ดีใจได้ แต่…แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
หุ้นของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อันเกิดจากการควบรวมกิจการของ 2 บริษัทจดทะเบียนมหาชนในเครือ ช.การช่าง เข้าเทรดวันแรกฉลองฤกษ์ศักราชใหม่ 4 มกราคม 2559 ด้วยราคาปิดเทรดวันแรก ที่ 5.15 บาท มูลค่าซื้อขาย 5,498.08 ล้านบาท
หุ้นของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อันเกิดจากการควบรวมกิจการของ 2 บริษัทจดทะเบียนมหาชนในเครือ ช.การช่าง เข้าเทรดวันแรกฉลองฤกษ์ศักราชใหม่ 4 มกราคม 2559 ด้วยราคาปิดเทรดวันแรก ที่ 5.15 บาท มูลค่าซื้อขาย 5,498.08 ล้านบาท
หลังจากนั้นราคาก็ค่อยวิ่งอย่างช้าๆ หลายวันต่อเนื่อง ไปแตะที่ระดับ 6 บาท โรยตัวลงมาต่อเนื่องที่ระดับ 5.15-5.20 บาท ตามประสาหุ้นที่เครื่องร้อนช้า แม้จะมีอนาคตยาวไกล
ราคาหุ้นที่แกว่งตัวในกรอบแคบมากอย่างนี้ ถึงขั้นไม่ใส่ใจกับงบการเงินงวดสิ้นปี 2558 ที่ประกาศปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีกำไรสุทธิ 2,701.01 ล้านบาท หรือ 0.17 บาทต่อหุ้น และจ่ายปันผลเป็นเงินสดหุ้นละ 0.07 บาท
แม้จะใจป้ำขนาดนี้ ราคาหุ้นก็ยังถูกเมิน ไม่ใช่เพราะเป็นหุ้นที่เลวร้ายอะไร เพราะยังมีอนาคตที่ดีรออยู่ข้างหน้า การที่มีกำไรแล้วจ่ายปันผลล้วนดีทั้งสิ้น
เพียงแต่หุ้นที่หนักและขึ้นช้า จากการรอโครงการใหญ่ที่ไม่เสร็จง่ายๆ อย่าง รถไฟฟ้าสีม่วงและทางพิเศษ ทำให้นักลงทุนใจร้อนทั้งหลายพากันหันไปซื้อขายตัวอื่นๆ ที่ให้ส่วนต่างราคารวดเร็วทันใจมากกว่า…ก็แค่นั้น
ในวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ดัชนีหุ้นตกแรง 21 จุด ขาประจำของนักลงทุนที่ชอบถือหุ้นสาธารณูปโภคทั้งหลายแหล่ ได้ดี๊ด๊ากันทั่วหน้า เมื่อมีข่าวดีออกมาช่วงปิดตลาดเช้า ว่า BEM ชนะคดีเก่าคั่งค้างในอดีตที่คาดว่า จะได้เงินเข้ามาเป็นกอบเป็นกำ เป็นกำไรพิเศษในลักษณะ “ส้มหล่น”
เรื่องที่เกิดขึ้น ค้างคามาตั้งแต่ปี 2551 เมื่อครั้งที่ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 เพื่อเรียกร้องให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชำระเงินส่วนต่างรายได้ค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 กับอัตราค่าผ่านทางที่ถูกต้องตามสัญญา
เรื่องค้างคามายาวนานถึงเกือบ 8 ปี เพิ่งจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตออกมาล่าสุด ให้ได้เฮกัน
สำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 แต่เพิ่งส่งมาถึง BEM ในวันที่ 4 มีนาคม คำวินิจฉัยระบุว่า ให้ กทพ.ชดใช้ค่าเสียหายให้ BEM โดยสรุปได้ดังนี้
1.ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำนวน 4,368 ล้านบาท และดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ข้อ 25.6 ของต้นเงินค่าเสียหาย จำนวน 3,776 ล้านบาท คิดเป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 เป็นต้นไป จนกว่า กทพ.จะชำระเสร็จสิ้น
