เสือกระดาษแผลงฤทธิ์ แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ใครที่พูดว่า ผู้บริหาร ก.ล.ต. ไม่รู้จักทฤษฎีเกม แสดงว่า รู้จักกันน้อยไป และประเมินต่ำไป
ใครที่พูดว่า ผู้บริหาร ก.ล.ต. ไม่รู้จักทฤษฎีเกม แสดงว่า รู้จักกันน้อยไป และประเมินต่ำไป
ประกาศล่าสุด ออกมาเป็นชุดเหมือนมาตามนัด แม้จะแยกประกาศคนละฉบับ (ถือว่าไม่บังเอิญ) เรื่องคำสั่งลงโทษกรรมการ ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องที่ทำผิดต่างกรรมต่างวาระ 5 บริษัทมหาชนจดทะเบียน ด้วย 3 ข้อหาที่ไม่เชื่อมโยงกัน ซึ่งทำให้คนอาจเข้าใจมั่วๆ ได้ว่า กระทำความผิดคล้ายๆ กัน…ทั้งที่ไม่ใช่
คำสั่งลงดาบดังกล่าว ทำให้ภาพลักษณ์ ก.ล.ต.ดูดีขึ้นเยอะ ไม่ใช่ “เสือกระดาษ” อีกต่อไป ด้านหนึ่ง มีคนที่มีชื่อ รู้จักกันดีปะปนอยู่ด้วย ได้ภาพลักษณ์ที่แสดงว่าไม่เลือกปฏิบัติ อีกด้านหนึ่ง เป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” เพื่อเตือนผู้บริหารอื่นๆให้ระวังในอนาคต
เหยื่อของก.ล.ต.รอบนี้ น่าสนใจเพราะประกอบด้วยคนและข้อหาต่างกันไป
– นายชัย โสภณพนิช กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI ถูกข้อหา “กระซิบ” ข้อมูลเรื่องการจ่ายหุ้นปันผลพิเศษในสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นปันผล ให้คนอื่นรับทราบ ทำให้คนผู้นั้นเข้าซื้อหุ้น BKI (ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นนอมินี) ก่อนที่ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นข้อหา อินไซเดอร์เทรดดิ้ง ตามมาตรา 241 จึงถูกห้ามเป็นกรรมการ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิตจำกัด (มหาชน) หรือ BLA ซึ่งมีใบอนุญาตนายหน้าค้าหรือจำหน่ายกองทุนรวม นาน 3 ปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2559 และปรับเป็นเงิน 5 แสนบาท (แต่ไม่ถูกห้ามเป็นกรรมการ BKI) แม้จะระบุว่า ผลประโยชน์ที่นายชัยได้รับนั้นมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าเปรียบเทียบปรับขั้นต่ำ 5 แสนบาท
– นายสมยศ อนันตประยูร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท ดับเบิลยู เอช เอ จำกัด (มหาชน) หรือ WHA จากการแพร่ข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2557 ว่า WHA กำลังอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งที่มีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท เป็นบริษัทที่มีค่า P/E ประมาณ 10 เท่า มีอายุมากกว่า 20 ปี และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกับ WHA ( บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) หรือ HEMRAJ) ถือเป็น “ปากสว่าง” ให้ข่าวสารชี้นำราคา โดยที่มิได้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯก่อน และมีสาระสำคัญที่อันอาจส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์ WHA ผิดมาตรา 239 ถูกลงโทษปรับจากจากคณะกรรมการเปรียบเทียบเป็นเงิน 5 แสนบาท
