ละครฉากใหม่ 4Gพลวัต 2016
แล้วในที่สุด หลังจากปฏิบัติการสายฟ้าแลบทิ้งใบอนุญาตประมูล 4G ในย่านความถี่ 900 MHz ของ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด (แจส โมบาย) ในเครือข่ายของ บริษัท จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เมื่อครบเวลาเส้นตาย 3 เดือนของกสทช. ทั้งที่ลุ้นกันจนนาทีสุดท้าย ก็เป็นภาระของ กทค. (ส่วนหนึ่งของ กสทช.) ให้ต้องกำหนดกติกา “วัวหายล้อมคอก” กันใหม่
วิษณุ โชลิตกุล
แล้วในที่สุด หลังจากปฏิบัติการสายฟ้าแลบทิ้งใบอนุญาตประมูล 4G ในย่านความถี่ 900 MHz ของ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด (แจส โมบาย) ในเครือข่ายของ บริษัท จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เมื่อครบเวลาเส้นตาย 3 เดือนของกสทช. ทั้งที่ลุ้นกันจนนาทีสุดท้าย ก็เป็นภาระของ กทค. (ส่วนหนึ่งของ กสทช.) ให้ต้องกำหนดกติกา “วัวหายล้อมคอก” กันใหม่
กติกาถูกเคาะกันเมื่อวานนี้ตอนบ่าย ดูเข้มงวดเหนือธรรมดา เพื่อรักษาหน้าตาของกสทช.เอาไว้ แล้วก็แปลกที่เมื่อ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยผลการประชุม กทค. นัดพิเศษว่า มีมติกันดังนี้
–กำหนดวันประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบใหม่ในวันที่ 24 มิ.ย. 59 โดยเปิดขายซองประกวดราคาช่วงวันที่ 13 พ.ค. -12. มิ.ย. 59 และเปิดให้ยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 13 มิ.ย. 59
–ราคาตั้งต้นการประมูล กำหนดไว้ที่ 75,654 ล้านบาทซึ่งเป็นราคาเท่ากับแจส โมบายฯ ชนะประมูลครั้งที่แล้วก่อนที่จะทิ้งใบอนุญาต โดยกำหนดให้เคาะราคาขึ้นแบบ English Auction ในแต่ละรอบไว้ที่ 152 ล้านบาท หรือ 0.2% ของราคาตั้งต้น เหตุผลคือ ไม่สามารถลดราคาต่ำกว่านั้นได้ เพราะต้องปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ
–เงื่อนไขการประมูล มีกำหนดไว้ 3 ขั้น 1) หากมีผู้เข้าร่วมประมูลรายเดียวแล้วเคาะประมูลครั้งแรกยืนยันราคาตั้งต้นที่ 75,654 ล้านบาทก็จะเป็นผู้ชนะการประมูลทันที 2) หากมีผู้เข้าร่วมประมูล 2 หรือ 3 ราย จะประกาศผู้ชนะประมูลอันดับที่ 1 ผู้ชนะอันดับที่ 2 หรือ ผู้ชนะอันดับที่ 3 โดยหากผู้ชนะประมูลอันดับที่ 1 ไม่มาชำระเงินก็ให้เรียกผู้ชนะประมูลอันดับที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาตแทนทันที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต้องมาจัดการประมูลใหม่ 3) หากอันดับถัดไปมีผู้เสนอราคาเท่ากัน กทค.ก็จะออกประกาศเพิ่มเติม
–หากไม่มีผู้ใดยื่นเสนอราคาประมูลเลย ตามมติ กทค.เดิมระบุว่า ให้เก็บคลื่นไว้ 1 ปีค่อยนำออกมาประมูล แต่ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากมติ กทค.เดิมก็ได้
–กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลวางหลักประกัน 5% ของราคาตั้งต้นประมูล 75,654 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงิน 3,783 ล้านบาท เป็นแบงก์การันตี แต่คงเงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลเหมือนเดิม คือจ่าย 4 งวด โดยปีแรก จ่าย 8,040 ล้านบาท ปีที่ 2 จ่าย 4,020 ล้านบาท ปีที่ 3 จ่าย 4,020 ล้านบาท และปีที่ 4 จ่ายส่วนที่เหลือ
–หากผู้ที่ชนะประมูลแล้วทิ้งใบอนุญาต จะให้จ่ายค่าเสียหาย 15,131 ล้านบาท หรือเท่ากับ 20% ของราคาตั้งต้น ซึ่งเป็นการริบเงินประกัน 3,783 ล้านบาท และให้เรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมอีก 11,348 ล้านบาท
มติข้างต้นนี้ ยังไม่ถือว่ายุติที่สุด เพราะ กทค.จะต้องนำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับราคาตั้งต้นในวันที่ 22 เม.ย.นี้ ที่สโมสรกองทัพบก โดยจะเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกสทช.ในระหว่างวันที่ 5-28 เม.ย. 59 อย่างไรก็ดี คาดว่าจะส่งร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบใหม่ส่งไปลงราชกิจจานุเบกษาได้ในวันที่ 12 พ.ค.นี้
ปฏิบัติการ “วัวหายล้อมคอก” นี้ เป็นผลของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า JAS Effect เนื่องจากการที่ยอมเสียหายจากการโดนริบเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาทเท่านั้น โดยไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดค่าเสียหายใดๆ เพิ่มเติม ยกเว้นค่าใช้จ่ายที่จะต้องประมูลครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกส่วนหนึ่ง
JASEffect ไม่เพียงแต่ทำให้ กสทช.เกิดอาการเสียศูนย์ที่ต้องตั้งตาเข้มงวดชนิดที่ยากจะมีบริษัทไหนยอมเข้าร่วมการประมูลด้วยในรอบต่อไปแล้ว ยังทำให้เกิดความปั่นป่วนไปทั่ววงการเลยทีเดียว เพราะ เงื่อนไข “รักษาผลประโยชน์แห่งชาติ” มากกว่าการ “รักษาประโยชน์ผู้บริโภคของกสทช. จะทำให้ ต้นทุนของธุรกิจโทรคมนาคมในคลื่น 4G มีต้นทุนที่แพงลิ่ว จนกระทั่งมีคำถามว่า ผลประกอบการในอนาคตของผู้ที่ได้รับใบอนุญาต 4G จะรุ่งเรืองต่อไปได้อย่างไรกัน
การที่ตลาดโทรคมนาคมไร้สายจากนี้ไปจะมีสภาพเป็นตลาดทดแทนมากกว่าตลาดใหม่สด ที่จะเติบโตเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ ทำให้ต้นทุนใบอนุญาตที่แพงมากกว่าของผู้ประกอบการหรือโอเปอเรเตอร์ มีคำถามในเรื่องของการบริหารคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในการสนองตอบผู้บริโภคมากกว่าปกติ
ข้อเท็จจริงของธุรกิจ 4G ในหลายประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เริ่มเปิดให้บริการมาแล้ว 4 ปีเศษ พบว่า จนถึงล่าสุด มีผู้ใช้บริการดังกล่าวเพียงแค่ประมาณ 10% ของผู้ใช้ทั้งระบบ ในขณะที่คลื่น 3G กลับมีส่วนแบ่งของตลาดใหญ่โตกว่ามาก และครองความเหนือกว่าทางรายได้ต่อไป ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ใบนุญาตที่แพงลิ่วอาจจะแพงที่สุดในโลกนั้น จะคุ้มค่าหรือไม่
ข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นปัจจัยที่ กสทช.อาจจะไม่ให้ความสำคัญ แต่ตัวอย่างกรณีที่พันธมิตรของJAS ในต่างประเทศ ถอยห่างเมื่อรับทราบต้นทุนของใบอนุญาตที่ได้มาจากชัยชนะในการประมูลคลื่น 900MHz เมื่อปลายปีก่อน และเป็นที่มาของการทิ้งใบอนุญาตดังที่เกิดขึ้น
ความพยายามที่ กสทช.จะรักษา “หน้า” ของตนเองด้วยการตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อสร้างเรื่องสอบสวนการกระทำของ JAS (ทั้งที่ควรรู้ดีแก่ใจ) โดยได้มีมติเรียกผู้บริหารแจส โมบายฯ มาชี้แจงต่อคณะทำงานในวันที่ 5 เม.ย.นี้. เวลา 15.00 น. ซึ่งได้ส่งคำถามไปให้แจส โมบายฯ รับทราบเพื่อเตรียมข้อมูลมาชี้แจงและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาให้คณะทำงานตรวจสอบ จึงเป็น “การร่อนเมล็ดข้าวจากกองแกลบ” ธรรมดา ที่ไม่มีความหมายอะไรเลย
สิ่งที่กสทช.ควรกระทำมากที่สุด แต่ไม่ได้ทำเลย ได้แก่ การทบทวนนโยบายประมูลใบอนุญาตโทรคมนาคมในลักษณะ 2 หน้า “ที่เป็นไปไม่ได้”คือ ด้านหนึ่งรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐ ด้วยการเรียกร้องค่าประมูลแพงลิ่วระดับหัวแถวของโลก แล้วมากำหนดสิ่งที่ตรงกันข้ามคือ ทำให้ค่าบริการโทรคมนาคมถูกที่สุดเพื่อผู้บริโภค เป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเองและมีส่วนขัดขวางพัฒนาการของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
หาก กสทช.ไม่ทำการทบทวน กรณีแบบ JAS Efffect ก็มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำอีกได้ไม่ยาก
แค่หากทำตรงกันข้าม อาจจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และทำให้ทุกอย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้นไม่ต้องมีใครเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย