น้ำมัน และ ส้นเท้าอะคีลีสพลวัต 2016

ราคาน้ำมันที่วิ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 2 เดือน ในช่วงเวลาที่ใกล้กับวันที่ 20 มีนาคม ซึ่งเริ่มมีการเปิดเจรจาเพื่อตรึงกำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลก (ยกเว้นสหรัฐฯ ที่ถูกเบียดให้ออกนอกวงเจรจา) อย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะกองทุนเก็งกำไรพากันออกแรงดันขึ้นไป ทั้งที่มีคำถามตามมาว่า ดันขึ้นไปขายให้ใครกันแน่


วิษณุ โชลิตกุล

 

ราคาน้ำมันที่วิ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 2 เดือน ในช่วงเวลาที่ใกล้กับวันที่ 20 มีนาคม ซึ่งเริ่มมีการเปิดเจรจาเพื่อตรึงกำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลก (ยกเว้นสหรัฐฯ ที่ถูกเบียดให้ออกนอกวงเจรจา) อย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะกองทุนเก็งกำไรพากันออกแรงดันขึ้นไป ทั้งที่มีคำถามตามมาว่า ดันขึ้นไปขายให้ใครกันแน่

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ระดับใกล้ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ระดับเหนือ 36 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลวานนี้ ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ไกลแค่ไหน เพียงแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการน้ำมัน ต่างพากันออกมาให้ “ข่าวดี”และ “ข่าวบวก” โดยที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่า หลังจากข้อตกลงผ่านไปแล้ว จะทำให้ปริมาณอุปทานล้นตลาดยังอยู่ได้อีกนานแค่ไหน

แน่นอนว่า การที่ราคาของสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI  และ Brent ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยอาศัยข่าวเล็กๆที่ไม่มีนัยสำคัญว่า มีการขุดเจาะน้ำมันที่ลดลงในสหรัฐฯนั้น จะเป็นมายาภาพที่ถูกนักเก็งกำไรสร้างขึ้นมาหลอกชาวโลกหรือไม่ เป็นคำถามใหญ่

โจทย์สำคัญเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องน้ำมันก็คือ การที่โอเปก และรัสเซียจะทำการตกลงเพื่อตรึงกำลังการผลิตน้ำมัน หรือ ลดปริมาณการลิตน้ำมันดิบลงไป โดยไม่มีสหรัฐฯเข้าร่วมวงเจรจาด้วย (ซึ่งผิดปกติอย่างยิ่ง เพราะโดยข้อเท็จจริง สหรัฐฯเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ระดับหัวแถวของโลกในเวลานี้) จะบังเกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างไร

คำเตือนของนักวิเคราะห์เชิงเทคนิคของตลาดโภคภัณฑ์สำคัญในลอนดอน ชิคาโก และนิวยอร์ก ที่พร้อมใจเตือนว่า ช่วงขาขึ้นของราคาน้ำมันรอบนี้ใกล้สิ้นสุดแล้ว เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว ข้อตกลงตรึงผลผลิตน้ำมัน ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการประกาศหยุดยิงชั่วคราวของสงครามเท่านั้นเอง จึงเป็นการเตือนสติที่ดี แม้ตลาดจะยังเพิกเฉยต่อคำเตือนดังกล่าว

ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา การต่อสู้ระหว่างรัสเซียกับโอเปกในการเพิ่มผลผลิตน้ำมันและแก๊สธรรมชาตินั้น เกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่ 3 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จล้นหลามจากเชลล์ออยล์ของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯกลายเป็นคู่ปรับสำคัญของโอเปกในการกดดันให้ราคาน้ำมันดิ่งเหวเมื่อปี 2558ที่ผ่านมารุนแรง จนกระทั่งมีคนกลัวกันว่า นี่คือสงครามราคาที่โอเปกตอบโต้ผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯโดยตรงให้ออกไปจากตลาด

ข้อเสนอของรัสเซีย ที่ซาอุดีอาระเบีย อิรัก และ อิหร่าน ตอบรับทันที จึงมีเงื่อนไขสำคัญคือการโดดเดี่ยว “ผู้ร้ายคนสำคัญ”ของธุรกิจผลิตน้ำมันดิบอย่างสหรัฐฯนั่นเอง แต่การโดดเดี่ยวเช่นนี้ ขัดแย้งโดยตรงกับข้อตกลง “หยุดยิง”ที่ตรึงผลผลิตเพราะมีเงื่อนไขระบุว่า จะต้องให้ทุกชาติที่ผลิตน้ำมันส่งออก ยอมเข้าร่วมการตกลงดังกล่าวด้วย ถึงจะสัมฤทธิผล

