พาราสาวะถี อรชุน
ได้เห็นกันชัดเจนแล้วสำหรับข้อเสนอของคสช.ที่มีไปยังกรธ.จำนวน 6 หน้า ตัดเนื้อหาส่วนอารัมภบทและข้อสรุปส่งท้าย ขมวดปมได้ 3 เรื่องหลักได้แก่ เรื่องของส.ว.สรรหา ในเรื่องของตัวเลขเพิ่มจากจำนวนที่กรธ.กำหนด 200 คนเป็น 250 คน สัดส่วนตรงนี้น่าสนใจ พร้อมข้อความที่ว่า เพื่อให้สามารถรักษาสัดส่วนในการใช้อำนาจหน้าที่บางอย่างร่วมกับส.ส.จำนวน 500 คนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม
ได้เห็นกันชัดเจนแล้วสำหรับข้อเสนอของคสช.ที่มีไปยังกรธ.จำนวน 6 หน้า ตัดเนื้อหาส่วนอารัมภบทและข้อสรุปส่งท้าย ขมวดปมได้ 3 เรื่องหลักได้แก่ เรื่องของส.ว.สรรหา ในเรื่องของตัวเลขเพิ่มจากจำนวนที่กรธ.กำหนด 200 คนเป็น 250 คน สัดส่วนตรงนี้น่าสนใจ พร้อมข้อความที่ว่า เพื่อให้สามารถรักษาสัดส่วนในการใช้อำนาจหน้าที่บางอย่างร่วมกับส.ส.จำนวน 500 คนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม
แม้จะมีการยืนยันว่า ส.ว.ลากตั้งตามข้อเสนอดังกล่าวนั้นไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เหมือนเป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ รวมทั้งย้ำหนักแน่นเรื่องการไม่สืบทอดอำนาจ แม้กระทั่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ยังใช้คำยืนยันของคสช.ในเอกสารข้อเสนอดังกล่าว มาบอกกับนักข่าวว่า ขอทุกฝ่ายอย่ากังวล ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้เกิดการคว่ำรัฐธรรมนูญ เพราะคสช. ระบุชัดเจนว่า ไม่สืบทอดอำนาจ
มันจะง่ายดายอะไรขนาดนั้น แค่ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ถือว่าจบแล้วใช่ไหม ทั้งที่ในความเป็นจริงหากพิจารณาในเนื้อหาข้อเสนอของคสช.ในประเด็นส.ว.สรรหานั้น จะเห็นชัดเจนว่า แม้จะไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่สามารถร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและร่วมลงมติได้ นั่นเท่ากับว่า สามารถถอดถอนนายกฯหรือล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้
ยิ่งมองไปยังตัวเลข 250 เสียงซึ่งจะผ่านการเลือกจากคณะกรรมการจำนวนแค่ 8-10 คนอันไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแน่นอน บวกเข้ากับผู้นำเหล่าทัพที่จะต้องเป็นส.ว.โดยตำแหน่งแล้ว มันสะท้อนภาพของการอยู่ในอำนาจเพื่อค้ำยันอำนาจของคสช.อย่างต่อเนื่องนั่นเอง นั่นหมายความว่า โอกาสที่พรรคการเมืองซึ่งชนะการเลือกตั้งจะไม่ได้เป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลมีสูง
เพราะเสียง 250 เสียงของส.ว.ลากตั้งนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะไปจับมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่พร้อมจะร่วมมือกับผู้มีอำนาจที่แท้จริง ในการโหวตคนที่ถูกเลือกไว้แล้ว ตามข้อเสนอคสช.ให้กรธ.ยกเลิกการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องประกาศ 3 รายชื่อว่าที่นายกฯของพรรคออกไป เท่ากับเปิดช่องให้คนนอกที่ไม่ประสงค์จะทำให้ประชาชนตื่นตระหนกเข้ามาเป็นผู้นำประเทศได้โดยง่าย
เมื่อนำไปผูกโยงเข้ากับข้อเสนอที่ 2 เรื่องของการเลือกตั้งส.ส.ที่ให้ใช้บัตร 2 ใบแบ่งเป็นการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ จำนวน 500 คน แต่น่าสนใจและต้องขีดเส้นใต้กรณีส.ส.แบบแบ่งเขตที่เสนอให้มีส.ส.แบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ ซึ่งที่ผ่านมาการเลือกตั้งในลักษณะนี้ หมายความว่าในเขตเลือกตั้งหนึ่งจะมีส.ส.ได้ไม่เกิน 3 คนและประชาชนสามารถเลือกได้ตามจำนวนส.ส.ที่เขตนั้นจะพึงมี
แต่ข้อเสนอของคสช.กลับให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกส.ส.เขตได้เพียงคนเดียว ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากวิธีการที่กรธ.คิดไว้ ไม่ว่าจะออกมาในมุมไหนจะเป็นการทำลายฐานเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ เพื่อเปิดช่องให้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กมีโอกาสเก็บคะแนนได้เป็นส.ส. เมื่อรวมกันได้จำนวนมากพอก็สามารถไปสนับสนุนคนนอกคนนั้นได้อย่างสบาย
