ว่าด้วยฟองสบู่ พลวัต 2016
ในยามที่โอกาสวิ่งแรงโดยที่มีพักบางวันเล็กน้อยไม่มีนัยสำคัญของดัชนีตลาดหุ้นไทย ทำท่าทะลุ 1,400 จุดในสัปดาห์นี้อย่างร้อนแรงเข้าข่ายร้อนที่สุดในเอเชีย มีคำถามที่แทรกขึ้นมาว่า ภาวะนี้เป็นฟองสบู่เล็กๆ ได้หรือยัง
วิษณุ โชลิตกุล
ในยามที่โอกาสวิ่งแรงโดยที่มีพักบางวันเล็กน้อยไม่มีนัยสำคัญของดัชนีตลาดหุ้นไทย ทำท่าทะลุ 1,400 จุดในสัปดาห์นี้อย่างร้อนแรงเข้าข่ายร้อนที่สุดในเอเชีย มีคำถามที่แทรกขึ้นมาว่า ภาวะนี้เป็นฟองสบู่เล็กๆ ได้หรือยัง
คำตอบมีหลากหลาย ขั้วนักวิเคราะห์ทุกสำนักในตลาดหุ้นไทยบอกว่า ต้องไปถึง 1,430 จุด เสียก่อนเพราะฟันด์โฟลว์ไหลเข้าแรงอย่างนี้ ยากจะหยุดได้ ไม่ใช่ฟองสบู่ แต่ลดความร้อนแรงไปชั่วคราว
ส่วนขั้วตรงข้าม คนนอกวงการที่ลงทุนและวิเคราะห์ภายนอก หรือไม่รู้เรื่องตลาดหุ้นวงในดีพอ จะบอกแบบเหมารวมว่า ตลาดหุ้นที่ขึ้นมาโดยสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ แต่อาศัยแค่สภาพคล่องที่ไม่มีขีดจำกัดจากมาตรการ QE ของหลายประเทศเพื่อเลี้ยงไข้ ยังไงหุ้นก็จะไปได้อีกไม่กี่น้ำ เพราะว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ได้ดีเป็นเงาตามตัว
เพียงแต่ปรากฏการณ์ที่ต่างชาติซื้อแผ่วลงและเปิดสัญญาขายล่วงหน้าแรงมากขึ้น กองทุนเริ่มขาย ขาใหญ่ระบายพอร์ต แต่แมงเม่ายังทยอยเข้าตลาดด้วยความกลัวต่ำลง ทำให้คำถามยังคงอยู่ในตลาดต่อไปจนกว่าจะรู้ผลลัพธ์ที่แท้จริง
ความจริงแล้ว โมเดลคิดว่าด้วยฟองสบู่ของตลาดหุ้น มีอยู่หลากหลาย และอาจจะต่างขั้วกันด้วยซ้ำ ดังนั้น ผู้รู้เรื่องตลาดหุ้นส่วนใหญ่จึงมักสรุปแบบ “แทงกั๊ก” ว่า ที่จริงในตลาดหุ้นที่เป็นฟองสบู่เกือบทุกครั้ง เราไม่รู้จริงหรอกว่ามันเป็นฟองสบู่ จนถึงวันที่มันแตกนั่นแหละที่เราถึงรู้ว่ามันคือฟองสบู่
เหตุผลก็เพราะ ค่าดัชนีต่างๆ มักจะส่งสัญญาณผิดเสมอตามหลัก “ความผิดพลาดของพลาโต” (เอาสถิติในอดีตมาคาดเดาอนาคตบนความเป็นไปได้) และมีข้อเท็จจริงเสริมว่า ทุกครั้งที่หุ้นขึ้นไปแรงมาก ก็มักจะมีเหตุผลรองรับเสมอและมันไม่ใช่เหตุผลของคนธรรมดา แต่เป็นเหตุผลของนักวิเคราะห์ชื่อดังและ “เซียนหุ้น” ทั้งหลาย
คำอธิบายที่ว่า ฟันด์โฟลว์ไหลเข้า หุ้นบลูชิพสำคัญราคาต่ำไป ตลาดต่างชาติเดินหน้าบวก และวิศวกรรมการเงินดันตลาด ฯลฯ ล้วนมีเหตุผลเพียงพอในระยะหนึ่งๆ เสมอ จะบอกว่าจอมปลอมคงไม่ได้ทั้งหมด
ตลาดหุ้นที่มีเหตุผลรองรับระยะสั้น กับเหตุผลระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง ล้วนมีประเด็นให้พิจารณาทั้งสิ้น
เริ่มกันที่ฟองสบู่ขาขึ้น มีคนให้ข้อสังเกต (อาจจะไม่ถูกทั้งหมด แต่ก็ใกล้เคียง) มีองค์ประกอบดังนี้
– เป็นช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงรากฐานของกลไกเศรษฐกิจหรือธุรกิจอย่างแรงเช่น การเปิดเสรีตลาดการเงิน หรือ โทรคมนาคม หรือไอที หรือพลังงานทางเลือก ที่ทำให้เกิดการคาดหวังเกินจริง
