CIMBT ตั้งเป้าสินเชื่อโต 15-25%หลังควบคุม NPL ให้ต่ำกว่า 3.2%

CIMBT ตั้งเป้าสินเชื่อโต 15-25% หลังควบคุม NPL ให้ต่ำกว่า 3.2%


นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย  (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อปี 59 เติบโตได้ 15-25% จากปีก่อนทำได้ 4.3% และคาดการขยายเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จะเติบโตราว 15-25% เช่นกัน

ขณะที่ธนาคารจะเน้นไปที่การเพิ่มรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะเติบโต 15-20% และเพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เติบโต 5-10% รวมถึงรักษาอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากให้อยู่ระดับ 90-93% และควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้ต่ำกว่า 3.2% จากปีก่อนอยู่ที่ 3.1%

โดยปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อรวมประมาณ 190,000 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ราว 55,000 ล้านบาท ,ธุรกิจ SME ราว 50,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจลูกค้ารายย่อย

ขณะเดียวกัน จะขยับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ให้มากกว่า 3.3% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.3% โดยเป็นระดับที่อยู่อันดับ 2 ของระบบธนาคาร

ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายขยายฐานลูกค้าใหม่อีก 2.85 แสนราย จากปัจจุบันอยู่ที่ 6 แสนราย แบ่งเป็นลูกค้าเงินฝากรายใหม่ 2 แสนราย จากปัจจุบัน 4 แสนราย ,ลูกค้าสินเชื่อรายใหม่  8.5 หมื่นราย จากปัจจุบัน 2 แสนราย ,ลูกค้าบัตรเครดิตรายใหม่ 3 หมื่นใบ จากปัจจุบันมีฐานลูกค้า 2.2 หมื่นใบ ลูกค้าบุคคลธนกิจ CIMB Preferred อีก 1.2 หมื่นราย จากปัจจุบัน 4.8 หมื่นราย

ทั้งนี้ในการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจลูกค้ารายย่อยจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการทำธุรกิจ ควบคู่กับเครื่องมืออย่างอินเตอร์เน็ต แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ จะได้เห็นการต่อยอดธุรกิจและบริการบนนวัตกรรมธุรกรรมการเงิน Digital Solution Engagement หรือ DSE ที่ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และจะมีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างค่ายมือถือและร้านสะดวกซื้อ

นอกจากนี้ดิจิทัลแบงก์กิ้งของธนาคาร ภายใต้ชื่อ Beat Banking จะเพิ่มลูกค้าใหม่อีก 1 แสนรายในปีนี้ จากการเป็นพันธมิตรรายเดียวของ AIS และ AIS จะเพิ่มจำนวนจุดให้บริการในการรับเปิดบัญชีเงินฝากอิเล็กทรอนิกส์เป็น 170 แห่งในปีนี้

โดยธนาคารมีแผนจะเพิ่มลูกค้า Wealth Management โดยเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการลูกค้า ทั้งกองทุน หุ้นกู้ ไปจนถึง Structure Notes ผ่าน RM ที่เข้าใจความต้องการลูกค้า และใช้ระบบที่เข้ามาช่วยให้การให้คำปรึกษาสะดวกและรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการเป็นที่ปรึกษาเรื่องการลงทุนให้แก่ลูกค้าทั่วไปมากขึ้น ผ่านสาขาที่ปรับโฉมให้เหมาะกับการให้คำปรึกษาทางการเงินมากขึ้น

สำหรับธุรกิจลูกค้ารายกลาง หรือ SME นั้น ธนาคารอยู่ในช่วงปรับโฉมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและพัฒนาระบบงานต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและศูนย์ธุรกิจที่ตั้งอยู่ตามพื้นที่ ซึ่งจะใช้กลยุทธ์เจาะลูกค้าเป็นรายกลุ่มวางแผนปล่อยสินเชื่อตามพื้นที่และอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ด้วยการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอย่างครบวงจร ทั้งวงเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ผลิตภัณฑ์สำหรับการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ตลอดจนผลิตภัณฑ์สำหรับบริหารความเสี่ยง และยังผลักดันให้ลูกค้าไปขยายธุรกิจในอาเซียนอีกด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและรักษาการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน

สำหรับธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารตั้งเป้าหมายของการเป็นธนาคารทางเลือกของลูกค้าเรื่องอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายสร้างรายได้จากธุรกรรมที่เกิดขึ้นข้ามประเทศให้มีสัดส่วนเพิ่มเป็นกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมดในปี 59 เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพและโอกาสของลูกค้าธุรกิจที่จะขยายตัวไปต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งธนาคารจะใช้ความได้เปรียบของการเป็นเครือข่ายเดียวกันกับกลุ่มซีไอเอ็มบีผสานกับความเชี่ยวชาญของทีมงานเข้ามาสนับสนุนลูกค้าไทยไปลงทุนในอาเซียน

ขณะที่ธุรกิจบริหารเงิน ในปี 59 จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์บริหารเงินและบริการต่างๆ ที่ช่วยบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนแก่ลูกค้า ด้วยความเป็นมืออาชีพ และมีการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาภารกิจคือการสานต่อผลงานที่ได้ทำไว้ใน 58 ซึ่งเป็นอีกปีแห่งความสำเร็จของสายบริหารเงิน โดยสายบริหารเงินสามารถสร้างรายได้เติบโตต่อเนื่อง และมีอัตราเติบโตกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้เป็นปีที่เศรษฐกิจชะลอตัวและมีความผันผวน ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของพนักงานในสายงานและหน่วยงานต่างๆของกลุ่มธนาคารและกลุ่มซีไอเอ็มบี รวมถึงการมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งในภูมิภาค

ด้านการขยายสาขาไปยังอาเซียน ธนาคารมีแผนจะเปิดสาขาที่ประเทศเวียดนามในไตรสมาส 4/59 ทั้งหมด 2  สาขา ที่โฮจิมินห์และฮานอย โดยประเมินศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจประเทศเวียดนามในอนาคต เห็นได้จากช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) 6-7% ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่อยู่ที่ 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามมองว่าหากมีการขยายสาขาไปยังเวียดนามแล้ว ก็น่าจะเป็นการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยและลูกค้าอาเซียนที่ต้องการเข้าไปลงทุนได้อย่างมาก และน่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงปลายปีนี้

Back to top button