สรุปง่ายๆ คือ แม้ 250 เสียงส.ว.ลากตั้งเลือกนายกฯไม่ได้ แต่จะมีผลอย่างยิ่งยวดภายหลังจากที่มีการตั้งรัฐบาลไปแล้ว โดยหากเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้อยู่ในคอนโทรลของผู้มีอำนาจปัจจุบัน ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะถูก 250 เสียงไปจับมือกับพรรคนอมินีหรือพรรคที่ยอมศิโรราบกันอยู่แล้ว โค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้งได้โดยง่าย แต่ถ้าได้คนของตัวเองก็จะสบายไป
ในกรณีนี้ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. มองว่า เป็นการตบตาประชาชนเพราะถ้าฝ่ายค้านจับมือกับ ส.ว.แต่งตั้งแล้ว สามารถคว่ำได้ทุกรัฐบาล หากนายกฯไม่ได้เป็นคสช. แม้ส.ว.ไม่ได้ตั้งนายกรัฐมนตรี แต่มีอำนาจคว่ำได้ แล้วใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรัฐบาลได้ เพราะการอยู่หรือไปของรัฐบาลอยู่ที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้น เสียงส.ส.ไม่มีความหมาย เพราะส.ว.คว่ำนายกฯได้ทุกคนถ้าไม่ได้เป็นคสช.
สรุปว่า ถ้าในสภาพรรคจัดตั้งรัฐบาลได้เสียงเกิน 300 มาไม่มีความหมายใดๆ หรือได้เสียง 375 ก็ยังเท่ากันกับฝ่ายค้าน ต้องมี 376 เสียงจึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งหนักกว่าประเทศพม่าเสียอีก เพราะพม่าให้ตัวแทนกองทัพได้ 25% แต่ของไทยเล่นแต่งตั้งถึง 50% เช่นนี้แล้วจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างไร
ขณะที่ นิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาและสมาชิกสปท.มองว่า นี่เหมือนเป็นการยกเอาคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองหรือคปป.ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไปใส่ไว้ในรัฐสภา ให้ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด คอยกำกับ ควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การให้มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ทำให้ส.ว.มีอำนาจสูงมาก สามารถถอดถอนครม.ได้ทั้งคณะ
ส่วนระบบเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตจะทำให้พรรคใหญ่เกิดปัญหา ไม่รู้จะจัดคนลงสมัครอย่างไร การหาเสียงจะทำได้ยาก ไม่รู้จะช่วยใครหาเสียง จนอาจไปสู่การทะเลาะกันเองในพรรค จนถึงขั้นทำให้พรรคแตกได้ ผลคะแนนที่ออกมามันจะดูดไปที่ผู้ชนะอันดับหนึ่งคนเดียว ส่วนคะแนนที่เหลือจะเอื้อให้ถูกแทรกและแซมไปยังพรรคเล็ก
สำหรับข้อเสนอเรื่องนายกฯนั้น ในมุมมองของนิกรเห็นว่าจะเกิดการล็อบบี้นายกรัฐมนตรีกันในสภา นำไปสู่การเกิดความขัดแย้งทางการเมืองได้อีก ทั้งหมดนี้ จะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก ด้านกรธ.เองก็เชื่อว่า จะตอบสนองปรับแก้ตามข้อเสนอเกือบทั้งหมด ส่วนไหนที่ไม่ตอบสนองก็คงจะมีคำอธิบายตามมา
ด้าน นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ซัดข้อเสนอของคสช.ปาหี่หลอกลวง คุมเสียงเบ็ดเสร็จ ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ไม่มีความหมาย รัฐบาลจะกลายเป็นเด็กดีของส.ว.ทันที โดยที่ความเห็นอย่างหนึ่งของนิพิฏฐ์ซึ่งก็น่าจะสอดรับกับฝ่ายการเมืองหลายๆ รายนั่นก็คือ ผู้มีอำนาจอยากจะอยู่ยาวๆ ก็อยู่ไป แต่อย่ามาออกรัฐธรรมนูญแบบนี้เพราะมันขายขี้หน้าเขา แต่ไม่รู้ว่าถึงขั้นต้องอายพม่าด้วยหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม ที่ยังมีบางคนมองโลกในแง่ดีว่ามีชัยน่าจะปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวของคสช.นั้น อยากให้ลองย้อนกลับไปยังรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่สำคัญที่สุดคือรัฐธรรมนูญปี 2534 แล้วนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเห็นเนื้อแท้ว่า เนื้อหาไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันแม้แต่น้อย นั่นหมายความว่า ไม่จำเป็นที่คสช.จะต้องเสนออะไร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็จัดให้อยู่แล้ว