พาราสาวะถี อรชุน
ตอกย้ำความไม่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างดีต่อกรณีข้อเสนอของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กับการให้มีส.ว.ลากตั้งในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี สำทับด้วยการยกมือหนุนของหัวหน้าคสช.อย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาด้วย พรเพชร วิชิตชลชัย เรียกได้ว่าเป็นปี่เป็นขลุ่ยกันทีเดียวของผู้มีอำนาจและมือกฎหมายคณะรัฐประหาร
ตอกย้ำความไม่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างดีต่อกรณีข้อเสนอของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กับการให้มีส.ว.ลากตั้งในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี สำทับด้วยการยกมือหนุนของหัวหน้าคสช.อย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาด้วย พรเพชร วิชิตชลชัย เรียกได้ว่าเป็นปี่เป็นขลุ่ยกันทีเดียวของผู้มีอำนาจและมือกฎหมายคณะรัฐประหาร
โจทย์สำคัญจึงตกไปอยู่ในมือของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ว่าจะทำตามความต้องการนั้นอย่างไรให้นวลเนียน หลังจากที่ชูสโลแกนรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงแต่ดูท่าว่าจะไม่ได้ผล เพราะประชาชนยุคดาวเทียมไม่ได้รับประทานหญ้า จึงพิจารณาจากหน้าตาและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญโดยภาพรวมทั้งหมด มากกว่าจะเลือกดูเพียงแค่เรื่องหนึ่งด้านใดโดยเฉพาะ
ภาพสะท้อนที่ชัดเจนเห็นได้จากผลสำรวจความเห็นของกรุงเทพโพลล์ล่าสุด ที่มีประชาชนเพียงร้อยละ 45.8 เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยมีความเป็นประชาธิปไตย หากไม่โกหกตัวเองหรือมีธงไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ นี่คือเสียงสะท้อนที่ต้องรับฟัง เพราะนั่นหมายความว่า การที่ผู้มีอำนาจต้องการให้รัฐธรรมนูญช่วงแรกเป็นแบบไทยๆ คนในด้วยกันเองก็ยังไม่ยอมรับ
เมื่อเป็นเช่นนั้นย่อมส่งผลไปถึงระดับสากล ไม่ต้องถามว่านานาชาติจะรู้สึกอย่างไร ท่าทีที่แข็งกร้าวของพี่เบิ้มอย่างสหรัฐอเมริกายืนยันมาโดยตลอดต้องการเห็นประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว และก็ย้ำอยู่เสมอทุกเวที หวังว่าผู้มีอำนาจจากการรัฐประหารจะดำเนินการทุกอย่างตามโรดแมป การจะบิดพลิ้วโดยอ้างเหตุหนึ่งประการใดคงทำได้ยากอย่างแน่นอน
ผลโพลล์ดังกล่าวนั้น ยังได้สะท้อนแนวคิดของประชาชนกลุ่มตัวอย่างด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่จะกำหนดให้มีส.ว.มาดูแลยุทธศาสตร์ชาติช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี โดยที่เสียงค้านนั้นมีมากถึงร้อยละ 51.8 เช่นเดียวกันกับความเห็นที่ว่าอยากให้คสช.อยู่ต่อหลังมีรัฐบาลใหม่หรือไม่ มีเพียงร้อยละ 48.4 อยากให้อยู่ต่อ สูสีกับที่ไม่ให้อยู่ต่อคือร้อยละ 47.6
ภาพตรงนี้สะท้อนภาวะ “ขาลง” ของผู้มีอำนาจได้เป็นอย่างดี เพราะหากไปถามคำถามในลักษณะนี้หลังการยึดอำนาจหมาดๆ หรือในช่วงระยะเวลา 1 ปีหลังรัฐประหาร คะแนนนิยมที่จะให้อยู่ต่อจะพุ่งพรวดไปแตะระดับร้อยละ 70-80 โน่นเลยทีเดียว ตรงนี้แหละคือบทพิสูจน์ที่ว่า การได้มาซึ่งอำนาจ (ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด) ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะบริหารอำนาจและอยู่ให้ถูกใจประชาชนนั้นเป็นเรื่องยากมากกว่า
หากหยิบยกเอาผลจากตรงนี้มาวิเคราะห์แบบผิวเผิน น่าจะมองเห็นว่า คนส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับความเป็นประชาธิปไตยและยังเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยควรเป็นของประชาชนมากกว่านำไปให้องค์กรอิสระหรือส.ว.ลากตั้งที่ผู้มีอำนาจอยากให้มี หรือพูดง่ายๆ คือ ประชาชนไม่อยากให้ใครมาควบคุมอำนาจของประชาชน
