SENA ทุ่มงบ 3.5 พันลบ.เพิ่มผลิตโซลาร์-เล็งส่ง”เสนา โซลาร์ฯ”เข้าตลาดฯปี 60
SENA ทุ่มงบ 3.5 พันลบ.เพิ่มผลิตโซลาร์-เล็งส่ง"เสนา โซลาร์ฯ"เข้าตลาดฯปี 60
นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทคาดจะใช้เงินลงทุนอีก 3.5 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ครบ 100 เมกะวัตต์ (MW) ภายใน 3 ปี (ปี 59-61) จากปัจจุบันที่มีกว่า 30 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้จากธุรกิจโซลาร์เพิ่มเป็น 300-400 ล้านบาท/ปี จากปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ราว 200 ล้านบาท และรับรู้เป็นกำไรกว่า 10%
ขณะที่เตรียมนำหุ้นบริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นได้อย่างเร็วในปี 60 เพื่อรองรับการขยายงานในธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มโซลาร์รูฟท็อปที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ขณะที่การขยายงานโซลาร์ฟาร์มยังมีข้อจำกัด และยังจะเป็นการแยกธุรกิจระหว่างอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินการโดย SENA และพลังงานให้มีความชัดเจนด้วย
นางเกษรา กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจโซลาร์ของ SENA มีการผลิตโซลาร์ฟาร์มในนามบริษัทร่วมทุนกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ในสัดส่วน 51% เพื่อทำโซลาร์ฟาร์ม 46.5 เมกะวัตต์ ปัจจุบันเดินเครื่องผลิตแล้ว ซึ่งจะรับรู้รายได้และกำไรเต็มปีในปีนี้ตามสัดส่วนการร่วมลงทุนที่มีกว่า 23 เมกะวัตต์, การผลิตโซลาร์รูฟท็อปขายไฟให้กับภาครัฐ 750 กิโลวัตต์บนหลังคาโกดังสุขุมวิท 50 ที่ดำเนินการโดยบริษัททั้ง 100% และธุรกิจให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน,อาคาร ,สำนักงาน และโรงงาน รวมถึงงานบริการหลังการขาย ซึ่งเป็นการถือหุ้น 51% ภายใต้บริษัท เอท โซลาร์ จำกัด
ปัจจุบันธุรกิจของเอท โซลาร์ มีงานในมืออีก 4 โครงการในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 700-800 กิโลวัตต์ มูลค่าราว 28 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีนี้ โครงการเหล่านี้ให้ผลตอบแทนการลงทุน (IRR) กว่า 10% และยังอยู่ระหว่างการเจรจางานอีกหลายโครงการ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป
สำหรับการขยายงานเพื่อให้มีกำลังการผลิตและการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ใน 3 ปีนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานภายในประเทศ ขณะที่การศึกษาลงทุนพลังงานทดแทนในญี่ปุ่นต้องชะลอออกไปในช่วงนี้ เพราะมองโอกาสขยายงานในประเทศมีมากกว่า และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยเฉพาะในช่วงนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับงานโซลาร์รูฟท็อปเป็นอันดับต้นเมื่อเทียบกับงานโซลาร์ฟาร์ม
แม้บริษัทจะได้เข้าร่วมยื่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ระยะที่ 1 จำนวน 4 โครงการ รวม 20 เมกะวัตต์ก็ตาม แต่เบื้องต้นมองว่าโอกาสที่จะผ่านการคัดเลือกยังมีข้อจำกัด หลังโครงการที่ร่วมกับสหกรณ์นั้นไม่มีวัตถุประสงค์ตรงกับคุณสมบัติของโครงการ ขณะที่โครงการที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาจยังติดขัดเรื่อง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการปลดล็อกเพื่อเอื้อต่อการดำเนินการ แต่ก็มองว่าน่าจะยังมีความล่าช้าค่อนข้างมาก
นางเกษรา กล่าวว่า ขณะที่การขยายในส่วนของโซลาร์รูฟท็อปมีมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลอนุมัติโครงการนำร่องเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาจำนวน 100 เมกะวัตต์ แม้จะไม่ได้เป็นโครงการเพื่อเสนอขายไฟฟ้าออกมาสู่ระบบก็ตาม แต่ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเปิดให้มีการขายไฟฟ้าออกมาสู่ระบบในอนาคต ซึ่งบริษัทก็จะให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการนำร่องดังกล่าวด้วย ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาของโครงการบ้านของ SENA เพื่อใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในช่วงกลางวันอยู่แล้ว
นางเกษรา กล่าวว่า งบลงทุนในธุรกิจโซลาร์ปีนี้จะอยู่ที่ราว 500 ล้านบาท ทั้งลงทุนในโซลาร์ฟาร์ม, โซลาร์รูฟท็อป และงานรับเหมา (EPC) ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยปัจจุบันรายได้ของ SENA มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 80%, รายได้ประจำจากคอมมูนิตี้ มอลล์ ,โกดัง และสนามกอล์ฟ ราว 10% และรายได้จากธุรกิจโซลาร์ 10%
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเปิดขาย 2 โครงการใหม่ ด้วยแนวคิด “SENA Solar Smart Village” ที่ถนนบรมราชชนนี-สาย 5 และรามอินทรา ซึ่งยอดขายในช่วงที่ผ่านมานับว่าทำได้ดีและได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก