ดอลล์อ่อนค่า ตลาดวิตกยอดขาดดุลการค้าสหรัฐฯพุ่ง
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโรและสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดการขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้น 2.2% ในเดือนม.ค. ขณะที่ยอดส่งออกและนำเข้าร่วงลงอย่างหนัก นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟด จะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากมีรายงานว่าตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานในสหรัฐ ปรับตัวลดลงในเดือนก.พ.
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ค่เงินยูโร (5 มี.ค.) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0995 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.0955 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.4213 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.4165 ดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7426 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7356 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 114.03 เยน จากระดับ 113.62 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9950 ฟรังค์ จากระดับ 0.9910 ฟรังค์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโรและสกุลเงินหลักๆ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานเมื่อวานนี้ว่า ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือนม.ค. สู่ระดับ 4.57 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกสินค้าร่วงลง 3.3% สู่ระดับ 1.169 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2010 โดยการส่งออกได้ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ส่วนการนำเข้าลดลง 1.6% สู่ระดับ 1.806 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2011
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจจะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หลังจากรายงานล่าสุดของกระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่า ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ปรับตัวลดลง 3 เซนต์ในเดือนก.พ. สู่ระดับเพิ่มขึ้น 2.2% โดยชะลอตัวลงจากระดับ 2.5% ในเดืนม.ค.
เจฟฟ์ โรเซนเบิร์ก หัวหน้านักวิเคราะห์ฝ่ายการลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทแบล็คร็อค กล่าวว่า การปรับตัวลงของตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานนั้น แสดงให้เห็นว่าภาวะเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งข้อมูลนี้จะทำให้เฟดไม่ต้องรีบปรับนโยบายสู่ภาวะปกติ สำหรับข้อมูลแรงงานหลักๆ นั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 242,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 190,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี