ตัวเลข (ไม่เคย) โกหกพลวัต 2016
หุ้นจีนวูบลงในพริบตาเมื่อเปิดตลาดวานนี้ หลังจากสำนักงานศุลกากรจีน ประกาศตัวเลขทางการเดือนธันวาคมของการค้าระหว่างประเทศออกมาเป็นข่าวร้ายก่อนเปิดตลาด
วิษณุ โชลิตกุล
หุ้นจีนวูบลงในพริบตาเมื่อเปิดตลาดวานนี้ หลังจากสำนักงานศุลกากรจีน ประกาศตัวเลขทางการเดือนธันวาคมของการค้าระหว่างประเทศออกมาเป็นข่าวร้ายก่อนเปิดตลาด
ยอดส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ ร่วงลง 20.6% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 8.218 แสนล้านหยวน (1.263 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ยอดการนำเข้าลดลง 8% สู่ระดับ 6.123 แสนล้านหยวน ส่งผลให้ยอดเกินดุลการค้าต่างประเทศเดือนก.พ.ของจีน ร่วงลง 43.3% เทียบรายปี สู่ระดับ 2.095 แสนล้านหยวน จากเดือนมกราคมที่ระดับ 4.063 แสนล้านหยวน
ขณะที่มูลค่าการค้าโดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 15.7% เทียบรายปี สู่ระดับ 1.43 ล้านล้านหยวน ซึ่งร่วงลงมากกว่าเดือนม.ค.ที่ปรับตัวลดลงเพียง 9.8%
สำหรับมูลค่าการค้าต่างประเทศในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 3.31 ล้านล้านหยวน ลดลง 12.6% เทียบรายปี ขณะที่ยอดส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลง 13.1% สู่ระดับ 1.96 ล้านล้านหยวน และยอดนำเข้าลดลง 11.8% สู่ระดับ 1.35 ล้านล้านหยวน
ตัวเลขดังกล่าว ทำให้นักลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าในสหรัฐและยูโรโซน พากันทบทวนใหม่ว่า การวิ่งขึ้นระลอกใหม่ในหลายวันมานี้ โดยเฉพาะสินค้าหลักคือ สินแร่เหล็ก (วิ่งขึ้นสูงสุดวันเดียว 19% ในวันเดียวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา) ทองแดง (สูงสุดในรอบ 5 เดือน) ทองคำ (สูงสุดในรอบ 1 ปี) และน้ำมัน (สูงสุดในรอบ 2 เดือน)
การวิ่งขึ้นของราคา สินแร่เหล็ก ทองแดง น้ำมัน และทองคำ รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์อื่น โดยอาศัยคำพูดของรองนายกรัฐมนตรีจีนที่ว่า พร้อมจะอัดฉีดเงินงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้ ไม่ยอมให้มีปรากฏการณ์ ฮาร์ด แลนดิ้ง เกิดขึ้น เป็นความหวังที่เลื่อนลอยสำหรับอนาคต เมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงของตัวเลขเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน
ตัวเลขที่เลวร้ายของการค้าระหว่างประเทศจีน ทำลายความหวังขาขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกได้ฉันใด ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจไทยที่เป็นจริง ก็น่าจะส่งสัญญาณให้เห็นว่า ขาขึ้นของตลาดหุ้นไทยนั้น มีขีดจำกัดเช่นกัน เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อาจจะไม่ได้ดีเหมือนที่วาดฝัน
ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานตัวเลขล่าสุดเกี่ยวกับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสำรวจจากผู้ประกอบการในภาคเศรษฐกิจจริง จากธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ 643 ราย พบว่าปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ตามความกังวลต่อความสามารถในการใช้จ่ายและกำลังซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอลงต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะภัยแล้งส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบปรับสูงขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนกุมภาพันธ์ ได้ปรับลดลงจากระดับ 48.5 ในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 48.2 จากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญที่มีความเชื่อมั่นลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มยานยนต์และกลุ่มเคมี ปิโตรเลียมและพลาสติก ตามองค์ประกอบด้านการผลิตและคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งจากคำสั่งซื้อต่างประเทศที่ปรับชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ด้านผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบทางการเกษตร อันเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้น
