ฟองสบู่อันทรงเกียรติ พลวัต 2016
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน โจว เซี่ยว ฉวน ออกมาเตือนว่า ยอดหนี้ในระบบการเงินของจีนที่สูงถึง 160% ของจีดีพี ต้องหามาตรการที่เหมาะสมมากำกับดูแลไม่ให้สูงเกินระดับน่าสุ่มเสี่ยง แต่เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้วิ่งบวกแรงจนดัชนีตลาดสามารถปิดระดับเหนือ 3,000 จุดได้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 เดือน นับแต่ปลายเดือนธันวาคมเป็นต้นมา เพราะเหตุว่า CSFC บริษัทปล่อยสินเชื่อสำหรับเล่นหุ้นมาร์จิ้นของรัฐ มีมติว่าจะปล่อยเงินกู้ซื้อหุ้นแก่โบรกเกอร์เพิ่มขึ้น สำหรับบัญชีมาร์จิ้น 7-180 วัน
วิษณุ โชลิตกุล
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน โจว เซี่ยว ฉวน ออกมาเตือนว่า ยอดหนี้ในระบบการเงินของจีนที่สูงถึง 160% ของจีดีพี ต้องหามาตรการที่เหมาะสมมากำกับดูแลไม่ให้สูงเกินระดับน่าสุ่มเสี่ยง แต่เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้วิ่งบวกแรงจนดัชนีตลาดสามารถปิดระดับเหนือ 3,000 จุดได้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 เดือน นับแต่ปลายเดือนธันวาคมเป็นต้นมา เพราะเหตุว่า CSFC บริษัทปล่อยสินเชื่อสำหรับเล่นหุ้นมาร์จิ้นของรัฐ มีมติว่าจะปล่อยเงินกู้ซื้อหุ้นแก่โบรกเกอร์เพิ่มขึ้น สำหรับบัญชีมาร์จิ้น 7-180 วัน
แม้วงเงินที่ CSFC จะปล่อยให้กับบริษัทหลักทรัพย์จะไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมา แต่ราคาหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ก็พากันวิ่งแรงนำหน้าตลาดเมื่อวานแรงสุดๆ และคาดว่าจะแรงต่อไปตลอดทั้งสัปดาห์
เจตนาของการดันราคาหุ้นด้วยมาตรการรัฐของจีน ยังดำเนินต่อไป เพราะทางการจีน (โดยผู้ควบคุมกฎของตลาดหุ้น) ร่วมกันมีจิตสำนึก ไม่กลัวหุ้นขึ้น แต่กลัวหุ้นลง ไม่เหมือนผู้กำกับดูแลในชาติด้อยพัฒนาที่อวดทะลึ่งกลัวหุ้นขึ้น มากกว่าหุ้นลง เนื่องจากเป็นโรคหวาดผวา “ฟองสบู่ตลาด” ขึ้นสมอง
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการคาดเดาใหม่ว่า จีนกำลังต้องการให้ดัชนีตลาดเซี่ยงไฮ้วิ่งขึ้นไปที่ระดับ 3,500 จุด ก่อนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ตลาดหุ้นจีนนั้น เป็นหน้าต่างของความสำเร็จทางเศรษฐกิจยุคปรับดุลยภาพ กล่าวคือ มีฟองสบู่และความผันผวนที่ควบคุมได้ หลังจากปล่อยให้เสียวสยองเมื่อปีที่ผ่านมา
เป้าหมายคือ ปูทางให้กับการระดมทุนของบรรดาบริษัทจีนจำนวนมากที่ยังอยู่นอกตลาดและต้องการระดมทุนอีกมหาศาลนั่นเอง
การยอมให้เกิดภาวะฟองสบู่ในระดับที่ควบคุมได้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของทางการจีนที่กำลังบริหารเศรษฐกิจอันซับซ้อนอยู่ ยากที่ชาติอื่นจะเข้าใจได้ง่าย
ความไม่กลัวฟองสบู่เศรษฐกิจของทางการจีนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับตลาดหุ้นหรือตลาดเงินเท่านั้น หากยังแผ่กระจายไปถึงตลาดธุรกิจอื่นๆ ด้วย
ตัวอย่างที่โดดเด่นยามนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เคยซบเซามานาน 2 ปีของจีน กำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งอย่างโดดเด่น และเริ่มชัดเจนในเดือนนี้ โดยที่การฟื้นตัวระลอกนี้ เกิดขึ้นโดยเจตนาของทางการจีน ผสมเข้ากับภาวะความต้องการของผู้บริโภคพอดี
ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ราคาบ้านใหม่โต 3.6% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในเขตมหานครใหญ่ 47 แห่งของจีน ได้พุ่งสูงมากที่สุดในรอบ 2 ปี โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาพุ่งขึ้นไปถึง 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ตัวเลขลดลงมากสุดในรอบ 1 ปี โดยที่ตัวเลขยอดขายที่ถูกบันทึกแล้ว สูงขึ้นในเดือนเดียวกันในระดับ 3% มากกว่าอัตราเพิ่มเฉลี่ยทั้งปีของปีที่แล้วที่ระดับแค่ 1%
ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเซินเจิ้น ซึ่งราคาอสังหาริมทรัพย์ขึ้นแรงเหมือนฟองสบู่ พุ่งสูงถึง 56.9% มากกว่าเมืองใหญ่อื่นๆ ในขณะที่เซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้น 20.6% และปักกิ่งเพิ่มขึ้น 12.9%
การฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์ในจีนรอบนี้ เกิดจากมาตรการทางการเงินในเดือนกุมภาพันธ์ของธนาคารกลางจีน ที่ตัดลดอัตราเงินดาวน์อสังหาริมทรัพย์ขั้นต่ำให้ผู้ซื้อบ้านหลังแรก จาก 25% ลงเหลือ 20% ซึ่งถือเป็นอัตราต่ำสุดเท่าที่จีนเคยลดลงมา และลดอัตราเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่สองจากระดับ 40% มาอยู่ที่เงินดาวน์ขั้นต่ำ 30%
ผลของการกลับแบบ 180 องศาของมาตรการทางการเงินจีน ที่สวนทางกับการเข้มงวดรุนแรงเมื่อ 3 ปีก่อน ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ และไม่จำเป็นต้องมีประกาศเป็นทางการ แต่เข้าใจกันในฐานะส่วนหนึ่งของการปรับดุลยภาพเศรษฐกิจ
การผ่อนคลายทางการเงินให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีเหตุผลที่ “ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว” คือ 1) ป้องกันทุนไหลออก เพราะราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในจีน จะช่วยป้องกันการไหลของทุนในประเทศไปยังต่างประเทศได้ชะงัดที่สุด แถมอาจยังจะทำให้ทุนไหลเข้ามาเพิ่ม 2) ดูดซับเงินที่เคยไหลจากความเข้มงวดอสังหาริมทรัพย์แล้วมาสร้างปัญหา “จีนตื่นหุ้น” จนเกิดฟองสบู่เมื่อปีก่อนลงไปได้พอสมควร 3) สร้างกำลังซื้อระลอกใหม่ให้กับตลาด เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจว่าจะไม่มีภาวะ ฮาร์ด แลนดิ้ง อย่างที่นักวิเคราะห์ตะวันตกคาดเดา
มาตรการผ่อนคลายอสังหาริมทรัพย์นี้ ถือเป็นการกระตุ้นภาคธุรกิจให้กลับมาคึกคักอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา มาตรการคุมเข้มอสังหาริมทรัพย์ทั้งทางการเงินและของรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้เกิด “ฟองสบู่แตก” จากการที่อสังหาริมทรัพย์ในเมืองเล็กๆ ที่ขายไม่ออกจำนวนมาก
ผลพวงจากการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหม่ในเวลาแค่เพียง 2 เดือนเศษนี้ ได้ทำให้ธุรกิจเหล็กก่อสร้างสารพัดในจีนที่เคยส่งออกไปทุ่มตลาดทั่วโลกปีละนับ 100 ล้านตัน เริ่มหายใจคล่องคอมากขึ้น เพราะอุปสงค์ในประเทศ ผลักดันให้สต๊อกคงค้างลด และราคาเริ่มขยับขึ้น
ข้อเท็จจริงที่ว่า โครงการเมกะโปรเจ็กต์ด้านสาธารณูปโภคของรัฐ และ ก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนในการใช้เหล็กในจีนมากถึง 50% ของผลผลิตรวม ทำให้เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มขยับเป็นขาขึ้น ราคาเหล็กจะหยุดดิ่งเหวและเริ่มมองหาขาขึ้นแทน
เมื่อวานนี้ ราคาสินแร่เหล็กทั่วโลกซึ่งมีตลาดส่งออกมายังในจีน พุ่งขึ้นแรงถึงระดับ 60 ดอลลาร์ต่อตันเป็นครั้งแรกในรอบปี จากพักฐานราคามาระยะหนึ่ง หลังจากที่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาได้วิ่งขึ้นมากถึง 19% และคาดว่าตลอดไตรมาสแรกของปีนี้ จะพุ่งขึ้นเทียบกับช่วงสิ้นปีก่อน 35% (อาจจะมากกว่านั้น หากว่าค่าดอลลาร์สหรัฐอ่อนลง และการจัดส่งจากแหล่งเหมืองแร่เหล็กต้นทางล่าช้า)
ขาขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์อย่างสินแร่เหล็ก ทำให้เริ่มเห็นได้ชัดว่า จีนไม่ได้กลัวว่าจะมีฟองสบู่ในบางภาคของธุรกิจได้ เพียงแต่ต้องการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ยอมรับและควบคุมได้เท่านั้น และทำให้เข้าใจเพิ่มเติมว่า ผู้นำรัฐจีนยามนี้ เข้าใจธรรมชาติของทุนนิยมได้ถ่องแท้และชัดเจนยิ่งกว่าผู้นำรัฐทุนนิยมหลายประเทศ
บางทีผู้นำรัฐจีน อาจจะมองเห็นฟองสบู่เศรษฐกิจบางภาคส่วนของตน เป็นฟองสบู่อันทรงเกียรติด้วยซ้ำ เพียงแต่พวกเขาไม่พูดออกมาเท่านั้นเอง