การวิ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบต่อเนื่องกันนาน 3 สัปดาห์จนถึงล่าสุด จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างมาก แม้กระทั่งนักวิเคราะห์ยังเปลี่ยนใจมาหนุนให้ซื้อกันเป็นการใหญ่ จึงเป็นปรากฏการณ์ชวนระทึกพอสมควร เพราะตลาดที่แปรจากตลาดขาลงแรงเป็นขาขึ้นแบบ V-shape นั้น มีความสุ่มเสี่ยงแทรกปนด้วยอย่างมีนัยสำคัญ

ราคาน้ำมัน ส่งผลโดยตรงต่อราคาหุ้นพลังงานและตลาดหุ้นโลกด้วย

โดยทั่วไปในอดีต ราคาน้ำมัน จะวิ่งสวนทางกับดัชนีตลาดหุ้น แต่มาระยะหลัง ราคาหุ้นน้ำมันและหุ้นพลังงานมีบทบาทขับเคลื่อนให้ล้อไปกับราคาน้ำมันอย่างชนิดแยกกันยาก

จากช่วงราคาน้ำมันเป็นทิศทางขาลง ราคาหุ้นพลังงาน กลายเป็นตัวแปรฉุดตลาดหุ้นไม่ให้เป็นขาขึ้นเกือบทุกตลาดทั่วโลก แต่ยามนี้ราคาหุ้นพลังงานกำลังขับเคลื่อนตลาดหุ้นทั่วโลก ที่แม้จะเข้าเขตซื้อมากเกินไปแล้วก็ยังเดินหน้าต่อไปอีกอย่างฝืนธรรมชาติ

ในช่วงเวลาขาลงของราคาน้ำมัน นักวิเคราะห์ต่างเคยพากันคิดค้นหาทางออกจากวกฤติราคาหุ้นน้ำมันกันอย่างมากมายนับแต่ 1) ข้อเสนอเอามาตรการลดต้นทุนสารพัด นับแต่ลดหรือเลื่อนการลงทุน ขายสินทรัพย์ ลดคนงาน ลดภาระหนี้ 2) เพิ่มหรือรักษาปันผล  รวมทั้งมาตรการซื้อหุ้นคืน เพื่อรักษามาร์เก็ตแคป 3) ควบรวมกิจการเพื่อประหยัดโดยขนาด และลดการแข่งขัน

ข้อเสนอแนะดังกล่าว ยังไม่ทันได้ลงมือปฏิบัติ ราคาน้ำมันที่พลิกกลับตัวแรงต่อเนื่องก็ทำให้ข้อเสนอแนะถูกเมินไปโดยปริยาย เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป

ความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการเบี้ยวหนี้ของบริษัทน้ำมันสารพัดรูปที่ก่อเอาไว้ เริ่มจางลงไป ความหวาดกลัวเงินเฟ้อติดลบเบาบางลง ชาติผู้ลิตน้ำมันส่งออกหันมาพูดเรื่องเสถียรภาพของตลาดมากขึ้น ในขณะที่นักวิเคราะห์ตลาดมองเชิงบวกว่า เป้าหมายทะลุแนวต้านของตลาดเก็งกำไรทั้งหลาย ควรอยู่ที่เป้าใหม่เท่าใด

เมื่อราคาน้ำมัน และตลาดหุ้นพลิกกลับมาดูดีอีกครั้ง ข้อถกเถียงที่เคยหน้าดำคร่ำเครียดว่า “เศรษฐกิจชะลอตัว เป็นต้นเหตุของราคาน้ำมันตกต่ำ ไม่ใช่ราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่”  และข้อถกเถียงว่าด้วย ปัญหาสภาพคล่อง และการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินจากสถาบันจัดอันดับของธุรกิจน้ำมัน ก็เริ่มเลือนหายไปจากวงสนทนาอีกครั้ง ตามวัฏจักรของตลาด

สิ่งที่หายไปจากวงสนทนาอีกครั้งก็คือ คำถามที่ว่า หากผู้ผลิตของสหรัฐฯกลับมาเริ่มต้นผลิตน้ำมันระลอกใหม่หลังจากราคาน้ำมันเริ่มทะยานขึ้นไปอีกครั้งจะเกิดอะไรขึ้น

โจทย์ที่ยังไม่มีคำตอบนั้น น่าจะถือเป็นการอำพราง “ส้นเท้าอะคีลีส”ที่ชวนให้สยองใจไม่น้อย โดยเฉพาะ “ผู้ร้าย”อย่างสหรัฐฯที่ถูกกีดกันออกนอกวงข้อตกลง ย่อมไม่อยู่เฉยแน่นอน

Back to top button