– นายพิเชษฐ์ บุญยภักดี อดีตกรรมการ กรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ สายงานบัญชีและการเงินของ บริษัท เอ็มลิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ MLINK (ปัจจุบันคือ FER) เป็นหนึ่งในคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อมูลและหาแนวทางปรับปรุงสถานะทางการเงินและโครงสร้างส่วนทุนของ MLINK ขณะนั้น(3 พฤศจิกายน 2557) ด้วยข้อหา “ให้ข้อมูลเท็จต่อสื่อ” จากการที่ออกมาปฏิเสธข่าวการเพิ่มทุนที่ลงในหนังสือพิมพ์ไปแล้วว่าไม่จริง แต่ท้ายสุดก็ประกาศเพิ่มทุน โดยที่นายพิเชษฐ์ ถูกลงโทษปรับเป็นเงิน 5 แสนบาท
– นายวิทูร สุริยวนากุล ได้อาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น บริษัท โกลบอล เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL จำนวน 8,022,881 หุ้น และ GLOBAL-W จำนวน 3,500,700 หน่วย ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-23 สิงหาคม 2555 ในระหว่างที่ GLOBAL ได้ถูกซื้อ บริษัท เอสซีจี ดีสทริบิวชั่น จำกัด (SCG) บริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ติดต่อซื้อหุ้น 30% โดยทำการผ่านบัญชีบุคคลใกล้ชิดอื่นหลายบัญชี และได้รับความช่วยเหลือจากลูกๆคือ นางสาวกุณฑี สุริยวนากุล นายอภิลาศ สุริยวนากุล และนายเกรียงไกร สุริยวนากุล ให้มีการซื้อและชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ เข้าข่ายอินไซเดอร์ เทรดดิ้ง ตามมาตรา 24 จึงลงโทษ นายวิทูร ด้วยการปรับเป็นเงินสด 24,322,064.40 บาท และปรับ นางสาวกุณฑี นายอภิลาศ และนายเกรียงไกรในฐานะผู้สนับสนุน เป็นเงินรายละ 333,333.33 บาท เป็นเงินรวม 25,322,064.39 ล้านบาท
– นายสุรศักดิ์ จันโทริ กรรมการอิสระ GLOBAL และ นายเอกกมล จันโทริ ไม่ถูกลงโทษปรับ แต่ส่งเรื่องกล่าวโทษต่อ DSI จากกรณีพบ นายเอกกมล ซื้อหุ้น 75,000 หุ้นของ GLOBAL วันที่ 22 สิงหาคม 2555 เพราะพบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า ล่วงรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าร่วมทุนดังกล่าว
– นายสมชาย ชัยศรีชวาลา ได้รู้เห็นหรือตกลงร่วมกับ นางสาวชนินันท์ เหลืองเวคิน ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองและของบุคคลอื่นซื้อขายหุ้น บริษัท เอเชีย เมททัล จำกัด (มหาชน) หรือ AMC ระหว่างวันที่ 13 กันยายน ถึง 16 พฤศจิกายน 2549 ในลักษณะอำพรางเพื่อให้บุคคลทั่วไปหลงผิดไปว่า หุ้น AMC มีการซื้อขายกันมาก และราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไป และซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน (สรุปสั้นๆ คือ สร้างราคา หรือ ปั่นหุ้น) ทำให้การซื้อหรือขายหุ้น AMC ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ถูกลงโทษปรับ 5 แสนบาท
หางว่าวยาวเหยียด ด้วยข้อหาต่างกัน ต่างวาระ และต่างบริษัท อาจจะทำให้มีเสียงสรรเสริญ ก.ล.ต.ว่าเอาจริงเสียทีนั้น แต่…ว่าไปแล้ว มีเพียง 2กรณี และ 3 บุคคล เท่านั้นที่ถูกลงโทษมากกว่าการปรับ คือกรณีของนายชัย โสภณพนิช นายสุรศักดิ์ จันโทริ และ นายเอกกมล จันโทริ เท่านั้น
ที่เหลือเกือบหมด “จ่ายค่าปรับ แล้วจบ” ตามสูตร รับสารภาพ จ่ายค่าปรับ … ลอยนวลเบ็ดเสร็จ
ธรรมาภิบาล แบบมีเงื่อนไข ของก.ล.ต.นี้ ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ทำตามหน้าที่อันพึงกระทำอย่างนี้ ได้แต่ปรบมือตามปกติ แต่ก็ยังคาดหวังว่า จะไม่มีกรณี “ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น” ให้ปรากฏอีก ก็แล้วกัน…อิ อิ อิ