พาราสาวะถี ”อรชุน”
สงสัยจะไม่ธรรมดาเสียแล้ว กับข่าวคราวการไม่ลงรอยของ “ป๋า” กับ “ป้อม” เพราะกรณีของ พลเรือเอกพะจุณณ์ ตามประทีป อดีตนายทหารคนสนิท พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถูกตั้งข้อหาด้วยความผิดที่มีโทษร้ายแรงอย่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญเหมือนที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พยายามชี้แจงว่า อาจเป็นความเข้าใจผิดของพนักงานสอบสวน
สงสัยจะไม่ธรรมดาเสียแล้ว กับข่าวคราวการไม่ลงรอยของ “ป๋า” กับ “ป้อม” เพราะกรณีของ พลเรือเอกพะจุณณ์ ตามประทีป อดีตนายทหารคนสนิท พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถูกตั้งข้อหาด้วยความผิดที่มีโทษร้ายแรงอย่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญเหมือนที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พยายามชี้แจงว่า อาจเป็นความเข้าใจผิดของพนักงานสอบสวน
เพราะหากเป็นความเข้าใจผิดและแจ้งข้อกล่าวหาที่มีโทษรุนแรงเช่นนี้ ถือว่าเป็นความสะเพร่าและมักง่ายของพนักงานสอบสวนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าพูดให้แรงหน่อยก็เท่ากับเป็นการยัดเยียดข้อกล่าวหา แล้วจะหาทางลงกันอย่างไร เปลี่ยนข้อหาใหม่หรือยกเลิกการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ว่าจบอย่างไรย่อมไม่ใช่เรื่องสวยงาม และเสียงวิจารณ์ย่อมตามมาอื้ออึง
แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนภาพความไม่พอใจของอีกฝ่ายได้อย่างชัดเจนและน่าจะเป็นสัญญาณของความไม่ลงรอยบางประการนั่นก็คือ การให้สัมภาษณ์ของพะจุณณ์ที่ระบุ “ประชาชนทนได้กับข้าวของแพง เศรษฐกิจมีปัญหา แต่จะไม่ทนกับการทุจริตคอร์รัปชั่น” คล้อยหลังจากนั้นไม่นานเมื่อวันเสาร์ป๋าก็ออกมาให้สัมภาษณ์ในท่วงทำนองเดียวกัน
โดยป๋าบอกถึงกรณีอดีตนายทหารคนสนิทอย่างพะจุณณ์ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ได้พูดให้กำลังใจไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรเพิ่มเติม แต่สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้คงเป็นคำบ่นในทำนองท้อแท้สิ้นหวังของประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ยอมรับว่า “เหนื่อยที่ต้องพูดเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่เสมอ แต่การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไม่ได้ลดลงเลย”
การพูดในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการตบหน้าผู้มีอำนาจฉาดใหญ่ เพราะไล่ตั้งแต่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปจนถึงระดับเสนาบดีที่ร่วมคณะรัฐนาวาคสช.ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันรัฐบาลนี้ไม่มีปัญหาการทุจริตคดโกง มิหนำซ้ำ ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ประกาศจุดยืนเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับปราบโกง แล้วไฉนป๋าจึงมองไม่เหมือนกับบิ๊กตู่และชาวคณะเห็น
นี่อาจเป็นตัวชี้วัดอะไรบางอย่าง แต่ก็อีกนั่นแหละด้วยความที่มีอำนาจพิเศษที่ชื่อว่ามาตรา 44 จึงทำให้ผู้มีอำนาจไม่กลัวเกรงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ใครแหลมมามีอันต้องโดนเล่นงานจะด้วยการปรับทัศนคติหรือดำเนินคดีเหมือนอย่างที่พะจุณณ์ถูกดำเนินการ บางรายอาจจะมีการบุกไปคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามมาตราดังว่า นี่คือความจริงของการใช้อำนาจในยุคนี้
ทั้งๆ ที่การอ้างถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะต้องมีแรงกระเพื่อมและเสียงชี้แนะ ติติง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารที่ดีต้องรับฟังและนำไปพิจารณาถ้าเป็นประโยชน์ก็ปรับเปลี่ยนเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าที่อย่างที่มีการกล่าวอ้าง หากไม่ใช่เรื่องจริงหรือมีการกล่าวหาด้วยความอันเป็นเท็จก็เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องชี้แจงด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ตอบโต้ด้วยอารมณ์และอคติล้วนๆ