คนส่วนใหญ่รู้ทันเล่ห์และเข้าใจเหลี่ยมของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยเฉพาะ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่แม้จะดูภายนอกสวยงาม แต่เนื้อในโดยเฉพาะท่าทีของผู้มีอำนาจในห้วงเวลานี้สะท้อนภาพได้อย่างเด่นชัดว่าต้องการอยู่ต่อหรืออีกนัยหนึ่งก็คือสืบทอดอำนาจนั่นเอง ยิ่งพวกถูกหวยรัฐประหารซึ่งอยู่ในสนช.และสปท.ด้วยแล้ว ไม่มีการเก็บอาการของการอยากอยู่ต่อแม้แต่น้อย
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงตรงนั้นที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดคงเป็นกรณีกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำประชามติ ซึ่ง ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.บอกว่าครม.ตีกลับให้มาทบทวนเนื้อหาทั้ง 16 มาตรา ไม่รู้ว่าติดขัดปมตรงไหนอย่างไร หรือจะเป็นกรณีบทลงโทษเกี่ยวกับผู้ที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่เวลานี้กกต.บอกเพียงว่าจะมีโทษหนักสำหรับคนไปขัดขวางการทำประชามติ
แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะจากเอกสารที่เล็ดลอดออกมาจะเห็นได้ว่า ในมาตรา 12 ของพ.ร.บ.ประชามติที่กกต.เสนอไปยังรัฐบาลนั้นระบุไว้ชัดเจนว่า ด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างการออกเสียงประชามติ ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง
หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่หรือลักษณะอื่นใด โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
หากกฎหมายมีผลบังคับใช้และมีข้อความตามนี้ นั่นหมายความว่า รัฐบาลและกกต.ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้มีการรณรงค์เชิญชวนประชาชนทั้งรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเนื้อหาของกฎหมายได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้ใครมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ นั่นเท่ากับว่า กฎหมายฉบับนี้จะเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญใช้เป็นเครื่องมือปิดปากฝ่ายไม่เห็นด้วยและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
นี่ไงที่ย้ำมาโดยตลอดว่า การกระทำของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งการร่างรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การทำประชามตินั้น เป็นพฤติกรรมที่ต้องยอมรับว่า “ศรีธนญชัยเรียกพี่” จริงๆ ยิ่งผู้มีอำนาจแสดงท่าทีอย่างชัดแจ้งต่อการให้มีส.ว.ลากตั้ง แทบจะไม่ต้องคิดอะไรกันให้มากว่าประเทศจะกลับมาเดินบนถนนสายประชาธิปไตยแบบไหน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคงไม่ต้องคาดหวังว่าอะไรต่อมิอะไรมันจะดีขึ้น
อีกปมที่หลายฝ่ายจับตาดูอยู่ เป็นปัญหาการซื้อขายเก้าอี้ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เปิดข้อมูลด้วย พลเรือเอกพะจุณณ์ ตามประทีป อดีตนายทหารคนสนิทของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก่อนที่จะถูกพลเอกประวิตรออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง และตามมาด้วยการแจ้งความเอาผิดคนปูดเรื่องในข้อหาหมิ่นประมาทและทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
จนคนมองไปว่านี่เป็นการงัดข้อกันของสองบิ๊กป.ปลากลุ่มอำมาตย์ที่ทรงอิทธิพลและฝ่ายอำนาจใหม่ที่กำลังมากด้วยบารมีในเวลานี้หรือเปล่า หลายๆ เหตุการณ์เป็นตัวบ่งชี้แต่จะถึงขั้นแตกหักหรือไม่ ไม่มีใครคาดเดาได้ เพราะหลายครั้งที่ผ่านมาสถานการณ์ดูท่าว่าจะปะฉะดะแต่สุดท้ายก็กลายเป็นหนังรักโรแมนติกจูบปากกันดูดดื่มเสียอย่างนั้น แต่หนนี้อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น ส่วนจะจบลงอย่างไรต้องติดตามตอนต่อไป