ความเชื่อมั่นในอนาคตของผู้ประกอบการไทยที่ถอยลง เกิดจากยอดตัวเลขส่งออก-นำเข้าของไทยที่หดตัวรุนแรงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และภัยแล้งที่กำลังลุกลามไปทั่วประเทศในช่วง 2 เดือนข้างหน้า ทำให้เกิดคำถามว่ารัฐบาลจะมีประสิทธิภาพก้าวข้ามช่วงเวลายากลำบาก โดยไม่กล่าวหา “แพะ” ได้ดีเพียงใด
ตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจในเชิงลบดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามว่า ตลาดหุ้นไทยยามนี้ซึ่งมูลค่าซื้อขายเกิน 6 หมื่นล้านเกือบทุกวันมา 1 สัปดาห์แล้ว และใกล้แนวต้านจิตวิทยาสำคัญ 1,400 จุด จะฝ่าข้ามไปได้เร็วหรือช้า หรือไม่ได้เลย
ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยวิ่งขึ้นรุนแรงมากกว่า 100 จุด สะท้อนความมั่นใจเกินเหตุว่าฟันด์โฟลว์ไหลเข้าจะสามารถขับเคลื่อนตลาดทะลุแนวต้านดัชนีตลาดเหนือ 1,400 จุดได้สำเร็จ ทั้งที่เข้าเขตซื้อมากเกินมาหลายวันแล้วก็ตาม
นักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักพากันขานรับทุกเช้าว่า กระแสฟันด์โฟลว์เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ดันตลาดมาตลอด ในฐานะเสาหลักที่ดัชนีจะไม่หลุดกลับไปที่ระดับ 1,300 จุดอีกแล้ว แต่นั่นเป็นข้อสรุปที่เร่งด่วนเกินไป และมองข้ามจุดอ่อนที่ซ่อนเอาไว้บางจุด
ประเด็นยามนี้คือ บรรดานักลงทุน “แมงเม่า” ที่เคยหลบลี้หนีหน้าจากตลาดหุ้นไทยในช่วงขาลงแรงปีก่อนและต้นปีนี้ กำลังกลับคืนสู่ตลาดอีกครั้ง เป็นไปตามขั้นตอนก่อรูป “ความบ้าคลั่งของฝูงชน” หรือ 7 ลำดับขั้นของฟองสบู่โดยมินสกี้ (7 Stages of Minsky’s Financial Bubble) ในช่วงเวลาที่ขาใหญ่ทั้งหลายเรียกว่า “หมดรอบ”
ข้อเท็จจริงดังกล่าว ปรากฏขึ้นมา จากจุดเริ่มเมื่อตอนที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยทะยานขึ้นมาที่ระดับ 1,320 จุด จากระดับ 1,290 จุด คนส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นใจเลย กล้าๆ กลัวๆ ต่อมาดัชนีเริ่มทำทรงขึ้นยืนเหนือ 1,350 จุด บางกลุ่มที่มีจำนวนน้อยลง ยังคงคิดว่า “น่าจะเป็นแค่การลากออกของ” แต่เมื่อดัชนียังดื้อวิ่งต่อ จะเกิดภาวะ “มวลวิกฤติ” (critical mass) จิตวิทยานักลงทุนก็เปลี่ยนไปเข้าซื้อดันดัชนีวิ่งทะลวงแนวต้าน จนถึงจุดที่ส่วนใหญ่มั่นใจว่าจะสามารถทะลวงก้าวข้ามแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยา 1,400 จุดไปได้ แล้วเปลี่ยนเป็นแนวรับได้อีก ไม่กลับลงไปอีก
จุดที่อารมณ์ของตลาดถูกครอบงำด้วยความมั่นใจสูงสุดนี้แหละ คือ จุดที่ “ขาใหญ่” ในตลาดได้ระบายของที่ซื้อในต้นทุนต่ำทิ้งหมดเรียบร้อยแล้ว ให้ “ชาวดอย” รับไป
เกมง่ายๆ ทางจิตวิทยาเก็งกำไรอย่างนี้ ย่อมมีคนเจ็บตัว และมีคนได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ รวมทั้งใครบางคนที่เสมอตัวเมื่อหักกลบกัน เป็นวงจรครั้งแล้วครั้งเล่าที่ไม่เคยมีคนจำบทเรียนได้มากนัก เพราะมีคนที่สอบตก “ตัวเลข” กันมากกว่าสอบได้
ตัวเลขไม่เคยโกหกใคร เพียงแต่ใครจะถอดรหัสตัวเลขได้ดีกว่ากัน ซึ่งเกี่ยวโยงถึงบุญวาสนาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนตัว