มึน จุง เบยแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ราคาหุ้นบริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER หวือหวาและเป็นหุ้นพิมพ์นิยม ช่วงปี 2557 แต่น่าผิดหวังและทำให้นักลงทุนจำนวนมากกลายเป็น "ชาวดอย" กันทั่วหน้าในปี 2558
ราคาหุ้นบริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER หวือหวาและเป็นหุ้นพิมพ์นิยม ช่วงปี 2557 แต่น่าผิดหวังและทำให้นักลงทุนจำนวนมากกลายเป็น “ชาวดอย” กันทั่วหน้าในปี 2558
นั่นยังไม่เท่ากับตัวเลขผลประกอบการที่ขาดทุนอักโข 817 ล้านบาท เพราะรายได้จากการบันทึกค่าไฟที่ขายได้ต่ำมากเพียงแค่ 409 ล้านบาท เพราะโรค “เร่งไม่ขึ้น” ไม่สามารถไล่ตามงบลงทุน และต้นทุนการเงินที่มากมาย
หลายคนบอกและเชียร์ต่อว่า หุ้นอนาคตเป็นอย่างนี้ ปัจจุบันเป็นแค่มายาภาพ แต่ก็ไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า อนาคตจะเป็นมายาภาพด้วยหรือไม่
เหตุผลสำคัญคือ ข้อมูลของบริษัทในการลงทุนสร้างอนาคตนั้น มีมากมายจนนักลงทุนจำไม่หวาดไหว เข้าข่ายที่นักคิดทั้งหลายบอกว่า “ข้อมูลมากเกินไป” จนเข้าข่ายแฮงก์โอเวอร์คือ จุดบอดของการสื่อสาร
ทำนองเดียวกับเอกสารชี้ชวนการลงทุนก่อนเข้าตลาดมีข้อความหนาสองร้อยหน้าที่หวังให้นักลงทุนอ่านก่อนตัดสินใจน่ะเอง… มีแต่พ่อมด หรือแม่มด เท่านั้นจะอ่านให้จบ
กรณีของ SUPER ก็เช่นกัน ข้อมูลที่ผู้บริหารนำเสนอบ่อยครั้ง ประกอบด้วย 3 ส่วนที่แยกจากกัน ตั้งแต่ 1) โครงการลงทุนปัจจุบันและใหม่ที่มีทั้งสัญญาจะซื้อขาย แต่ยังไม่มีรายได้ (PPA) 2) โครงการลงทุนที่มีรับรู้รายได้แล้ว (COD) 3) แผนการระดมทุน และสร้างรายได้-กำไร
ข้อมูลแต่ละส่วนแม้จะเชื่อมโยงกัน แต่ค่อนข้างซับซ้อน
โครงการที่ผ่าน PPA มีแล้วประมาน 700 MW และโดยรวมที่กำลังจะขออนุมัติ ส่วนใหญ่เป็นการได้มาเพราะเอาเงินไปซื้อกิจการที่ซื้อใบอนุญาตซึ่งมีชื่อต่างกันมากมาย และยังมีการเปิดข้อมูลว่ากำลังจะขอผู้ถือหุ้นเพื่อซื้อกิจการใหม่เพิ่มอีก 125 MW
โครงการที่บันทึกเป็นรายได้มาแล้วหรือ COD ประมาณ 214.3 MW แต่ที่ผ่านมารับรู้ปลายปี ทำให้บันทึกเข้ามาต่ำมาก แต่ปี 2559 นี้จะบันทึกเต็มปี ไม่นับรวมของใหม่ที่จะทยอยรับรู้เข้ามาเพราะก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบทั้งหมด รอเพียงการจ่ายไฟ
แผนการทางการเงิน 2 ปีมานี้เพิ่มทุนด้วยวิศวกรรมการเงินสารพัด ทั้งเพิ่มทุน ออกวอร์แรนต์ ทำให้แม้ว่าจะเก่งที่สามารถทำให้ไม่เกิดไดลูชั่นมากนักหรือดีกว่า แต่ก็กดดันให้ต้องมีคำถามว่าด้วยความสามารถในการทำกำไร และราคาหุ้นที่เหมาะสมในอนาคต
แม้ว่า SUPER จะเป็นบริษัทที่มีอนาคต แต่อนาคตที่ซับซ้อน จนยากเข้าใจ เป็นปัญหาที่ต้องการคำอธิบายมากกว่าปกติ ไม่ใช่ทำให้ซับซ้อนต่อไปแบบ “สับขาหลอก”
