซึ่งจะทำให้บริษัทมียอดขายอยู่ที่ 70,000 ตู้ ขึ้นสู่ความเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมตู้เติมเงินของประเทศไทย
การแถลงข่าวครั้งนั้น อมรเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ตู้เติมเงิน(แบบขายขาด) จะมีอัตรากำไรที่สูงไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งจะเข้ามาหนุนให้กำไรสุทธิของบริษัทในปี 2558 นิวไฮ และเติบโตมากกว่าปี 2557 มากถึง 3 เท่า โดยจุดแข็งของบริษัทคือมีต้นทุนที่ต่ำและมีผู้บริหารในอดีตของซิงเกอร์ ที่ทำธุรกิจตู้เติมเงิน มาร่วมดำเนินการ
อมรย้ำอีกว่าจุดแข็งของ AJD นับจากตอนที่แถลงข่าวคือ บริษัทมีความพร้อมด้านเงินทุนอยู่ในมือ เพราะยังมี เสี่ยยักษ์ เข้ามาร่วมวงซื้อหุ้นเพิ่มทุน (พีพี) ของบริษัทจำนวน 200 ล้านหุ้นในอัตราหุ้นละ 1 บาท
อมรไม่ได้พูดเอง เออเองอยู่คนเดียว แต่เสี่ยยักษ์ ก็ยังออกมายืนยันและตอกย้ำหลายครั้งว่า เหตุที่สนใจซื้อหุ้น AJD เพราะเชื่อมั่นใจในตัวผู้บริหาร 100% โดยมั่นใจว่าสิ่งที่บริษัทจะทำนั้น สามารถทำได้จริงและธุรกิจตู้เติมเงินมือถือ ก็มีทิศทางการเติบโตที่ดี โดยเจ้าตลาดรายใหญ่ 2 ราย ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นนั้น มีตู้รวมไม่ถึง 100,000 ตู้ และถ้า AJD ขายตู้เติมเงินได้ 70,000 ตู้ภายใน 2 ปีจะกลายเป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรมทันที
ไม่เพียงเท่านั้น เสี่ยยักษ์ยังแย้มพรายว่า ต้นทุนตู้เติมเงินของบริษัทนั้น แค่ตู้ละ 1 หมื่นบาทเศษเท่านั้นเอง ขายยังไงก็กำไร
มั่นใจกันสุดๆอย่างนั้น …ไม่ประหลาดใจเลยที่ราคาหุ้นของ AJD จึงวิ่งจากระดับ 0.90 บาท อย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไปที่ระดับ เหนือ 1.50 บาท หรือ 66% และหลังจากนั้นก็วนเวียน รอผลงานการทำตลาดของมือทองตลาดล่างอย่างอมร และเชื่อในสายตาคมดุจพญาเหยี่ยวในการมองหุ้นของเสี่ยยักษ์ ชนิดที่ไม่กลับมาใต้ 1.00 บาท อีกนานหลายเดือน
คำถามที่หลายคนครุ่นคิดคือ หากทีมงานที่ซื้อตัวมาจากซิงเกอร์ครบทั้งชุด มีฝีมือจริง ทำไมซิงเกอร์จึงไม่ดึงตัวเอาไว้ หรือไม่สามารถทำยอดขายได้มากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ที่มีโมเดลธุรกิจต่างกัน ซึ่งไปได้ดีกว่า
แล้วผลลัพธ์ก็ออกมา….งบการเงินของ AJD โอละพ่อ!!!!
โฆษณาที่ดี ทำลายสินค้าเลว..ได้รับการตอกย้ำอีกครั้ง
กำไรในรูปของ EBITDA ลดลงอย่างมากจากระดับปีก่อน 152.71 ล้านบาท มาอยู่ที่ 39.94 ล้านบาท ลดลงไป 73.84 % กำไรสุทธิในงวดสิ้นปีของ AJD อยู่ที่ 22.38 ล้านบาท ลดลง 81% จากระยะเดียวกันปีก่อน
คำพูดที่เคยบอกว่าไอ้ที่ว่าจะกำไรเพิ่ม 3 เท่า…กลายเป็นแค่ความฝันในหอแดง
ในขณะที่รายได้รวมลดลงจากปีก่อนที่เคยอยู่ในระดับ 1,869.92 ล้านบาท มาอยู่ที่ระดับ 1,768.81 ล้านบาท ลดลงเพียงเล็กน้อยแค่ 5.40%
กำไรที่ลดรุนแรงมากกว่ารายได้ที่ลดลงเพียงเล็กน้อย สะท้อนว่า ความสามารถทำกำไรของบริษัทจากการขายสินค้าและบริการ ย่ำแย่ลง สะท้อนฝีมือผู้บริหารได้ยิ่งกว่าคำพูดใดๆ
ตัวเลขรายได้และกำไรที่สวนทางกับคำแถลงข่าว บอกได้ชัดเจน….ขายสินค้าไม่เข้าเป้า หรือพูดคำโต แต่ทำได้แค่เล็กน้อย
ภาพลักษณ์อันสวยงามของอมร มีมะโน ในฐานะผู้บริหารสินค้าที่มีวิสัยทัศน์และกล้ารุกไปข้างหน้าก่อนใคร กับภาพลักษณ์ของเสี่ยยักษ์ ในฐานะนักลงทุนตาคมดุจพญาเหยี่ยวในการเลือกหุ้น…พังครืนในพริบตา
คำถามตามมาก็คือ ยอดขายตู้เติมเงิน 2 หมื่นตู้ในปี 2558 ยังไม่ปรากฏชัดเจน แล้วยอดขายตู้เติมเงินอีก 5 หมื่นตู้ ในปี 2559 จะเป็นไปได้อย่างไร
คำตอบอยู่ในสายลม…เงียบหายไปกับร่างของดูโอ้เด็กเลี้ยงแกะ เสี่ยยักษ์ และอมร มีมะโน…เอวัง
ก็มีด้วยประการ …ฉะนี้