– ฟองสบู่จะเกิดขึ้นเมื่อสภาพคล่องตลาดเงินล้นเกินและดอกเบี้ยต่ำ แต่จะไม่เกิดถ้าตลาดเงินตึงตัวและดอกเบี้ยสูง
– กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยประสบกับเหตุการณ์ฟองสบู่แตกก่อนหน้ามาก่อน ไม่เคยประสบกับ หายนะของการลงทุน จึงมีความฮึกเหิมในการลงทุนที่สุ่มเสี่ยงกว่าปกติ เพราะขาดความรู้ในวิธีการลงทุนที่คำนึงถึงมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ หลงผิดว่าการลงทุนซื้อขายหุ้นเป็นสิ่งที่ง่ายและสามารถทำเงินได้รวดเร็วกว่าการทำงานปกติของตนเอง
สาเหตุดังกล่าว ยังไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะบอกว่าทิศทางขาขึ้นยามนี้ของตลาดหุ้นไทยมีฟองสบู่อยู่ด้วย จะพิจารณาเพียงแค่ว่า นักลงทุนรายย่อยที่ไร้เดียงสา ที่ซื้อหุ้นเพียงเพราะหุ้นมัน “กำลังจะขึ้น” คงไม่ได้ เพราะได้เห็นแล้ว่าสองสัปดาห์นี้ รายย่อยขายสุทธิทุกวัน
พฤติกรรมของรายย่อย (รวมทั้งเซียนหรือขาใหญ่ที่ถูกเรียกว่าเซียน) อย่างนี้ห่างไกลจากจารีตของพฤติกรรมในช่วงฟองสบู่ที่รายย่อยจะ “ไม่กลัวความเสี่ยง” ลิบลับ
คนที่ซื้อไม่ว่ากองทุน ต่างชาติ หรือพอร์ตโบรกเกอร์ล้วนไม่ใช่คนไร้เดียงสา แต่มากกว่ารู้เดียงสาด้วยซ้ำ
ยิ่งจะพิจารณากรณีเงินท่วมโลกแล้วเข้ามาในตลาดหุ้นทั่วโลก ยิ่งไม่สมเหตุผลเลย
ปีที่ผ่านมา ECB และธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้ QE และลดดอกเบี้ยมาจนติดลบ แต่ก็ไม่เห็นตลาดหุ้นจะวิ่งขึ้นยาวนานตามข้อสรุปของคนบางกลุ่ม
ที่สำคัญ ราคาหุ้นรายตัวที่ปรับขึ้นไปสูงกว่าพื้นฐานที่ควรเป็นในรอบล่าสุดนี้ มีไม่มากนัก และกระจุกตัวกันอยู่เฉพาะหุ้นบลูชิพไม่กี่กลุ่มเพราะเจ้ามือที่ทำการ “ลากหุ้น” รอบนี้ ไม่ใช่เซียนหรือ เสี่ยชื่อดัง แต่เป็นกองทุนในประเทศ พอร์ตโบรกเกอร์ และ ต่างชาติที่ลี้ภัยเข้ารอจังหวะถอนตัวช่วงเฟดฯขึ้นดอกเบี้ย (ถ้าจะขึ้น) ซึ่งหวังดันดัชนีเพื่อเล่นตลาดอนุพันธ์พร้อมไปด้วย ไม่ได้เป็นการซื้อแบบเหวี่ยงแห หรือซื้อหุ้นแบบ “ปาเป้า” ด้วยความไร้เดียงสา
ปรากฏการณ์อย่างนี้ ไม่เข้าข่ายฟองสบู่ของตลาดแต่อย่างใด หากจะมีการปรับฐานแรงๆ ก็เป็นไปตามสาเหตุปกติของตลาด
เพียงแต่หากมีการปรับฐานหลังจากขึ้นแรง ก็คงต้องลงแรงเป็นธรรมดา ซึ่งแม้จะไม่ถือเป็นจังหวะ “ฟองสบู่แตก” แต่ผลลัพธ์ก็คงไม่ต่างกันมากนัก คือมีคนเจ็บตัว และมีคนได้กำไรมากกว่าปกติชั่วคราว
หุ้นมีขึ้น ย่อมมีลง และ มีลง ก็ย่อมมีขึ้น เพียงแต่ในยามที่ตลาดผันผวนเพราะเศรษฐกิจโลกปีนี้ยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินฝืด และเงินท่วมตลาด อัตราความผันผวนของตลาด ก็เป็นสิ่งที่ต้องการเตรียมรับมืออย่างรู้ทันอย่างรู้เดียงสาทั้งพื้นฐาน และสัญญาณเทคนิคของตลาด