ส่องกองทุนอสังหาริมทรัพย์ & REITกูรูชี้ 6 หลักทรัพย์ราคายัง Laggards
ส่องกองทุนอสังหาริมทรัพย์ & REIT แนะนำเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ลงทุนไปยังหลักทรัพย์ที่เคลื่อนไหวช้ากว่ากลุ่ม (Laggard) โดยเห็นว่าหลักทรัพย์ในกลุ่มโกดังให้เช่ามีอัตราการเข้าเช่า (OR) ที่ฟื้นตัวดีมาตั้งแต่ไตรมาส 3/58 รวมทั้งธุรกิจใน SECTOR ต่างๆ ได้แก่ CPNRF, CPTGF, GVREIT (จะเข้าซื้อขายในตลาดฯครั้งแรก 4 เม.ย.59 นี้), WHART, LHHOTEL และ JASIF (ระยะสั้นติดตามบทลงโทษ JAS ว่าจะกระทบทางลบไหม)
บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (29 มี.ค. 59) ว่า การเปลี่ยนแปลงสำหรับหลักทรัพย์หมวดนี้เพิ่มขึ้นดี 5.4% เมื่อปีที่แล้วและปีนี้ YTD เพิ่มขึ้น 7.7% ถือว่าดีกว่าตลาดฯ สืบเนื่องจากปัจจัยบวกในเรื่องแหล่งรายได้ที่สม่ำเสมอและให้อัตราผลตอบแทนปันผลที่สูง
การปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งย่อมทำให้หลายหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ มีอัตราผลตอบแทนปันผลที่ลดลง รวมทั้งส่วนเพิ่มจากราคาปิดเทียบกับราคาพื้นฐาน (capital gain) มีจำกัด ที่พิจารณาคือ ในหมวดอาคารสำนักงานและค้าปลีก
อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ที่ 1.82% หลักทรัพย์หมวดนี้ยังมีอัตราผลตอบแทนปันผลที่สูงกว่า 4.46% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่เป็น 3.30%
คำแนะนำ เปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ลงทุน (Switch) ไปยังหลักทรัพย์ที่เคลื่อนไหวช้ากว่ากลุ่ม (Laggard) เห็นว่าหลักทรัพย์ในกลุ่มโกดังให้เช่ามีอัตราการเข้าเช่า (OR) ที่ฟื้นตัวดีมาตั้งแต่ไตรมาส 3/58 รวมทั้งธุรกิจใน SECTOR ต่างๆ ได้แก่ CPNRF, CPTGF, GVREIT (จะเข้าซื้อขายในตลาดฯครั้งแรก 4 เม.ย.59 นี้), WHART, LHHOTEL และ JASIF (ระยะสั้นติดตามบทลงโทษ JAS ว่าจะกระทบทางลบไหม)
สำหรับพัฒนาการคือ ทางภาครัฐสนับสนุนให้มีการแปลงจาก กองทุนอสังหาฯ ไปเป็น REIT ที่โอนภายในปี 59 ได้แก่ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับผู้ถือหน่วยที่แปลง รวมทั้งลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนอง
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ทำให้ยังมีความลังเลคือ ภาษีที่คิดกับเงินปันผล 20% กับนักลงทุนสถาบันหากเป็น REIT ขณะที่ของกองทุนอสังหาฯ ไม่เสีย แต่นักลงทุนรายย่อยไม่มีผล เพราะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% สำหรับหลักทรัพย์ทั้งสองประเภท ในเวลาต่อมาภาครัฐมีความต้องการให้ผลประโยชน์ระหว่างหลักทรัพย์ทั้งสองประเภทมีความเท่าเทียมกันคือ เลิกการลดหย่อนภาษีบางประเภทให้กับ กองทุนอสังหาฯ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรแสตมป์ แต่เห็นว่าผลกระทบกลับไม่มาก เพราะกองทุนอสังหาฯสามารถผลักภาระไปให้ผู้เช่าได้
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดขึ้นเมื่อมีการขายสินทรัพย์ ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้น ดังนั้นจึงเห็นว่าจะไม่ได้กระตุ้นให้มีการแปลงจาก กองทุนอสังหาฯ ไปเป็น REIT สักเท่าใด แต่หากมีการไม่ยกเว้นภาษี 20% ที่คิดกับเงินปันผลจากกองทุนอสังหาฯ จะมีผลในการแปลงมากกว่า นั่นคือ ไม่มีความแตกต่างระหว่างสองหลักทรัพย์แล้ว