PTT เล็งนำเข้า LNG จากตลาดหลายๆที่หลังราคาต่ำ-หวังรัฐเร่งฟันธงสร้างคลังแห่ง 2

PTT เล็งนำเข้า LNG จากตลาดจรเพิ่มหลังราคาต่ำ-หวังรัฐเร่งฟันธงสร้างคลังแห่ง 2


นายปิติพันธ์ เทพปฏิมากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.อยู่ระหว่างทบทวนแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตามแผนที่จะมีการนำเข้าทั้งจากตลาดจร (spot) และตามสัญญาระยะยาว แต่เนื่องจากปัจจุบันราคา LNG ในตลาด spot นับว่าต่ำมากอยู่ที่ราว 4.6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ทำให้อาจมีการนำเข้าจาก spot เพิ่มขึ้นเพื่อเก็บก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในประเทศไว้ใช้ในอนาคต

ขณะที่บริษัทยังอยู่ระหว่างทบทวนสัญญาระยะยาวการนำเข้า LNG จาก Shell Eastern Trading (PTE) LTD และ บริษัท BP Singapore PTE. Limited ปริมาณรายละ 1 ล้านตัน/ปี เบื้องต้นจะใช้สูตรราคาอิงกับราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แตกต่างจากสัญญาระยะยาวนำเข้า LNG จากการ์ต้าก่อนหน้านี้ที่อิงกับราคาน้ำมัน ขณะที่สัญญาระยะยาวกับเชลล์และบีพีนั้นแบ่งเป็นการจัดหาจาก spot และสัญญาระยะยาวประเภทละ 50% จากเดิมเป็นการจัดหาจาก spot  30% และสัญญาระยะยาว 70% ซึ่งการจัดหาดังกล่าวจะอยู่ในช่วง 3-5 ปีก่อน และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีการเจรจาใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ปตท.ก็ยังคงเดินหน้าเพื่อจัดหา LNG ตามสัญญาระยะยาวเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน เพื่อรองรับการสร้าง LNG Receiving Terminal แห่งแรก ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต LNG เป็น 10 ล้านตัน/ปี จากเดิมที่ 5 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 60 จากปัจจุบันที่มีสัญญาระยะยาวกับการ์ต้าจำนวน 2 ล้านตัน/ปีเท่านั้น และอยู่ระหว่างจะทำสัญญาระยะยาวกับเชลล์ และบีพี

ล่าสุด ปตท.ให้ความสนใจนำเข้า LNG และเข้าร่วมลงทุนในแหล่ง LNG ของปิโตรนาสในมาเลเซียด้วย เนื่องจากมีแหล่งผลิตอยู่ใกล้กับอ่าวไทย ซึ่งก็เป็นโอกาสของ ปตท.ในการเข้าไปร่วมลงทุนในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ

โดย ปตท.ต้องการให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจก่อสร้างคลัง LNG แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปีในช่วงนี้ เนื่องจากมูลค่าก่อสร้างค่อนข้างถูก โดยเมื่อพิจารณาจากการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 5 ที่ประเมินมูลค่าราว 7 หมื่นล้านบาท ลดลง 30% จากที่ประเมินเบื้องต้นราว 1 แสนล้านบาท

ขณะที่เห็นว่าคลัง LNG แห่งใหม่ควรตั้งอยู่ใน จ.ระยอง เพราะเป็นแหล่งต้นทางในการรับก๊าซฯ จากการจัดหาที่มาจากหลายๆแหล่งทั้งการนำเข้า LNG และแหล่งก๊าซฯจากอ่าวไทย เพื่อที่จะได้ควบคุมคุณภาพก๊าซฯได้ก่อนจะจัดส่งให้กับลูกค้าผ่านทางระบบท่อที่ ปตท.ได้เตรียมก่อสร้างให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศ

รวมทั้งพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจนำเข้า LNG อย่างกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าร่วมลงทุน ซึ่งเห็นว่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการที่กฟผ.จะดำเนินการก่อสร้างคลัง LNG ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น

อนึ่ง กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษาการนำเข้า LNG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน กำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 62 โดยแผนศึกษานำเข้า LNG ดังกล่าว ทาง กฟผ. จะเป็นผู้ลงทุนเอง เบื้องต้นอาจเป็นคลังลอยน้ำ (Floating Storage & Regasification Unit:FSRU)  และลงทุนท่อก๊าซฯเพื่อส่งต่อมายังโรงไฟฟ้า คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯจะอยู่ที่ราว 500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้อนุมัติแผนการลงทุนคลัง LNG แห่งใหม่แต่อย่างใด โดยอยู่ระหว่างให้ศึกษาการลงทุนก่อนนำมาเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจต่อไป      

Back to top button