พาราสาวะถีอรชุน

เรื่องของพระเราในฐานะฆราวาสไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ในปัจจุบันนี้มันไม่ใช่อย่างนั้นเสียแล้ว เพราะขนาดองค์กรที่เคยบอกว่าไม่มีอำนาจไปยุ่งเกี่ยวกับกิจของสงฆ์ ยังอุตส่าห์เปิดพจนานุกรมไปตีความข้อกฎหมายเพื่อส่งความเห็นไปให้รัฐบาลว่า มติของมหาเถรสมาคมหรือมส.กรณีเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือสมเด็จช่วง วรปุญโญ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นสังฆราชองค์ใหม่ผิดขั้นตอน


เรื่องของพระเราในฐานะฆราวาสไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ในปัจจุบันนี้มันไม่ใช่อย่างนั้นเสียแล้ว เพราะขนาดองค์กรที่เคยบอกว่าไม่มีอำนาจไปยุ่งเกี่ยวกับกิจของสงฆ์ ยังอุตส่าห์เปิดพจนานุกรมไปตีความข้อกฎหมายเพื่อส่งความเห็นไปให้รัฐบาลว่า มติของมหาเถรสมาคมหรือมส.กรณีเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือสมเด็จช่วง วรปุญโญ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นสังฆราชองค์ใหม่ผิดขั้นตอน

ภาพมันชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ตรวจการแผ่นดินที่สุมหัวกันแล้วอ้างพจนานุกรมและผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้มติของมส.ผิดพ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 นั้น มีเจตนาอย่างไร เนื่องจากมีคนไปสืบค้นข้อมูลก่อนหน้านี้พบว่า ผู้ตรวจการฯเคยปฏิเสธที่จะตรวจสอบเจ้าอาวาสวัดหนึ่งในจังหวัดพิจิตร โดยอ้างว่า ไม่มีอำนาจไปวินิจฉัยกิจของสงฆ์

ดังนั้น การกระทำตามการยื่นร้องของ ไพบูลย์ นิติตะวัน จึงมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นการรวมหัวกับกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านไม่ให้สมเด็จช่วงได้รับการแต่งตั้งเป็นสังฆราชเท่านั้น แต่ก็ยืนยันมาจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ล่าสุด ยังไม่ตัดสินใจต่อข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน เช่นเดียวกับการแต่งตั้งสมเด็จช่วงต้องรอให้คดีความที่มีอยู่ยุติเสียก่อน

โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจนทุกฝ่าย ความจริงก็น่าจะแถลงให้ชัดเจนเสียตั้งแต่แรก ไม่ต้องปล่อยให้เกิดภาพสองมาตรฐานหรือไม่มีมาตรฐาน จากการที่ตำรวจและทหารต้องไปไล่บล็อกไล่ล็อกตัวไม่ให้พระเมธีธรรมาจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยพร้อมคณะแถลงข่าว

การกระทำในลักษณะดังกล่าวเกิดคำถามขึ้นว่า ฝ่ายที่สนับสนุนสมเด็จช่วงขยับจะทำอะไรทำไมจึงมีการตามไปขัดขวาง ขณะที่ฝ่ายค้านไม่ว่าจะพุทธะอิสระหรือไพบูลย์จะแถลงอะไรหรือเคลื่อนไหวอย่างไรก็ได้ ในแง่ของความรู้สึกแล้วคงไม่มีใครยอมรับได้ และหากยังใช้วิธีการเช่นนี้เหมือนที่ย้ำมาโดยตลอดเรื่องการปรองดองก็ปิดประตูตายไปได้เลย

กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญงวดเข้ามาทุกขณะ แต่ว่าการเล่นละครไม่เข้าร่วมประชุมแม่น้ำ 5 สายของ มีชัย ฤชุพันธุ์ และชาวคณะกรธ.ดูท่าจะไม่ค่อยเนียนซักเท่าไหร่ เหตุผลที่ว่าไม่ได้รับเชิญและไม่อยากให้ถูกผูกมัด ฟังแล้วดูดีแต่มันจะน่าเชื่อถือเช่นนั้นหรือ เพราะมีชัยคงลืมไปว่าตัวเองไม่ได้มีหัวโขนแค่ประธานกรธ.เท่านั้น แต่หมวกอีกใบยังเป็นสมาชิกคสช.ด้วย

เรียกได้ว่าเป็นสายตรงขององค์รัฏฐาธิปัตย์เลยทีเดียว ดังนั้นแนวคิดที่อ้างว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เรื่องส.ว.สรรหาแล้วสำทับอย่างหนักแน่นจากบิ๊กตู่ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเห็นตรงกันหลังจากประเมินสถานการณ์ที่รออยู่ข้างหน้าแล้วอย่างแน่นอน เรื่องนี้ต้องมีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า เพียงแต่ว่าจะให้ใครเป็นตัวเดินเกมเท่านั้น

