JAS เกมโอเว่อร์ ลูบคมตลาดทุน
ตลอดอาทิตย์ก่อนหน้า นักวิเคราะห์หลายคนยังมั่นใจว่า JAS จะมาจ่ายเงินค่า 4G คลื่นความถี่ 900 MHz
ตลอดอาทิตย์ก่อนหน้า นักวิเคราะห์หลายคนยังมั่นใจว่า JAS จะมาจ่ายเงินค่า 4G คลื่นความถี่ 900 MHz
บรรดาที่ปรึกษาทางการเงินหลายคนก็มั่นใจเช่นนั้น
นั่นเพราะพวกเขาต่างเชื่อมั่นในตัวของ “กลุ่มโพธารามิก”
กลุ่มโพธารามิกทั้ง“อดิศัย โพธารามิก” ที่เป็นถึงอดีตรัฐมนตรี พาณิชย์ และนักธุรกิจที่คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมานานมาก ซึ่งไม่น่าจะทำอะไรที่ให้ตนเองเสียชื่อ
รวมถึง “พิชญ์ โพธารามิก” ที่มีสไตล์การทำงาน และมีความเชื่อมั่น เป็นนักต่อสู้แบบ“ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น”
เท่านั้นยังไม่พอ
เพราะ JAS และกลุ่มโพธารามิก ก็ยังมี “มาชานลี” หรือ คุณชาญ บูลกุล ที่เดินทางด้วยกันมานานด้วย
ประวัติมาชานลี เป็นอย่างไร คนในวงการตลาดเงิน – ตลาดทุนน่าจะพอทราบกันดี และผมก็เคยนำมาเขียนในคอลัมน์นี้แบบคร่าวๆ ไว้บ้างแล้ว
แต่สำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่นั้น อาจยังไม่รู้จักมากนัก
มาชานลี เป็นเซียนรุ่นแรกของวงการตลาดหุ้นไทย
และเป็นบุคคลที่ก้าวขึ้นมาในยุคของ “ราชาเงินทุน” และเป็นนักวางแผนทางการเงินชั้นเยี่ยม แบบเซียนเหยียบเมฆกระทั่งมาเปิดบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินอย่าง “บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป” ในภายหลัง
ด้วยประวัติการเป็นยอดฝีมือ ทำให้ใครหลายคนต่างประเมินว่า ไพ่ที่อยู่ในมือของ JAS และมาชานลี น่าจะสวย
และพร้อมจะตีออกมาแบบผู้ชนะได้
และนั่นทำให้ทุกคนคิดแบบ 3 มิติ คิดหลายชั้น น่าจะมีมันนี่เกม มีวิศวกรรมการเงินแน่นอน ไม่มีใครคิดแบบซิงเกิ้ลหรือชั้นเดียวเลย
ส่วนตัวนั้น ไม่รู้ว่าเรื่อง 4G เป็นเกมธุรกิจที่พลาดของกลุ่มโพธารามิก และมาชานลีหรือไม่
แต่ก็เชื่อว่าพวกเขาได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว
และ 4G กับ JAS ก็น่าจะจบลงไปแล้ว พร้อมกับหลายคำถามที่ยังค้างคาอยู่
นับต่อจากนี้ หาก JAS ไม่ได้เดินเกมเกี่ยวกับ 4G ต่อ พวกเขาก็ต้องกลับไปทำธุรกิจเดิมให้เติบใหญ่ต่อไป โดยทิ้งความเจ็บปวดไว้เบื้องหลัง
ส่วนบรรดาค่ายมือถือที่เหลือก็ต้องมาสู้รบกันทั้ง ADVANC DTAC และ TRUE
การไม่จ่ายเงินของ JAS กลับเป็นทางออกที่ดีกับหุ้นกลุ่มสื่อสาร
เพราะจำนวนผู้เล่นกลับมาเท่าเดิม(แม้ว่าโอกาสในการทำกำไรลดลงจากเดิม)
ส่วนการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ใหม่นั้น ในส่วนของราคาจะมีการใช้ราคาของ JAS เป็นราคาเริ่มต้นการประมูลนั่นคือราวๆ 7.5 หมื่นล้านบาท
คำถามคือ ค่ายมือถือที่เหลือ 3 ค่าย จะยอมรับกับราคานี้หรือไม่
หากไม่ยอมรับ และไม่มีคนเข้าร่วมประมูล แล้วทาง กสทช.จะดำเนินการอย่างไร
ค่ายมือถือเอง ก็ดีดลูกคิดมาแล้วว่า ราคานี้อาจไม่คุ้มกับการลงทุน แล้วไปสู้กับใบอนุญาตคลื่นความถี่อื่นๆ หรือ 5G ดีกว่าไหม
กสทช.เองก็ควรจะรู้ว่า การประมูลใหม่นี้ไม่ควรปล่อยให้เนิ่นนาน
เพราะหากยิ่งนาน มูลค่าของใบอนุญาตนี้ก็จะค่อยๆ ลดลง
ผลเสียก็จะเกิดขึ้นกับ กสทช. และเงินที่จะเข้ารัฐบาล
มีข้อเสนอจากจาก ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากทีดีอาร์ไอ ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า กสทช.ควรจะใช้ราคาสุดท้าย ก่อนที่ผู้ประกอบการที่เหลือรายแรกออกจากการประมูล หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ทุกฝ่ายรับได้
ทว่า ข้อเสนอของดร.สมเกียรติ ก็อาจทำให้ TRUE มองว่า ไม่ยุติธรรม เพราะของเขาได้มาแพง(กว่า) และอาจทำให้เสียเปรียบในเชิงการแข่งขัน
นี่ก็คือการบ้านที่ กสทช. จะต้องคิดให้รอบคอบ รัดกุม
ย้อนกลับมาที่ JAS เพราะมีคำถามว่า สรุปแล้วมีผลกระทบทางลบกับ JAS หรือไม่
คำตอบเบื้องต้นคือ นอกจากถูกยึดเงินประกัน 644 ล้านบาทแล้ว ก็ไม่น่าจะมีอะไรนะ เพราะตัวบริษัทลูกของ JAS ที่เข้าประมูล 4G นั้น ทาง กสทช. รับรองเองว่า เป็นบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติการเข้าร่วมประมูล 4G
พูดง่ายๆ คือ “คุณสมบัติครบถ้วน”
หรือหากมีจริงๆ ก็เชื่อแน่ว่า JAS พร้อมที่จะต่อสู้เต็มที่
ส่วนคำถามที่ว่าทำไม JAS เงียบจัง และเงียบเรื่อยมากระทั่งวินาทีสุดท้ายที่ต้องจ่ายเงิน
แม้กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯอยากให้ JAS ชี้แจงกับนักลงทุน คำตอบจาก JAS ก็ยังคือความเงียบ
หรือพวกเขาอาจมองว่า ก็ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรนี่ เพราะบางครั้งความเงียบก็คือ “คำตอบ” ที่อาจคล้ายๆ กับบทเพลง When you say nothing at all
“สิ่งที่สื่อออกมาได้ดีที่สุด นั่นคือ การไม่ต้องสื่ออะไรออกมา…”