“วิทูร สุริยวนากุล” ลาออกจาก ปธ.บอร์ด GLOBAL หลังถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษ

"วิทูร สุริยวนากุล" ลาออกจาก ปธ.บอร์ด-ซีอีโอ GLOBAL หลังถูก ก.ล.ต. ปรับฐานใช้ข้อมูลภายใน โดยบริษัทมีการแต่งตั้งนายอนวัช สุริยวนากุล เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2559


บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติที่รับทราบการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท ประธานคณะกรรมการบริหาร และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของนายวิทูร สุริยวนากุล รวมทั้งรับทราบการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท และกรรมการตรวจสอบ ของนายสุรศักดิ์ จันโทริ พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งนายอนวัช สุริยวนากุล เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2559

อนึ่ง นายวิทูร สุริยวนากุลและนายสุรศักดิ์ จันโทริ นั้น ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต. มีคำสั่งเปรียบเทียบผู้กระทำผิด 4 ราย ได้แก่ (1) นายวิทูร สุริยวนากุล (2) นางสาวกุณฑี สุริยวนากุล  (3) นายอภิลาศ สุริยวนากุล และ (4) นายเกรียงไกร สุริยวนากุล เป็นเงินรวม 25,322,064.39 บาท กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้นสามัญ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL-W  และกล่าวโทษผู้กระทำผิด 2 ราย ได้แก่ (1) นายสุรศักดิ์ จันโทริ และ (2) นายเอกกมล จันโทริ กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น GLOBAL

โดย ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติมพบพยานหลักฐานว่า นายวิทูรกับพวกรวม 4 คน ได้ซื้อและเป็นผู้รับประโยชน์จากการซื้อหุ้น GLOBAL และ GLOBAL-W โดยนายวิทูร ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารของ GLOBAL มีอำนาจตัดสินใจเงื่อนไขความตกลงระหว่าง GLOBAL กับบริษัท เอสซีจี ดีสทริบิวชั่น จำกัด (SCG) บริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ในการที่ SCG จะเข้าถือหุ้นในบริษัท GLOBAL ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมด ด้วยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ GLOBAL จะออกเสนอขายให้แบบเฉพาะเจาะจง โดย SCG จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ GLOBAL บางส่วน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจของ GLOBAL แข็งแกร่งขึ้น

ทั้งนี้ข้อตกลงดังกล่าวเพิ่งได้รับการเปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 27 ส.ค.55 แต่พบว่าระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-23 ส.ค.55 นายวิทูรได้อาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น GLOBAL จำนวน 8,022,881 หุ้น และ GLOBAL-W จำนวน 3,500,700 หน่วย ผ่านบัญชีบุคคลใกล้ชิดอื่นหลายบัญชี และได้รับความช่วยเหลือจากนางสาวกุณฑี นายอภิลาศ และนายเกรียงไกรให้มีการซื้อและชำระค่าซื้อหลักทรัพย์

ส่วนกรณีนายสุรศักดิ์นั้น ก.ล.ต.พบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าล่วงรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าร่วมทุนดังกล่าว จากการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระของ GLOBAL ได้ซื้อหุ้น GLOBAL จำนวน 75,000 หุ้น ในวันที่ 22 ส.ค.55 ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายเอกกมล

สำหรับการซื้อหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน ถือเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก เป็นความผิดตามมาตรา 241 ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 296  แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ทั้งนี้นายวิทูร นางสาวกุณฑี นายอภิลาศ และนายเกรียงไกร กระทำผิดตามมาตราข้างต้น จึงได้รับการลงโทษทางอาญาโดยการถูกปรับ คณะกรรมการเปรียบเทียบจึงได้เปรียบเทียบนายวิทูร เป็นเงิน 24,322,064.40 บาท และเปรียบเทียบนางสาวกุณฑี นายอภิลาศ และนายเกรียงไกรในฐานะผู้สนับสนุน เป็นเงินรายละ 333,333.33 บาท

ส่วนนายสุรศักดิ์และนายเอกกมลไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบความผิด  ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และนายสุรศักดิ์ยังขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดีอีกด้วย

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม

Back to top button