สูตรนี้ ไม่มีเทนเดอร์แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

หลังจากร่ำลือกันมาทุกปี ปีละอย่างน้อย 1 ครั้ง ในที่สุด ดีลขายหุ้นเพื่อสร้างพันธมิตรธุรกิจของ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป หรือ LHBANK ซึ่งเป็นโฮลดิ้ง ทางด้านการเงิน ของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หัวแถวของไทย ก็เกิดขึ้นเสียที


หลังจากร่ำลือกันมาทุกปี ปีละอย่างน้อย 1 ครั้ง ในที่สุด ดีลขายหุ้นเพื่อสร้างพันธมิตรธุรกิจของ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป  หรือ LHBANK ซึ่งเป็นโฮลดิ้ง ทางด้านการเงิน ของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หัวแถวของไทย ก็เกิดขึ้นเสียที

เลิกตั้งคำถามกันเสียทีว่า มันเป็นดีลแท้ หรือแค่สร้างราคาชั่วคราว

ที่ผ่านมา กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ไม่เคยอ้อมค้อม ให้ข่าวเสมอมาว่า ต้องการหาพันธมิตรร่วมทุนที่เข้ามาทำให้ธนาคารเติบโตแข็งแรงมากขึ้นในระยะยาว ..แต่ต้องซื้อในราคาที่เหมาะสม

เหตุผลนั้นเข้าใจได้ เพราะหากจะดูฐานเงินกองทุนขั้นที่ 1 หรือ ส่วนผู้ถือหุ้นของ LHBANK ในงบการเงินล่าสุด 2558 จะเห็นว่า ส่วนผู้ถือหุ้นล่าสุดเพียงแค่ 1.7 หมื่นล้าน น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจะแข่งขันกับรายอื่นๆ ทำให้แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีอัตรากำไรสุทธิที่ระดับเกิน 15% และเติบโตเกินกว่าปีละ 20% แล้ว เติบโตเร็วแค่ไหนก็ยังไม่สามารถใหญ่โตและแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในวงการได้เลย

แถมยังทำให้ราคาหุ้นของ LHBANK ที่เทรดในตลาด พร้อมจะลงมากกว่าขึ้นมายาวนาน 

เพื่อหยุดยั้งปรากฏการณ์“บอนไซตัวเอง” ผู้ถือหุ้นใหญ่ และกรรมการของ LHBANK จึงต้องเร่งโตทางลัดเพื่อสร้าง inorganic growth เพราะหากขืนจะโตด้วย organic growth เหมือนเดิม ก็คงอาจจะมีปัญหาเดียวกับ “อึ่งอ่างในรอยเท้าโค” เหมือนนิทานอีสป

หลังจากที่ผ่านการเจรจาหาพันธมิตรมาหลายครั้ง และล้มเหลวมานาน…เพราะคนซื้ออยากได้ราคาต่ำ แต่คนขายอยากได้ราคาสูง…ในที่สุดก็สมใจอยากเสียที เมื่อ กลุ่มการเงินใหญ่อย่าง Koo Group จากไต้หวัน ตัดสินใจเข้ามาร่วมหอลงโรงด้วยในฐานะพันธมิตรสร้างพลังผนึกธุรกิจ

กลุ่ม Koo Group เป็นกลุ่มการเงินที่ใหญ่สุดในไต้หวัน มีธุรกิจหลัก 2 ปีก ปีกแรกคือ KGI ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน มีธุรกิจ non-bank ที่ใหญ่โต แล้วก็รุกเข้ามาอยู่ในเมืองไทยนานกว่า 15 ปี หลังวิกฤติต้มยำกุ้งโดยเข้าถือหุ้นใหญ่ใน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI นั่นเอง

อีกปีกหนึ่งคือ CTBC Financial Holding กลุ่มการเงินขนาดใหญ่จากไต้หวันมีสินทรัพย์ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 1 หรือ 1.09 แสนดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.83 ล้านล้านบาท ที่มีแกนหลักคือ ธนาคาร CTBC ที่เป็นธนาคารอันดับ 4 ของไต้หวัน แต่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งธนาคารนี้แหละที่ได้เข้ามาซื้อหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงของ LHBANK

