TRUE แผลงฤทธิ์ลูบคมตลาดทุน
ไม่ได้อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ครับ
ธนะชัย ณ นคร
ไม่ได้อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ครับ
ประเด็นก็คือ วานนี้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE ทำหนังสือถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.
ในหนังสือก็ระบุว่าเรื่องวงเงินเริ่มต้นประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz นั่นแหละ
กลุ่มทรู ระบุชัดเจน ตัวเลขเริ่มต้นประมูลจะต้องอยู่ที่ 75,654 ล้านบาท
แต่เรื่องนี้ทาง กสทช. ก็บอกไว้ชัดเจนก่อนหน้าอยู่แล้วว่า จะเริ่มจากราคานี้แหละ เพราะดูเหมือน กสทช.ก็จะรู้ดีว่า หากใช้ราคาต่ำกว่า จะมีปัญหาจากกลุ่มทรูแน่นอน
คำถามคือ หาก กสทช.ใช้ราคานี้แล้วไม่มีผู้ประกอบการมาร่วมประมูลล่ะ
คำตอบคือ เหตุการณ์เป็นไปได้สูงถึงสูงมาก
และหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ โอกาสที่จะเก็บใบอนุญาตนี้เข้าลิ้นชัก ก็มีความเป็นไปได้
ดีแทคเองก็ยืนยันว่า ตัวเลขเริ่มต้นการประมูลอยากให้สตาร์ทกันที่ 15,000 ล้านบาท
ส่วนเอไอเอส ก็ยังไม่ได้ให้คำตอบแน่ชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่บรรดาบุคคลในวงการต่างฟันธงไว้ก่อนแล้วว่า หาก กสทช. ใช้ราคาของแจส ทาง เอไอเอสก็คงไม่เข้าร่วมประมูล
ในการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz นั้น เอไอเอส ถอยตั้งแต่ 7 หมื่นล้านบาท
ทีดีอาร์ไอเองก็เคยเสนอว่า ให้ใช้ราคาเริ่มต้นประมูลที่ระดับ 7 หมื่นล้านบาท ไม่เช่นนั้น ทั้งดีแทคและเอไอเอส ไม่เข้าร่วมแน่นอน
แต่หาก กสทช.เกรงว่าจะเสียโอกาสนำรายได้เข้าประเทศ และอาจจะยอมใช้ราคาต่ำกว่าที่แจสประมูลได้ล่ะ
ทางกลุ่มทรู ก็เลยบอกว่า หากราคาประมูลใหม่ออกมาต่ำกว่า 75,654 ล้านบาท ทาง กสทช.ก็จะต้องลดราคาใบประมูลให้กับเขาด้วย
ทั้งนี้ ก็เพื่อไม่ให้เสียเปรียบการแข่งขัน
นี่คือ สิ่งที่ทรูได้ยื่นกับทาง กสทช. ที่กรรมการกสทช.จะต้องไปขบคิด หาทางออกที่ดีที่สุดให้ได้
ข้อเสนอของกลุ่มทรู ยังไม่หมดนะ
เพราะเขาเรียกร้องหาความยุติธรรมกรณีที่เอไอเอส ได้ใช้คลื่น 900 MHz ทั้งที่เป็นผู้แพ้การประมูล และหมดสัมปทานไปแล้ว
ประเด็นนี้ ทรูมองว่า ไม่เกิดความยุติธรรมสำหรับเขาที่เป็นผู้ชนะครับ
และจะดูเหมือนทรูจะมีข้อเสนอด้วย
นั่นคือ เอไอเอสควรจะมีค่าใช้จ่ายการใช้คลื่น 900 MHz ตามสัดส่วนของราคาค่าประมูลคลื่น 4G นี้
ผมก็เลยนำตัวเลขมาคำนวณดู
4G คลื่นความถี่ 900 MHz มีอายุสัมปทาน 18 ปี และจำนวน 18 ปี หากคิดออกมาเป็นเดือน ก็ได้เท่ากับ 216 เดือน
และเมื่อนำตัวเลขค่าประมูล คือ 75,654 ล้านบาท มาหารกับจำนวน 216 เดือน ก็จะได้เท่ากับ 350 ล้านบาท
นั่นเท่ากับว่า ทรูมองว่า เอไอเอสจะต้องมีภาระค่าจ่าย การใช้คลื่น 900 MHz ประมาณ 350 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งไม่ใช่มีการนำไปใช้ฟรีแบบที่เป็นอยู่
ปัญหาเรื่องวุ่นกับ 4G จะยังคงมีอีกมาก หลังแจสทิ้งใบอนุญาต
วานนี้หุ้น JAS ราคาก็ดิ่งลงเยอะ เพราะนักลงทุนเริ่มกลับมากังวลที่ว่า JAS จะต้องถูกตั้งสำรองในกรณีหากถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่
JAS เองก็มีจุดยืนของตัวเองตามที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ
เอไอเอส เขาก็มีจุดยืนของตัวเองเช่นกัน เพื่อปกป้องธุรกิจที่อยู่ภายใต้แผนงานได้วางไว้
ส่วนดีแทคเองก็เช่นกัน ก็มีจุดยืนเกี่ยวกับเรื่อง 4G อย่างชัดเจนว่า ต้องการให้ กสทช.เข้ามาแก้ปัญหา และจะดำเนินการต่ออย่างไร
และ TRUE ก็มีจุดยืนอย่างที่นำเสนอข้างต้น
จุดยืนของผู้ประกอบการทั้ง 4 ค่าย ต่างแตกต่างกันไป
แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ กสทช.จะต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน มีกระบวนการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ ไม่เปลี่ยนแปลงไปมา และเป็นจุดยืน หรือเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการทั้ง 4 ค่าย ต้องยอมรับ
แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม