ประชามติบนความสิ้นหวังทายท้าวิชามาร

หลัง กรธ.ยอมแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้มี ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้ง 5 ปี แม้ไม่ให้อำนาจลงมติไว้วางใจรัฐบาล แม้กำหนด “นายกฯ คนนอก” ต้องผ่านมติ 2 ใน 3 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา แต่ สปท.ก็หาทางออกไม่ยาก ให้ตั้งคำถามประชามติประกบร่าง “เห็นด้วยหรือไม่ ให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ”


ใบตองแห้ง

 

หลัง กรธ.ยอมแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้มี ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้ง 5 ปี แม้ไม่ให้อำนาจลงมติไว้วางใจรัฐบาล แม้กำหนด “นายกฯ คนนอก” ต้องผ่านมติ 2 ใน 3 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา แต่ สปท.ก็หาทางออกไม่ยาก ให้ตั้งคำถามประชามติประกบร่าง “เห็นด้วยหรือไม่ ให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ”

ถ้า สนช.เห็นชอบคำถามนี้ นำไปลงประชามติแล้วผ่านทั้งร่างและคำถาม รัฐธรรมนูญก็จะถอยหลังไปยิ่งกว่ายุคสุจินดา “สืบทอดอำนาจ” เพราะสุจินดายังเป็นนายกฯ คนนอกโดยการเลือกของ ส.ส. แต่นี่นายกฯ คนนอกจะอาศัยฐานเสียง ส.ว.ที่สรรหาและแต่งตั้งโดย คสช.

เพียงแต่ท่านห้ามเรียกว่า “สืบทอดอำนาจ” ใครเรียกโดนปรับทัศนคติ ก็เลยไม่รู้จะเรียกอะไร

ขณะเดียวกัน ทั้งที่จะทำประชามติอยู่แล้ว คสช.กลับใช้อำนาจเข้มข้น ประกาศหลักสูตรเรียกคนเห็นต่าง “อบรม” ห้ามจัดกิจกรรม ห้าม “บิ๊กจิ๋ว” แถลงข่าว จับ “ขันแดง” เป็นภัยความมั่นคง ใครรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็แหย่ขาเข้าคุกไปข้าง เพราะถูกตีความว่า ตัวเองไม่รับได้แต่ห้ามชักชวนคนอื่น

ด้วยรัฐธรรมนูญอย่างนี้ ด้วยท่าทีอย่างนี้ เห็นชัดว่า คสช.กำลังบอกประชาชนว่า ถึงอย่างไรก็จะควบคุมประเทศต่อไปในระยะ “เปลี่ยนผ่าน” อย่างน้อยอีก 5 ปี ไม่ว่าพวกคุณโหวตรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผลออกมาอย่างไรไม่ต่างกัน อำนาจ คสช.ยังเข้มแข็งมั่นคง ถ้ารับร่าง ก็รออีกปีมีเลือกตั้ง แล้วมีนายกฯ คนนอก ถ้าไม่รับร่าง คสช.ก็ร่างเอง โดยอาจ “โหดกว่า” อย่างที่มีชัยเคยพูดไว้ แต่ก็จะมีเลือกตั้งใน 1 ปีเช่นกัน ตามที่ให้คำมั่นไว้กับนานาชาติ

พูดง่ายๆ ท่านกำลังบอกประชาชนว่า ถึงอย่างไรท่านก็ไม่ลงจากอำนาจ อย่ามาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเสียให้ยาก ต่อให้แพ้ประชามติถล่มทลาย ท่านก็ไม่แยแส

ที่จริงแยแสนะครับ และมีผลสะเทือนอย่างรุนแรงต่อการควบคุมอำนาจต่อไป เพียงแต่ท่านกำลังบอกว่าถึงไม่ผ่านก็ไม่มีใครทำอะไรได้ ในเมื่อกองทัพเป็นปึกแผ่น คนชั้นนำคนระดับบนสามัคคีกันเหนียวแน่น มีสื่อ นักวิชาการ และคนชั้นกลางเป่านกหวีดสนับสนุน

แล้วท่านก็ไม่แยแสด้วยว่า ใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ใครจะว่าทำประชามติแบบนี้ไม่แฟร์ ฯลฯ เพราะใครวิจารณ์อาจโดนเข้าค่าย 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ซึ่งมีกรุงเทพโพลล์เชียร์)

เพราะถ้าประชามติครั้งนี้ผ่าน ไม่ว่ามีคนต่อต้านมากเพียงไร ไม่ว่าถูกวิจารณ์แค่ไหน ก็ถือเป็นพันธะผูกมัด ให้ คสช.ควบคุมประเทศต่อได้อีก 1+5 ปี โดยไม่จำเป็นที่นายกฯ คนนอกจะชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประชามติครั้งนี้ต่างจากปี 50 ตรงที่ปี 50 เปิดกว้างกว่า อาศัยกลเม็ดหลอกล่อ “รับรัฐธรรมนูญเลือกตั้งเร็ว” “รับไปก่อนแก้ทีหลัง” จะได้รีบกลับสู่ประชาธิปไตย แต่ประชามติครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการบอกว่าถึงอย่างไรคนไทยก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย (ต้องรออีก 2 เจนเนอเรชั่น) จะรับไม่รับก็หนีไม่พ้น คสช. จะเอาอย่างโหดหรือจะเอาอย่างโหดกว่า จะเอา คสช.เต็มใบหรือ คสช.ครึ่งใบ จะยอมกันดีๆ หรือจะให้กลับไปร่างเอง อยู่อย่างนี้เดี๋ยวโดนปรับทัศนคติไม่หยุดหย่อนนะ ฯลฯ

พูดอีกอย่างคือเป็นประชามติบนบรรยากาศสิ้นหวัง อับจน แล้วก็ชวนว่าหยวนยอมเสียดีกว่า ยังไงๆ ก็ไม่แย่ไปกว่านี้แล้ว เดี๋ยวก็ชินไปเอง

 

Back to top button