กระบวนการซื้อขายหุ้นซึ่งคาดว่าจะสมบูรณ์ในไตรมาส 3 ปีนี้ เริ่มต้นที่ LHBANK ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายแบบพีพีให้แก่ CTBC Bank ในราคาหุ้นละ 2.20 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,599 ล้านบาท ทำให้ไต้หวัน เข้ามามีสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 35.6%

การเข้าถือหุ้นของทุนไต้หวัน ทำให้ สัดส่วนการถือครองหุ้นของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส (ประกอบด้วย LH และ QH) ลดลงอย่างชัดเจนลงเหลือเพียงประมาณ 40% เศษเท่านั้น

หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการออกและจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน CTBC Bank จะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการธุรกิจของ LHBANK เต็มตัว

ดีลนี้ ซึ่งมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาการเงิน มีคำถาม 2 ข้อตามมา

1)เหตุใดกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จึงไม่ขายหุ้นบางส่วนของตนเองออกมาเพื่อทำกำไรพิเศษเฉพาะหน้า หลังจากที่ยากลำบากมายาวนานหลายปี แล้วเพิ่มทุนขายให้กับ  CTBC อีกบางส่วน โดยรักษาสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่

2)การขายหุ้นแบบพีพี เปิดทางให้กลุ่มทุนไต้หวันที่เข้าซื้อหุ้นเกิน 25% ไม่ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ใช่หรือไม่

คำตอบแรกอยู่ที่วา หากคิดง่ายๆแบบสมการชั้นเดียว กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก็คงทำเช่นนั้น แต่คนที่คิดลึกซึ้งอย่างเสี่ยตึ๋ง อนันต์ อัศวโภคิน และทีมงานระดับอัจฉริยะ รู้ดีว่า หากทำเช่นนั้น LHBANK จะโตช้าลงในอนาคต เพราะเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ได้เพิ่มจะต่ำลง 

มุมนี้ถือว่าเป็นการเสียสละ “อดเปรี้ยว (ในระยะสั้น) ไว้กินหวาน(ในระยะยาว)”ของเสี่ยตึ๋งและพวก อย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะไม่ได้อะไรเฉพาะหน้าแล้ว อนาคตก็จะไม่เห็นจะเสียหายอะไร เนื่องจากการเติบโตของ LHBANK ในรูปของบุ๊คแวลูหลังการเพิ่มทุน และกำไรต่อหุ้นที่อาจจะลดลงในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะพุ่งขึ้น จากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินและเงินกองทุนที่กระโดดเป็นระดับอัตราสูงสุดในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย

การที่นักวิเคราะห์หลายสำนัก ทำการปรับเป้าใหม่  2.40 บาทต่อหุ้น จึงบ่งบอกชัดเจนว่าจากนี้ไป ราคาหุ้น LHBANK ที่เคยต่ำเตี้ยใต้ 2.00 บาท จะเป็นแค่อดีตเท่านั้น

ส่วนคำตอบหลัง ก็คง…หนีไม่พ้น เพราะหากทำเทนเดอร์ฯ กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ LHBANK ก็คงจะสูญเสียการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยปริยาย เพราะจะต้องทำราคาซื้อที่ 2.20 บาท…ขณะที่ CTBC ก็ยึดกิจการ “ทางประตูหลัง”โดยง่ายดายเกินไป

โอกาสที่จะไม่มีการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ จึงเป็นไปได้สูงมาก ถึงสูงที่สุด

การขายแบบเทกระจาดของนักลงทุนประเภทที่หวังทำกำไรจากข่าวดลควบรวมกิจการ แล้วไม่เป็นไปตามสูตรสำเร็จเดิม …ในทุกราคาด้วยความผิดหวังที่จะมีการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ จึงต้องบอกว่า…เป็นเช่นนั้น

อิ อิ อิ…เจ็บตัวน่ะสิ..              

Back to top button