เหมือนอย่างกรณี ทักษิณ ชินวัตร ไปบรรยายที่สถาบันนโยบายโลก แสดงความเป็นห่วงหากกติกาไม่เป็นประชาธิปไตย ต่างชาติไม่ศรัทธาและจะไม่เข้ามาลงทุน แต่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศกลับไปตอบโต้ในทำนองว่าอย่าไปกัดกับหมาที่มากัดคน ผิดวิสัยอดีตนักการทูตที่ดีไปเสียฉิบ หรือว่านั่นจะเป็นเพราะคิดไปได้ไม่ไกลจึงมักง่าย เหมือนที่บทความของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เขียนไว้วันก่อน
อาจารย์อรรถจักร์ยกตัวอย่างว่า เราทุกคนน่าจะเคยพบเห็นและเผชิญกับความมักง่ายของผู้คนเต็มไปหมดทุกพื้นที่และทุกระดับ พื้นที่ทางการเมืองสำคัญมากระดับกำกับชีวิตทางสังคมของผู้คนยังถูกทำให้อยู่ภายใต้การกำกับของใครก็ไม่รู้ ดังที่เห็นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คณะผู้รับผิดชอบพื้นที่ทางเศรษฐกิจของชาติก็ออกมาแสดงวิสัยทัศน์แบบไร้พื้นฐานทางความรู้และข้อเท็จจริง
ถึงกับมองว่าการย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่นเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทย ทั้งที่ญี่ปุ่นเองยังกังวลเรื่องการย้ายฐานการผลิตซึ่งส่งผลถึงการจ้างงานและการเก็บภาษี แต่ก็อีกนั่นล่ะความมักง่ายระดับชาติ มีให้พบเห็นในทุกรัฐบาลอยู่แล้ว ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของความมักง่ายน่าจะสอดสัมพันธ์กับลักษณะของสังคมไทยที่เป็นสังคมสบายๆ ไม่เคร่งครัดอะไร มีอะไรก็หยวนๆ กันไป
แต่สังคมไทยวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก ทว่าคนไทยยังคงผลิตซ้ำและขยายความมักง่ายให้เพิ่มมากขึ้นในทุกมิติของชีวิต จนน่าสงสัยว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งและไพศาลนี้ ด้วยเหตุนี้อรรถจักร์จึงเสนอแนวความคิดว่าถ้าจะทำให้สังคมไทยทันกับความเปลี่ยนแปลงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีคิดทางประวัติศาสตร์
การใช้วิธีคิดทางประวัติศาสตร์จะผลักดันให้เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นก่อนและหลังปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ที่เราจะศึกษา ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจในเชิงกระบวนการหรือทั้งหมดของพลวัตในเรื่องนั้นๆ ได้ดีมากขึ้น ทุกอย่างล้วนมีความเป็นประวัติศาสตร์ทุกอย่างล้วนคลี่คลายมาจนถึงปัจจุบัน
เราไม่สามารถหยุดเวลาหรือปัญหาหนึ่งใดไว้เพียงแค่ในปัจจุบันกาล ไม่ว่าอารมณ์ความรู้สึก ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ความเป็นไทยและอื่นๆ อีกมากมาย การคิดไตร่ตรองอย่างเป็นประวัติศาสตร์จะเอื้อให้แก่การทำความเข้าใจสรรพสิ่งรอบตัวเราได้ ดีขึ้น และเชื่อได้ว่าการตัดสินใจของคนในสังคมก็จะมีคุณภาพมากขึ้นตามไปด้วย
การคิดแบบเป็นประวัติศาสตร์คือการคิดไปให้ไกล ทั้งการมองเข้าไปในอดีตและจินตนาการถึงภาพความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การคิดเช่นนี้จะลดทอนความมักง่ายของผู้คนในสังคมไทยลงไปได้อย่างแน่นอนสังคมไทยเผชิญปัญหาความมักง่ายมาเนิ่นนาน ถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันคิดและทำในทุกระดับและทุกระบบ
ถ้าเรารักสังคมไทยและปรารถนาให้สังคมไทยของเราน่าอยู่ขึ้น เราก็ต้องเรียกร้องต่อตัวเราและคนอื่นๆ ให้ใช้วิจารณญาณมากขึ้นและใช้ความมักง่ายให้น้อยลง คงต้องเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจจะมองอย่างรอบด้านและทำใจให้เป็นกลาง เป็นธรรม โยนทิ้งความมีอคติ เลิกนำตัวเองที่ประกาศปาวๆ ว่าเป็น “กรรมการ” แต่กลับกระโดดไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง หากยังทำแบบที่ว่านี้ไม่ได้ ให้ใช้วาทกรรมว่าขอเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านจะ 10 ปีหรือร้อยปีก็แก้ปัญหาไม่ได้