CTW พุ่งเกือบ 10% ตัวเต็งชิงงานกฟน.นำสายไฟลงดิน วงเงิน 4.87 หมื่นลบ.

CTW พุ่งเกือบ 10% ตัวเต็งชิงงานกฟน.นำสายไฟลงดิน วงเงินลงทุน 4.87 หมื่นลบ.ล่าสุด ณ เวลา 10.20 น.ราคาอยู่ที่ 8.85 บาท ปรับตัวขึ้น 0.75 บาท หรือ 9.26% มูลค่าซื้อขาย 8.4 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท จรุงไทยไวร์แอนด์เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน) หรือ CTW ณ เวลา 10.20 น.ราคาอยู่ที่ 8.85 บาท ปรับตัวขึ้น 0.75 บาท หรือ 9.26% มูลค่าซื้อขาย 8.4 ล้านบาท โดยราคาหุ้นเปิดตลาดที่ 8.35 บาท ระหว่างวันราคาสูงสุดที่ 9.05 บาท ต่ำสุดที่ 8.35 บาท

โดย CTW เป็นหนึ่งในบริษัทที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากกรณีการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประกาศเตรียมนำสายไฟฟ้าที่อยู่บนถนนสายหลักลงใต้ดิน ระยะที่ 1 รวม 127.3 กิโลเมตร ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 48,717 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (2559-2568)

ด้านนายนิพนธ์ จิรทวีวุฒิ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า กฟน.เตรียมนำสายไฟฟ้าที่อยู่บนถนนสายหลักลงใต้ดินตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะที่ 1 รวมทั้งสิ้น 127.3 กิโลเมตร กำหนดระยะเวลาดำเนินการปี 2559-2568 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 48,717 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะที่ 2 อีก 134.3 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 94,375 ล้านบาท คาดจะดำเนินการระหว่างปี 2565-2574 ซึ่งยังเหลือพื้นที่อีกกว่า 900 กิโลเมตรที่ต้องดำเนินการต่อไปตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าเดิม เว้นแต่ผู้ที่ขอใช้ไฟฟ้าใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าเป็นระดับแรงดันสูงตั้งแต่ 12,000 โวลต์ขึ้นไป รวมถึงผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีพื้นที่อยู่ในระยะ 50 เมตรจากขอบถนน

ดังนั้น จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ กฟน. เพื่อรับทราบข้อกำหนดมาตรฐานในการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อรองรับกับระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน โดยจะมีการคิดค่าบริการขอใช้ไฟฟ้าระดับแรงดันสูงเพิ่มเติมจากเดิม นับตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2559 เป็นต้นไป ซึ่งประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน 1130 ตลอด24 ชั่วโมง หรือดูรายละเอียด www.mea.or.th

นายนิพนธ์ กล่าวว่า กฟน.มีเป้าหมายนำสายส่งไฟฟ้าลงใต้ดิน 1,300 กิโลเมตร โดยทำเสร็จแล้ว 40.6 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 2,527 ล้านบาท ได้แก่ สีลม ปทุมวัน จิตรลดา พหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท ส่วนโครงการที่กำลังดำเนินการ 175 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 66,705 ล้านบาท ได้แก่ ส่วนเพิ่มเติมในพื้นที่จิตรลดา ปทุมวัน และพญาไท รวมทั้งนนทรี พระราม 3 รัชดาภิเษก-พระราม 9

สำหรับการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าลงใต้ดิน นอกจากจะสร้างความสวยงามแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้มากขึ้น เพราะมีสายไฟฟ้าในท่อมากขึ้น และยังช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นที่ 2 ในอาเซียน ของการเป็นประเทศที่มีคุณภาพไฟฟ้าดีสุด ซึ่งตั้งเป้าหมายจะทำให้ได้ในปี 2564 จากปัจจุบันอยู่อันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

อนึ่ง CTW เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของสายไฟและสายเคเบิ้ล และสายโทรคมนาคมในประเทศไทย บริษัทได้มีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ของสายไฟ และเคเบิ้ล

Back to top button