พาราสาวะถี อรชุน
สูตรพบกันครึ่งทางน่าจะเป็นที่พอใจของฝ่ายเสนออย่างแน่นอน เพราะ วิษณุ เครืองาม เนติบริกรประจำรัฐบาลยืนยันเองว่า บทสรุปของกรธ.ต่อข้อเสนอแม่น้ำ 4 สายหรือพูดให้ชัดคือจากคสช.เป็นด้านหลักนั้น เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะเรื่องส.ว.สรรหาที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ จัดให้ถึง 200 ที่นั่ง เหลือให้กรธ.มีที่ยืนจากการเลือกของกลุ่มอาชีพ 50 เก้าอี้
สูตรพบกันครึ่งทางน่าจะเป็นที่พอใจของฝ่ายเสนออย่างแน่นอน เพราะ วิษณุ เครืองาม เนติบริกรประจำรัฐบาลยืนยันเองว่า บทสรุปของกรธ.ต่อข้อเสนอแม่น้ำ 4 สายหรือพูดให้ชัดคือจากคสช.เป็นด้านหลักนั้น เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะเรื่องส.ว.สรรหาที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ จัดให้ถึง 200 ที่นั่ง เหลือให้กรธ.มีที่ยืนจากการเลือกของกลุ่มอาชีพ 50 เก้าอี้
สิ่งที่บ่งบอกถึงความพึงพอใจนั้นคือคำพูดของวิษณุที่บอกว่า ประเด็นเรื่องส.ว.สรรหาคือสิ่งที่คสช.ให้ความสำคัญ นั่นหมายความว่า เมื่อกรธ.ทำตามเช่นนี้จึงไม่มีอะไรที่จะต้องติดใจอีก เหมือนอย่างที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ช่วยสำทับซ้ำว่า จะไม่ต่อรองเรื่องที่มาส.ว.สรรหากับกรธ.อีก เป็นอันว่าทุกอย่างเข้าใจตรงกันนะ
สำหรับเหตุผลที่คสช.ให้ความสำคัญกับส.ว.สรรหาและจำนวนที่จะต้องมี ก็สอดสัมพันธ์กับช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีที่ยังจะต้องมีมือไม้เพื่อใช้ตรวจสอบและพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้าง หรืออีกนัยหนึ่งหากมองในมิติของฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ มีส.ว.สรรหาถึง 250 ที่นั่ง เพื่อหวังไปต่อยอดในส่วนของนายกรัฐมนตรีคนนอกนั่นเอง
แม้ตามสูตรของกรธ.ที่ตัดอำนาจของส.ว.ในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจและลงมติถอดถอนนายกฯและรัฐมนตรีรายบุคคลออกไป รวมทั้งไม่ยกเลิกเรื่องที่จะให้พรรคการเมืองเสนอชื่อว่าที่นายกฯ 3 รายต่อกกต.ก่อนปิดรับสมัครเลือกตั้งก็ตาม แต่ฟังคำอธิบายของมีชัยต่อกระบวนการเลือกนายกฯหลังการเลือกตั้งแล้ว มันมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ได้นายกฯคนนอกอยู่ไม่น้อย
เพราะตามที่กรธ.สรุปคือ แม้ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อในช่วงเลือกตั้ง แต่หลังเลือกตั้งเปิดช่องให้มีการยกเว้นการใช้รายชื่อของพรรคการเมืองเหล่านั้นได้ ภายใต้เงื่อนไข หากสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯจากบัญชี 3 ชื่อได้ ส.ส.จำนวนครึ่งหนึ่งก็ขอเปิดประชุมร่วมรัฐสภา จากนั้นก็ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภาเพื่อยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีดังกล่าว
ตรงนี้นี่แหละที่น่าสนใจ เพราะเมื่อพิจารณาจากปัญหาที่เกิดขึ้นของสภาผู้แทนราษฎรแล้วมาใช้เสียงของส.ว.สรรหา ที่เป็นห่วงกันก็คือ จะมีความจงใจให้กระบวนการเลือกนายกฯของส.ส.มีปัญหา จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการดังว่า ก่อนจะย้อนกลับไปให้สภาฯเลือกผู้นำประเทศอีกครั้ง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เกิดการต่อรองในการเข้าร่วมรัฐบาลของนักการเมืองที่โหยกระหาย
การที่กรธ.ระบุว่าให้สภาผู้แทนราษฎรนำรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมเสนอชื่อเป็นนายกฯ โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ พรรคการเมืองที่ผ่านการต่อรองกันแล้ว จะรวมหัวกันชงชื่อคนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง อันหมายถึงคนนอก (ที่พอจะคาดเดากันได้) ให้เข้ามาช่วยผ่าทางตัน เป็นเส้นทางเดินที่คล้ายกันกับรัฐธรรมนูญปี 2521 ยังกะแกะ