ในงบปี 2558 ยกตัวอย่างง่ายๆ มีตัวเลขรายได้น้อยกว่ารายจ่ายมาก หากแยกแยะออกมา จะเห็นว่ามีตัวเลขค่าใช้จ่ายที่สำคัญประกอบด้วยสองส่วน คือ 1) ต้นทุนทางการเงิน 236 ล้านบาท 2) ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 755 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายในการบริหารที่มากถึง 755 ล้านบาทนั้น ความจริงมีตัวเลขที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการก่อสร้างโครงการ แต่มีตัวเลขอื่นแทรกเข้ามาทำให้งุนงง คือ ค่าธรรมเนียมและการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงิน 293 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานลม และขยะ ซึ่งน่าจะเป็นต้นทุนโครงการ แต่ตัดจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียวเป็นเงิน 123 ล้านบาท และค่าเสื่อมราคาตัดจำหน่ายและการด้อยค่าทรัพย์สินเป็นเงิน 190 ล้านบาท รวมแล้ว 606 ล้านบาท
ถ้าหัก 3 รายการนี้ออกไป จะเหลือค่าใช้จ่ายในการบริหารปกติประมาน 149 ล้านบาท เท่านั้น
ไม่รู้จะเป็นเจตนาทำให้ดูแย่เกินจริง หรือ กลัวหุ้นวิ่งแรง … กันแน่
เกมตัวเลขยังไม่หมดแค่นี้ หลังจากออกงบการเงินมาแล้ว ในงานแถลงข่าวล่าสุด ประธานจอมทรัพย์ โลจายะ ออกมาพูดตัวเลขใหม่อีก มั่นใจว่าSUPER ในปีนี้จะมีกำลังการผลิตที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ถึง 1,000 MW
ล่าสุดโครงการโรงไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์จากโครงการเอ็นเนอร์จี เซิร์ฟ (ESERVE) ในจ.เพชรบุรี ของบริษัทย่อย ได้จ่ายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพิ่มอีกจำนวน 3 โครงการ รวมกำลังการผลิต 17.85 เมกะวัตต์
นอกจากนี้บริษัทได้ขยายการลงทุนเพิ่ม ในส่วนของโครงการโซลาร์ฟาร์ม ทำให้ล่าสุดมีใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ทั้งหมดที่ 695.80 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจาก PPA ของเดิมจากปีที่แล้วจำนวน 501 เมกะวัตต์ และบริษัทได้ลงทุนเพิ่มในปีนี้อีก โดยล่าสุดได้เข้าลงทุนในบริษัท อิเควเตอร์ โซลาร์ จำกัด (EQUATOR) ที่มี PPA จำนวน 75 เมกะวัตต์ รวมถึงเข้าลงทุนในบริษัท ดับเบิ้ลยู อาร์ พี อีเนอร์จี จำกัด (WRP) ที่มี PPA จำนวน 48 เมกะวัตต์
อีกทั้งช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมาได้ เข้าซื้อหุ้นสามัญบริษัท โซลคิด โซล่าร์ จำกัด ที่มี PPA จำนวน 6 เมกะวัตต์ รวมถึงเข้าซื้อ หุ้นสามัญใน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท นอร์ธ อีสต์ ฟิวเจอร์ อีเนอร์จี จำกัด (NEFE) และบริษัท เอส ทู พี อีเนอร์จี จำกัด (S2P) รวมเรียกว่า NEFE & S2P ซึ่งมี PPA รวม 42 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังได้เข้าลงทุนในกลุ่ม WXA 4567 ที่มี PPA จำนวน 23.8 เมกะวัตต์ด้วย
มีเงินเยอะ ซื้อทุกโครงการที่ขวางหน้าอย่างนี้ มีอนาคตแน่นอน … แต่อนาคตแบบไหน คาดเดายาก เพราะโจทย์ว่าซื้อมาแพงหรือถูก หรือ คุ้มค่าการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ไม่มีที่ปรึกษาการเงินอิสระคนไหน โผล่มาให้เห็นเลย
ยิ่งพูดเลยเถิดไปถึง การลงทุนไปยังพลังงานลม และพลังงานชีวมวล เสมือนหนึ่งปอกกล้วยเข้าปาก…. ก็ยิ่งทำให้มึนตัวเลขหนักข้อขึ้นไป เพราะไล่ล่าความฝันในอนาคตไม่ทันท่านประธาน
หรือจะให้เข้าใจโดยนัยว่า เลิกขายกิจการเมื่อไหร่….ค่อยมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ
ระหว่างนี้ ก็ขาดทุนไปเรื่อยๆ….อิ อิ อิ