สถานการณ์ที่อึมครึมพลวัต 2016

นักวิเคราะห์หุ้นในสำนักโบรกเกอร์ต่างๆ ของไทย มีข้อสรุปตรงกันเหมือนนัดแนะว่า เงินทุนส่วนเกินจากยุโรป ที่มาจากมาตรการของธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB จะดันราคาหุ้นไทยให้วิ่งต่อขึ้นไปได้อีก การย่อยตัวไม่สามารถฝ่าแนวต้านขึ้นไปเหนือ 1,400 จุดเมื่อวานนี้ เป็นแค่การพักฐานระยะสั้น เพื่อลดความร้อนแรงธรรมดา โดยดูได้จากการซื้อสุทธิของต่างชาติเมื่อวานนี้เป็นตัวอย่างมากกว่า 2 พันล้านบาท และการซื้อล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์ เป็นทิศทางที่เลี่ยงไม่พ้นในระยะข้างหน้า


วิษณุ โชลิตกุล

 

นักวิเคราะห์หุ้นในสำนักโบรกเกอร์ต่างๆ ของไทย มีข้อสรุปตรงกันเหมือนนัดแนะว่า เงินทุนส่วนเกินจากยุโรป ที่มาจากมาตรการของธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB จะดันราคาหุ้นไทยให้วิ่งต่อขึ้นไปได้อีก การย่อยตัวไม่สามารถฝ่าแนวต้านขึ้นไปเหนือ 1,400 จุดเมื่อวานนี้ เป็นแค่การพักฐานระยะสั้น เพื่อลดความร้อนแรงธรรมดา โดยดูได้จากการซื้อสุทธิของต่างชาติเมื่อวานนี้เป็นตัวอย่างมากกว่า 2 พันล้านบาท และการซื้อล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์ เป็นทิศทางที่เลี่ยงไม่พ้นในระยะข้างหน้า

ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ นักเก็งกำไรในตลาดน้ำมัน พากันเริ่มเทขายออกมามากขึ้นชัดเจนเมื่อวานนี้ ทำให้ราคาหุน้พลังงานที่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดหุ้นสำคัญ เริ่มพบข้อจำกัดของการวิ่งมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่าข้อสรุปของนักวิเคราะห์จะน่าเชื่อถือแค่ไหน

สิ่งที่จะยืนยันว่า นักวิเคราะห์หุ้นถูกหรือผิด ไม่ได้อยู่ที่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การประชุมนายธนาคารกลางของโลก 3 แห่งสำคัญคือ ธนาคารกลางอังกฤษ เฟดฯของสหรัฐฯ และธนาคารกลางญี่ปุ่น สัปดาห์นี้ ว่าพวกเขามีมุมมองอย่างไรต่อทิศทางเศรษฐกิจ เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อการเก็งกำไรอย่างมีนัยสำคัญ

ธนาคารอังกฤษจะต้องพิจารณาว่าถึงเวลาขึ้นดอกเบี้ยระลอกใหม่หรือยัง เฟดฯของสหรัฐฯก็เช่นเดียวกัน  แต่ธนาคารญี่ปุ่นกลับมีอีกมุมมองหนึ่งว่าสมควรกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบอยู่แล้วอีกหรือเพิ่มวงเงิน QE ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้สดใสขึ้นหรือไม่

สัปดาห์ก่อน ECB ออกมาตรการ 3 ส่วน   ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มีนาคมนี้  ประกอบด้วย 1) ลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร สู่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์  2) ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB สู่ระดับ -0.4% จากเดิมที่ -0.3% เพื่อเร่งการปล่อยสินเชื่อสวนภาวะเงินฝืดที่การลงทุนหดหาย 3) เพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) สู่ระดับ 8 หมื่นล้านยูโร/เดือน

มาตรการดังกล่าว ตั้งความหวังว่าเงินที่อัดฉีดออกมานั้น จะไม่กลายเป็นเงินที่ท่วมตลาดเงินและตลาดทุน เพื่อให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นเกินจนเป็นฟองสบู่ แต่ต้องการให้แปลงสภาพเป็นเงินทุนเพื่อการลงทุนในภาคการผลิตและบริการให้เกิดการจ้างงานและส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นอย่างยั่งยืน

มาตรการของ ECB ดังกล่าว ได้รับการคาดหมายว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะทำตามในแนวทางเดียวกัน  เพราะทางเลือกในการไม่ยอมปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีก  แต่มุ่งเน้นไปในทางเร่งการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เหมือนกับธนาคารกลางยุโรป  เป็นการทำให้มาตรการทางการเงิน หนุนให้เกิดดุลยภาพใหม่ของตลาดที่การออมและการลงุทนมีค่าใกล้เคียงกัน เพื่อทำให้กำลังซื้อในตลาดสินค้าที่แท้จริงพิ่มสูงขึ้น ไม่กระจุกตัวในตลาดเก็งกำไรอย่างตลาดหุ้นหรือปริวรรตเงินตราอย่างเดียวที่ไม่เกิดการหมุนเวียนทั่วด้าน

ที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่า มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยจนติดลบที่กระทำมาเมื่อเดือนมกราคม ไม่ได้ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมมา และที่สำคัญ ยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคซึ่งเป็นผู้กุมชะตากรรมในการใช้จ่ายตัวจริงของครอบครัวคนญี่ปุ่น เพิ่มเติมขึ้นกี่มากน้อย ในขณะที่ความเชื่อมั่นโดยรวมของการบริโภค และการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ยังคงอ่อนแอและถดถอยต่อเนื่อง

หากเป็นเช่นนั้นจริง ความกังวลของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปที่ระบุว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมาตการทางการเงิน มักจะไม่ลงไปมีผลต่อภาคการผลิตที่แท้จริง และการจ้างงานที่มีปัญหา ถือเป็นการสวนทางกับตลาดการเก็งกำไรที่ยังไปได้ดี แสดงว่าเงินทุนส่วนเกินของสังคม ถูกนำไปปั่นราคาสร้างมูลค่าเทียมเพิ่มมากขึ้น และทำให้ผู้คนมีพฤติกรรมที่ดูเบาวิกฤติที่ย่างกรายเข้ามา

ในกรณีของเฟดฯ แม้จะได้รับการคาดหมายว่า จะยังไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากที่ขึ้นมาแล้วในเดือนธันวาคม แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการจ้างงานที่สม่ำเสมอต่อเนื่อง ทำให้เกิดแรงกดดันที่ตลาดกำลังมองว่า จะมีการส่งสัญญาณชัดเจนแค่ไหนในการขึ้นดอกเบี้ยระลอกใหม่ในการประชุมสัปดาห์นี้

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ของเฟดฯ ในวันที่ 15-16 มี.ค. ได้รับการคาดหมายว่าไม่น่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่อาจปรับเพิ่มในการประชุมครั้งหน้าในเดือนเม.ย. 59 ซึ่งตลาดเริ่มยอมรับการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะมีขึ้นในปีนี้ 3-4 ครั้ง

  สำหรับเมืองไทยเอง หากไม่นับการใช้จ่ายเงินในธุรกิจท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หลั่งไหลเข้ามามากมายแล้ว ภาพรวมของคนไทยต่อเศรษฐกิจเฉพาะหน้า และอนาคตยังคงขุ่นมัว ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ดีนัก

ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนกุถมภาพันธ์ ลดต่ำลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง มาที่ 44.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จาก 45.0 ในเดือนมกราคม โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ในผลสำรวจฯ รอบนี้ มีมุมมองในด้านลบมากขึ้นต่อภาวะตึงตัวระหว่างสภาพคล่องในกระเป๋ากับภาระหนี้สินและค่าใช้จ่าย

รายงานยังระบุอีกว่า ครัวเรือนมีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจเป็นเพราะแรงกดดันด้านรายได้ที่ยังไม่สม่ำเสมอ และ/หรือตารางค่าใช้จ่ายในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า ที่อาจต้องครอบคลุมรายการส่วนเพิ่มที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่หลายโรงเรียนทยอยเปิดภาคการศึกษาใหม่

สถานการณ์ขาดความเชื่อมั่นในอนาคตเช่นนี้ อาจะเป็นแค่อารมณ์พาไป ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่บรรยากาศทางการเมืองยามนี้ ที่มีความร้อนแรงหลังจากที่มีการเปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของร่างรัฐธรรมนูญออกมา ก็มีผลให้เกิดมุมมองต่ออนาคตของประเทศทางลบได้ง่ายมาก

บรรยากาศอึมครึมชั่วคราวขณะนี้ ไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นขาขึ้นเท่าใดนัก แต่ต้องรอดูผลลัพธ์อีกครั้ง ซึ่งคงอีกไม่นานเกินรอ

Back to top button