อย่างไรก็ตาม ปมที่ว่าด้วยที่มาของนายกฯนั้นขณะที่กรธ.สรุปความเห็นตามข้อเสนอของคสช.ไปแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในบทบัญญัติที่กำลังพิจารณาปรับแก้กันอยู่ก็พบประเด็นที่น่าขีดเส้นใต้อยู่ไม่น้อย โดยบทบัญญัติได้กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกฯไม่เกิน 3 รายชื่อต่อกกต.ในวรรคแรก
แต่ในวรรคสองกลับเขียนว่าพรรคการเมืองจะไม่เสนอชื่อก็ได้ ซึ่งการเว้นช่องดังกล่าวอาจทำให้เกิดความสับสนหรือตีความกันไปได้ต่างๆ นานา แน่นอนว่า ในขั้นตอนปรับแก้ของกรธ.อาจกำหนดให้มีเกณฑ์ให้เสนอชื่อขั้นต่ำอย่างน้อย 1 ชื่อก็เป็นได้ และไม่มีใครการันตีว่า ข้อเสนอของคสช.ที่ยืนยันเจตนารมณ์ของกรธ.ไปแล้วนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกหรือไม่
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลทั้งรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายกฎหมาย ดูเหมือนจะยอมรับได้กับบทสรุปของกรธ. แต่ซีกส่วนของสภาแต่งตั้งอย่างสนช.และสปท. ยังไม่พอใจต่อแนวทางดังกล่าว โดย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เรียกร้องให้กรธ.ทบทวนเรื่องที่มาส.ว.โดยเฉพาะกรณี 6 เก้าอี้ของปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
แน่นอนและเข้าใจได้ว่าในฐานะอดีตประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของหัวหน้าคสช.ย่อมห่วงคนกลุ่มนี้เป็นธรรมดา แต่ฟังคำอธิบายจากมีชัยแล้วน่าจะสร้างความกระจ่างชัดให้กับพรเพชรและคนทั่วไป ส.ว.สรรหา 6 ตำแหน่งนั้น ถือเป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหาซึ่งแต่งตั้งโดยคสช.จะพิจารณาเข้ามา ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ควรต้องกังวลใดๆ สิ่งสำคัญที่มีชัยคงอยากจะบอกไปถึงนักกฎหมายใหญ่เหมือนกันก็คงจะเป็นประโยคที่ว่า ไม่จำเป็นต้องบัญญัติเนื้อหาที่ถูกมองว่าเป็นเผด็จการไว้ในรัฐธรรมนูญ
ส่วนอีกรายที่อยากให้กรธ.ทบทวนบทสรุปคือ อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. ที่ชี้ชัดไปในเรื่องระบบเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต โดยเสี่ยจ้อนเห็นว่าเป็นการเสี่ยงเกินไปที่จะเอาการเลือกตั้งครั้งหน้าซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของการที่จะตั้งหลักประเทศ มาทดลองระบบเลือกตั้งที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ว่าดีจริงหรือไม่
ในฐานะนักการเมืองที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสนามการแก่งแย่งชิงตำแหน่งกันมาอย่างโชกโชน คงรู้ดีว่าระบบการเลือกตั้งแบบไหนที่จะสามารถจัดการกับนักเลือกตั้งได้ แต่อลงกรณ์น่าจะรู้ดีว่าโจทย์ใหญ่ของมีชัยและกรธ.ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะจัดการกับนักการเมืองโกงอย่างไร เป้าหมายมันอยู่ที่จะทำอย่างไรเพื่อจะจัดการกับพรรคการเมืองใหญ่บางพรรคไม่ให้ชนะเลือกตั้งได้ต่างหาก จึงเกิดสูตรพิสดารอย่างที่เห็น
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ที่ต้องหาความกระจ่างกันให้ได้คือ บทลงโทษสำหรับผู้ที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากกว่า เพราะแม้แต่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ยังตอบไม่ได้ว่า การกระทำใดจึงจะถือว่าก้าวร้าวรุนแรงและการรณรงค์ที่ใช้คำว่าสืบทอดอำนาจจะเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่
การตีความโดยใช้อนุกรรมการพิจารณาเพื่อกลั่นกรองนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนว่า เป็นการแสดงออกโดยสุจริตและสุภาพหรือไม่ จะใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน การที่บอกถ้าแสดงความเห็นในเชิงหลักวิชาการก็ไม่ต้องกลัว คงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ถ้าจะให้ดีกกต.คงต้องจัดทำคู่มือชี้แจงให้ชัดๆ ว่าสิ่งใดที่สามารถทำได้และสิ่งใดที่ไม่ควรทำในการทำประชามติครั้งนี้ เพื่อจะได้ไม่ถูกครหาว่าเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐาน