กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ 18 เม.ย.นี้
กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯจำนวน 600 เมกะวัตต์ในวันที่ 18 เม.ย.และจะดำเนินการจับสลากได้ในวันที่ 21 เมษายน ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 เมษายนนี้ โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในวันที่ 31 ธันวาคม 59
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า วันนี้กกพ.จะออกประกาศเกี่ยวกับกรอบแนวทางดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ)จำนวน 600 เมกะวัตต์ โดยจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นได้ในวันที่ 18 เมษายนนี้ และจะดำเนินการจับสลากได้ในวันที่ 21 เมษายน ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 เมษายนนี้ โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในวันที่ 31 ธันวาคม 59
ส่วนประเด็นที่ต้องพิจารณาโดยเฉพาะกรณีโครงการขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ว่ามีภารกิจในการผลิตไฟฟ้าหรือไม่นั้น หรือการขัดหลักเกณฑ์พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) หรือไม่นั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งอัยการ หรือตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็จะร่วมกันพิจารณาก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกกพ.ในวันที่ 5 เม.ย.นี้ ซึ่งกกพ.จะต้องพิจารณาตัดสินใจให้แล้วเสร็จก่อนจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 เม.ย.นี้
อนึ่ง กกพ.ได้ออกออกประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ โดยการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวมีปริมาณรวมไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ แบ่งการรับซื้อเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจำนวน 600 เมกะวัตต์ แต่ได้เลื่อนการประกาศคัดเลือกผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นและการจับสลากคัดเลือกผู้ดำเนินโครงการออกไปก่อน หลังจากที่ต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากที่ผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติจำนวน 385 รายได้มายื่นขอตรวจสอบข้อมูลถึงสาเหตุที่ไม่ผ่านการพิจารณา โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผังเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมถึงเจ้าของโครงการที่เป็นส่วนราชการหลายหน่วยงานติดขัดเรื่องพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
ขณะที่ล่าสุดราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการหรือกิจการที่ได้รับการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภทตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จึงออกประกาศหลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการ หรือกิจการที่ได้รับการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองที่มีผลใช้บังคับอยู่แล้วในวันที่ 20 มกราคม 2559 และที่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2560 ดังนี้
1. โครงการภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015)
1.1 โครงการโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแผน PDP 2015 จำนวน 22 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา รวมทั้งสิ้น 20,149 เมกะวัตต์
1.2 โครงการโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ตามแผน PDP 2015 จำนวน 7 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา รวมทั้งสิ้น 6,470 เมกะวัตต์
1.3 โรงไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดเล็กมากของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเอกชน ตามแผน PDP 2015 กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา รวมทั้งสิ้น 4,159.2 เมกะวัตต์
1.4 คลังน้ำมันที่เก็บน้ำมันเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือเชื้อเพลิงสำรองสำหรับโรงไฟฟ้า ตาม 1.1 1.2 และ 1.3
ทั้งนี้ โครงการตาม 1.2 1.3 และ 1.4 ต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ว่าเป็นโครงการที่อยู่ในแผน PDP 2015
2. โครงการภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015)
2.1 โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ที่ดำเนินการตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จำนวน 5 โครงการ ซึ่งจะต้องเป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าแล้ว หรือเป็นโครงการที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าแล้วและสัญญายังมีผลอยู่ หรือเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์เกี่ยวกับผังเมือง หรือเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือก หรือเป็นโครงการที่จะดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าหรือเป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี
2.2 โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อใช้เองหรือจำหน่ายให้กับลูกค้าตรง
2.3 โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล
2.4 โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ตลอดจนระบบคลังที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การส่งและการจำหน่าย ได้แก่ เอทานอล ไบโอดีเซล น้ำมันไพโรไลซิส ก๊าซไบโอมีเทนอัด และเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น
ทั้งนี้ โครงการตาม 2.2 2.3 และ 2.4 ต้องได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลงงานว่าเป็นโครงการที่อยู่ในแผน AEDP 2015
3. โครงการภายใต้แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ.2558-2579 (Gas Plan 2015)
โครงการผลิต เก็บรักษา และแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ (LNG Station and Receiving Terminal) รวมส่วนควบต่างๆ เช่น ท่าเรือ และกระบวนการผลิตและสนับสนุนการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น และต้องได้รับการรับรองจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ว่าเป็นโครงการที่อยู่ในแผน Gas Plan 2015
เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีระบบและไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โครงการภายใต้แผนข้างต้น จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ต้องไม่ตั้งอยู่บนพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่สงวนไว้เพื่อระบายน้ำ เขตพระราชฐาน และพื้นที่เขตอนุรักษ์น้ำดิบเพื่อการประปา
2. ต้องมีมาตรการที่รัดกุมในการรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชน
3. ต้องดำเนินการตามข้อบังคับ กฎระเบียบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด อาทิ กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เป็นต้น
สำหรับบัญชีแนบท้าย ตามข้อ 2.1 นั้น โครงการหรือกิจการที่ได้รับการยกเว้น ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015)
โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จำนวน 5 โครงการ
1. โครงการในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันกับภาครัฐแล้ว ตามแผน AEDP 2015
2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับผู้ที่ยื่นขอขายไฟฟ้าไว้ในระบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) เดิม ซึ่งเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าไม่ทันภายในปี 2558 เฉพาะกรณีติดผังเมือง
3. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2558
4. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff พ.ศ. 2558 (ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา)
5. โครงการที่จะดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าตามแผน AEDP 2015 และนโยบายรัฐในโอกาสต่อไป ได้แก่
5.1 โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในแบบ Feed-in Tariff พ.ศ. ….. (ระยะที่ 2 สำหรับทั่วประเทศ)
5.2 โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม
5.3 โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะชุมชน
5.4 โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. …. ระยะที่ 2