แบงก์ชาติกับค่าบาทพลวัต 2016
เมื่อวานนี้ ก่อนเที่ยงเล็กน้อย ระหว่างที่มีการประชุม คณะกรรมการทางการเงิน (กนง.) ยังไม่จบสิ้นดี ค่าเงินบาทในตลาดเงินที่แข็งค่ามานานกว่า 2 สัปดาห์ที่ระดับใต้ 25.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้กลับทะยานขึ้นเหนือ 25.00 บาทจนถึงภาคค่ำของวานนี้
วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ ก่อนเที่ยงเล็กน้อย ระหว่างที่มีการประชุม คณะกรรมการทางการเงิน (กนง.) ยังไม่จบสิ้นดี ค่าเงินบาทในตลาดเงินที่แข็งค่ามานานกว่า 2 สัปดาห์ที่ระดับใต้ 25.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้กลับทะยานขึ้นเหนือ 25.00 บาทจนถึงภาคค่ำของวานนี้
ค่าบาทที่อ่อนยวบกะทันหัน ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เป็นเพราะต่างชาติกำลังจะถอนตัวจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของไทย เพื่อกลับไปถือดอลลาร์ที่ทำท่าแข็งระลอกใหม่ก่อนที่เฟดฯ จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไป หรืออย่างไร
คำถามดังกล่าว มีเหตุผลรองรับ เพราะทุกครั้งที่เฟดฯส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ย ทุนเก็งกำไรที่เคยตระเวนไปหากำไรในตลาดทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ จะถอนทุนออก
ต้นสัปดาห์นี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนของเฟดฯ ส่งสัญญาณว่า อาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯในการประชุมเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ถ้าหากเงื่อนไขของดัชนีเศรษฐกิจสหรัฐฯชี้ไปทางเดียวกันว่า เงินเฟ้อในสหรัฐฯเริ่มขยับสูงขึ้นเข้าหาเป้าหมายจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่องอย่างช้าๆ ทำให้ตลาดเงินเริ่มปรับตัวรับโดยที่ค่าดอลลาร์เริ่มแข็งขึ้น
ที่ผ่านมา เงินทุนเก็งกำไรในรูปดอลลาร์เข้ามาผลักดันให้ตลาดตราสารหนี้ของไทยเป็นขาขึ้นจากการที่บอนด์ยีลด์ลดลง และราคาพันธบัตรแพงขึ้น ในขณะที่ราคาหุ้นบลูชิพและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็วิ่งแรงต่อเนื่อง จากระดับใต้ 1,300 จุดมาทะลุ 1,400 จุดในเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือน
ผลพวงของการไหลเข้าของทุนเก็งกำไร ทำให้ค่าบาทแข็งขึ้นมา จนกระทั่งธนาคารกลางของไทย(ธปท.) มีมุมมองว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขณะนี้ ไม่เอื้อเศรษฐกิจฟื้นตัว เพียงแต่กนง.เมื่อวานนี้ ไม่ได้เลือกใช้เครื่องมือดอกเบี้ยในการต่อสู้กับค่าบาทที่แข็งเกิน แต่เลือกใช้เครื่อมืออื่นๆ แทน
การประชุมกนง.เมื่อวานนี้ อาจจะไม่ได้พูดถึงการแทรกแซงค่าเงินบาทมากนัก เพราะมุ่งเน้นไปที่เรื่องอื่นๆที่มีความหมายเช่นกันคือ
-เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นในบางกลุ่มธุรกิจ แต่ในภาพรวมมีสัญญาณอ่อนแรงลง เพราะผลชั่วคราวของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงก่อนปีใหม่ และการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตได้ผลสั้นมาก
-มูลค่าการส่งออกสินค้ายังหดตัวสูงและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลัก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้าโลก และปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทย ทำให้ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนไหว รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่อาจแตกต่างกันมากขึ้น ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน
-อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงในช่วงปลายปี 58 ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักผลของภาษีสรรพสามิตยาสูบและรถยนต์มีแนวโน้มชะลอลง สะท้อนแรงสนับสนุนด้านอุปสงค์ที่แผ่วลง ความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อจึงโน้มไปด้านลบเพิ่มขึ้น
แม้ว่าการเข้าแทรกแซงตลาดของธนาคารกลางไทยเมื่อวานนี้ จะไม่ได้มีการประกาศเป็นทางการ แต่ตลาดสามารถรับรู้ได้ สิ่งที่เห็นทันทีคือ ต่างชาติที่ทำการซื้อสัญญาล่วงหน้าในตลาดตราสารอนุพันธ์ไว้จำนวนมาก (taking long position) จำต้องเร่งดันราคาหุ้นเพื่อทำการปิดสถานะของสัญญาในตลาดอนุพันธ์ ยังผลให้ราคาหุ้นหลังบ่าย 3 โมงครึ่งวานนี้ พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง จนกระทั่งดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ปิดโดดเด่นเหนือตลาดหุ้นทั่วทั้งเอเชียเลยทีเดียว
คำอธิบายของนักวิเคราะห์ที่ว่า แรงซื้อจากการที่กนง.ไม่ลดดอกเบี้ย ทำให้เกิดความมั่นใจครั้งใหม่ เป็นเพียงแค่คำอธิบายของ “วีรชนหลังสงคราม”เท่านั้น เพราะโดยข้อเท็จจริงเห็นได้ชัดว่า การ “ลากหุ้นมาออกของ”เป็นปฏิกิริยาต้องเร่งกระทำของบรรดากองทุนเก็งกำไรต่างชาติที่ประจวบเหมาะกับอายุของตราสารอนุพันธ์ SET 50 FUTURES ใกล้จะหมดช่วงลงในสิ้นเดือนนี้พอดีด้วย
การลากหุ้นเพื่อดึงดัชนีและ “ออกของ”ในตลาดอนุพันธ์ ก่อนที่แบงก์ชาติจะเข้าแทรกแซงตลาดเงินบาทแรงขึ้น จึงมีผลให้เกิดปรากฏการณ์ต่อตลาดหุ้นวานนี้อย่างมีนัยสำคัญ และอาจจะลามมาถึงวันนี้ด้วย แต่ก็คงจะจบลงในช่วงเวลาอันสั้น เพราะสถานการณ์นี้เป็นประเด็นชั่วขณะทางเทคนิคของการทำกำไรในตลาดธรรมดา ไม่ได้เป็นสถานการณ์ยั่งยืนอะไร
ค่าบาทและแบงก์ชาติ จึงกลายเป็นเกมและเครื่องมือสำคัญที่กองทุนต่างชาตินำมาทำกำไรเมื่อวานนี้อย่างชัดเจน