น้ำมันและฟันด์โฟลว์ลูบคมตลาดทุน

ราคาน้ำมันดิบก่อนหน้านี้ปรับลงไปต่ำสุดในรอบกว่า 11 ปี ที่ระดับ 27 เหรียญต่อบาร์เรล


ธนะชัย ณ นคร

 

ราคาน้ำมันดิบก่อนหน้านี้ปรับลงไปต่ำสุดในรอบกว่า 11 ปี ที่ระดับ 27 เหรียญต่อบาร์เรล

หลังจากนั้น ราคาก็ดีดกลับต่อเนื่อง กระทั่งมาอยู่ที่ 38-39 เหรียญต่อบาร์เรล ในส่วนของเวสต์เท็กซัส หรือ WTI

และของเบรนท์(BRENT)ขึ้นมาอยู่ที่ 40.30 เหรียญต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งนิวยอร์ก เอเชีย และประเทศไทย ดีดตัวขึ้นมา อย่างที่รับทราบกัน

หุ้นกลุ่มน้ำมัน หรือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันต่างปรับขึ้น มีนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรกันคึกคัก และดันดัชนีหุ้นไทยขึ้นมาต่อเนื่อง

หุ้นอย่าง PTT ที่ราคาลดลงต่ำกว่า 200 บาทเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็ฟื้นตัว

ตอนนี้มาอยู่แถวๆ 205-280 บาทต่อหุ้น

ส่วนลูกค้ารักของ PTT อย่าง PTTEP ที่ราคาเกือบจะหลุด 40 บาท ในช่วงเวลาเดียวกัน

ผ่านมาถึงตอนนี้ ราคาหุ้นขึ้นมาอยู่ 73–75 บาทต่อหุ้น หรือปรับขึ้นมาแล้วประมาณ 75% เลยนะ ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปของ PTTEP ฟื้นตัวมาอยู่ที่ 3.03 แสนล้านบาท

ดูจากนักวิเคราะห์ด้านน้ำมันของโลกกัน

สำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA ออกมาเตือนว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ฟื้นขึ้นมาเป็นเพียงระยะสั้น

หรือไม่ได้ปรับตัวแบบยั่งยืนในระยะยาว

ราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นมาจากความคาดหวังที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ต่างพยายามที่จะเจรจากันเพื่อปรับการผลิตน้ำมัน

การปรับการผลิตน้ำมันที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นการปรับลด

แต่เป็นเพียง “ไม่ให้เพิ่มกำลังการผลิต” เพราะกำลังผลิตในปัจจุบัน ยังมากกว่าความต้องการ

เดิมนั้นจะมีการหารือกันในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ที่ประเทศรัสเซีย

แต่ปรากฏว่า ประเทศอิหร่าน เขาไม่เออออห่อหมกด้วย คือ พวกเอ็งจะคุยอะไรกันก็คุยกันไป อย่างมายุ่งกับฉัน

และทำให้การหารือที่จะเกิดขึ้น ต้องเลื่อนไปโดยปริยาย และล่าสุดกำหนดวันกันขึ้นมาใหม่แล้ว อยู่ในช่วงของเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ที่กรุงโดฮา กาตาร์

อิหร่านนั้น เป็นอีกประเทศที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่

ในช่วงปลายก่อนหน้าถูกสหรัฐฯ และชาติมหาอำนาจทางตะวันตกคว่ำบาตรทางการค้า

และทำให้อิหร่านผลิตน้ำมันส่งออกไปขายต่างประเทศไม่ได้ สูญเสียรายได้มหาศาล

แต่เมื่อมาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิก ทำให้อิหร่านกลับมาผลิตน้ำมันได้ตามปกติ ก็เลยมีแผนที่จะส่งออกน้ำมันในปี 2559 พร้อมกับจะมีการผลิตเพื่อชดเชยกับที่สูญเสียไปในช่วงคว่ำบาตรด้วย

หากเป็นแบบนี้ราคาน้ำมันก็ดิ่งต่ออีกสิ

การเจรจาครั้งต่อไป แน่นอนว่า จึงต้องมีอิหร่านเข้ามาร่วมด้วย

ทว่า ล่าสุด เมื่อคืนนี้ นายบิจาน ซากาเนห์ รมว.น้ำมันอิหร่าน ตั้งเงื่อนไขว่า อิหร่านจะเข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือการจำกัดการผลิตน้ำมัน ก็ต่อเมื่อสามารถผลิตน้ำมันแตะระดับ 4 ล้านบาร์เรล/วัน

ปัจจุบัน อิหร่านนั้น มีกำลังการผลิตน้ำมันใกล้ๆ  2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

บรรดาประเทศต่างๆ ที่ค้าน้ำมันรายใหญ่ถึงกับหงายเงิบเลย

ความหวังพังทลาย!!

และราคาน้ำมันดิบในตลาดดิ่งลงอีกทันที

หากมองในด้านของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ประเทศอื่นๆ ก็พอจะเข้าใจได้เกี่ยวกับแผนการรักษาเสถียรภาพด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

แต่หากมองในมุมมองของอิหร่าน ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ประเทศเขาถูกคว่ำบาตรมานาน ก็ต้องหาเงินเข้าประเทศ

และน้ำมันก็คือรายได้หลักของอิหร่านเขา

หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ สิ่งที่ IEA คาดการณ์หรือออกมาเตือนก็เป็นจริงเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ดีดขึ้นยังไม่ยั่งยืน

ส่วนราคาหุ้นกลุ่มน้ำมันก็น่าจะได้รับผลกระทบไปด้วย และแสดงว่า การปรับขึ้นของตลาดหุ้นยังมีปัจจัยเสี่ยง

ส่วนการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้นั้น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ต่างก็มองเหมือนๆ กันว่า จะเข้ามาระยะสั้น มีการซื้อ และสลับกับการขายทำกำไร

ดัชนีหุ้นก็อาจปรับขึ้นๆ ลงๆ ไปแบบนี้

คำแนะนำก็คือ เล่นกันแบบเก็งกำไรไปก่อน

Back to top button