เหมือนอย่างที่มีการวิจารณ์กันไปก่อนหน้า การร่างรัฐธรรมนูญหลังการยึดอำนาจที่ผ่านมา ย้อนกลับไปห้วงเวลาใกล้ๆ คือ ยุคของรสช.ก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬและยุคคมช.ของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน องค์รัฏฐาธิปัตย์หรือสมาชิกที่เกี่ยวข้อง ไม่มีใครออกมายืนสง่าโดยท้าทายเรียกร้องให้ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้เหมือนในยุคนี้

กรณีนี้จึงมองได้เพียงแค่ 2 แนวทาง อย่างแรกคือ หากไม่ออกมาพูดเองแล้วมีเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญปรากฏว่ามีส.ว.ลากตั้งมีชัยจะเสียผู้เสียคน เมื่อผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดออกมาการันตีเอง นั่นย่อมหมายถึงว่า ไม่มีทางเลือกอื่น เหมือนอย่างที่มีชัยยอมรับเองว่า กรธ.ยังยึดหลักการเรื่องที่มาของส.ว.ตามเดิม แต่ขึ้นอยู่กับว่าคสช.จะต้องการแบบไหน

นั่นก็เท่ากับการยอมรับไปในตัวแล้วว่า ถ้าสุดท้ายปลายทางหากต้องมีส.ว.ลากตั้ง หมายความว่ากรธ.ปฏิเสธผู้มีอำนาจไม่ได้ ขณะที่อีกทางหนึ่งหากกรธ.ยืนให้ส.ว.มาจากการเลือกกันของ 20 กลุ่มอาชีพ การออกมาของผู้มีอำนาจก็เหมือนกับทำตัวเป็นสายล่อฟ้า เพื่อให้มีชัยและพวกเป็นฮีโร่ ที่กล้าปฏิเสธไม่ยอมทำตาม

แต่หากดูจากท่าทีของบิ๊กตู่และบิ๊กป้อมแล้ว ไม่น่าจะทำให้ใครเป็นฮีโร่ ยิ่งมองไปในความต้องการที่จะให้ส.ว.มีอำนาจเทียบเท่าส.ส.โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายกฯด้วยแล้ว มันทำให้เห็นภาพอะไรต่อมิอะไรผุดขึ้นมาอย่างเด่นชัด เช่นสิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยคาดการณ์กันไว้ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนก็อยากให้เป็นเช่นนั้น นั่นก็คือ การสืบทอดอำนาจ

กรณีนี้ ไม่ต้องให้ฝ่ายเห็นต่างมาตอกย้ำ เพราะ กษิต ภิรมย์ คนกันเองก็ประกาศชัดในวันที่บิ๊กป้อมพูดถึงเรื่องมีส.ว.สรรหาในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีว่า หากไม่มีคำอธิบายก็จะกลายเป็นอยู่ต่อเพราะอยากอยู่ในอำนาจต่อและต้องถามว่าอะไรอยากทำในวันพรุ่งนี้ทำไมวันนี้ไม่ทำเป็นคำเตือนที่ผู้มีอำนาจต้องไตร่ตรองเพราะเป็นความหวังดีและไม่ใช่ประสงค์ร้ายอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าบิ๊กตู่น่าจะรับรู้ถึงกระแสของการต่อต้านหากดันทุรังประเด็นส.ว.ลากตั้งได้เป็นอย่างดี จึงได้แสดงท่าทีล่าสุดหลังประชุมครม.เมื่อวาน ย้ำว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้ส.ว.สรรหามีอำนาจในการเลือกนายกฯเนื่องจากเห็นว่า ควรจะใช้กลไกปกติของสภาจะเหมาะสมกว่า แต่ยังยืนยันต้องการให้มีส.ว.สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน

เมื่อออกในรูปนี้ก็หมายความว่าจะเป็นการพบกันครึ่งทางและเพื่อไม่ให้มีชัยต้องอึดอัดใจ ต้องไม่ลืมว่านับตั้งแต่ก้าวขามารับตำแหน่งประธานกรธ. เจ้าตัวก็ถูกกระแนะกระแหนว่าด้วยการร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2521 จนมาถึงปี 2534 ที่เป็นช่องให้มีนายกฯคนนอกได้โดยเฉพาะหนหลังที่นำประเทศไปสู่การนองเลือดจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

อีกประเด็นสำคัญที่หัวหน้าคสช.สื่อสารต่อสังคมคือ ไม่สามารถเขียนล็อกห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเป็นอีกปมที่กรธ.ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด แต่ได้ชื่อว่าเนติบริกรชั้นครูแล้วคงไม่มีใครวางใจได้ ต้องรอเห็นเนื้อในของร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ก่อนจึงจะสรุปได้ว่า เนื้อหาเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือยังมีปมซ่อนเงื่อนวางยาไว้เหมือนอย่างที่ถูกโจมตีมาก่อนหน้านี้

Back to top button