2. ให้ กทพ. ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางระหว่างอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 กับอัตราค่าผ่านทางที่ถูกต้องตามสัญญา โดยคำนวณจริงตามจำนวนรถยนต์แต่ละประเภทที่ใช้ทางตามสัญญาฯ เป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 เป็นต้นไป รวมทั้งชำระดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาข้อ 25.6 ของผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัทจนเสร็จสิ้น
คำชี้ขาดข้อหลังนั้น แม้จะไม่มีตัวเลขชัดเจน แต่ก็คงคิดเป็นหลักพันล้านบาท เพราะต้องคำนวณส่วนแบ่งที่กินเวลายาวนานประมาณ 5 ปี นับโดยรวมแล้วน่าจะเป็นวงเงินรวมมากกว่า 5 พันล้านบาท
รายได้พิเศษอย่างนี้ ทำให้ BEM จะมีกำไรอู้ฟู่จากทั้งกำไรปกติ และกำไรพิเศษ ซึ่งอย่างหลังมีคนหัวไวคิดออกมาว่า อาจจะจ่ายปันผลพิเศษเพิ่มอีก 0.92 บาทต่อหุ้น
ข่าวเช่นนี้ ขาลุยชอบนักแล
เปิดตลาดภาคบ่ายวันอังคารเป็นต้นมา ราคาหุ้นของ BEM ถูกแรงซื้อดันให้วิ่งแรงอย่างเข้มข้น วิ่งทะลุแนวต้านขึ้นไป 5.45 บาท แต่แรงซื้อดังกล่าว ฝ่อลงในช่วงเวลาแสนสั้นแค่ครึ่งชั่วโมง เพราะเกิดมีคนนึกขึ้นมาได้ว่า ชัยชนะตามคำชี้ขาดดังกล่าวมีเงื่อนไขกำกับเอาไว้ด้วย
เงื่อนไขคือ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 BEM ต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลทำการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายใน 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้
ในทางตรงกันข้าม ขณะที่ กทพ. อาจขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด
เงื่อนไขดังกล่าว ตอกย้ำชัดเจนจนเป็นจารีตไปแล้วว่า ระบบอนุญาโตตุลาการ ไม่ได้มีความสำคัญในกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างเอกชนกับรัฐไทย
เสียงกองเชียร์ที่กระดี๊กระด๊าของกองเชียร์ BEM จึงเปลี่ยนเป็นแรงขาย เมื่อสติสตังกลับคืนมา เพราะโดยประสบการณ์นับแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน แทบไม่เคยมีกรณีไหนที่มีคำชี้ขาดแล้ว จะจบกันที่อนุญาโตตุลาการ
โจทย์ใหญ่ที่ว่า หากอนุญาโตฯ ตัดสินแล้วไม่ฟัง ต้องไปฟ้องศาลกันต่อ แล้วจะมีอนุญาโตตุลาการเอาไว้ทำหอกดาบอะไรกัน…ต้องเก็บไว้ในใจ
ขืนพูดออกไปเสียงดัง มีโอกาสถูกนำตัวไปปรับทัศนคติได้ง่ายๆ
ก็กฎหมายเขียนเอาไว้ว่า ต้องฟ้องศาลอีกครั้งเพื่อบังคับใช้ ก็ต้องก้มหน้ารับข้อกฎหมาย…ไม่เป็นอย่างอื่น
ราคาหุ้น BEM ก็เลยมีอาการ…เก้อ …วิ่งลงมาปิดที่ 5.15 บาทต่อไปตามระเบียบ
เพราะขั้นตอนขึ้นศาลนั้น ต้องมีถึง 3 ศาลตามปกติ หาก BEM ดันบังเอิญชนะคดีในศาลชั้นต้น…แต่พอไปถึงศาลสูงสุด โอกาสที่เอกชนจะชนะ…คาดเดายากจุงเบย
ที่นี่คือประเทศไทย
เอวัง!!!