ได้เวลาบาทอ่อนพลวัต 2016
ต่างชาติทำท่าซื้อบาทเมื่อเปิดตลาดเช้าวานนี้ จนค่าบาทแข็งเกือบหลุดไปใต้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่พอถึงตอนบ่ายและค่ำ การเทขายบาทไปถือดอลลาร์กลายเป็นงานหลัก จนบาทอ่อนยวบไปเกือบ 35.20 บาท และมีเค้าว่าจะอ่อนต่อ โดยไม่ต้องรอให้แบงก์ชาติไทยเข้าแทรกเหมือน 2 สัปดาห์ก่อนหน้า
วิษณุ โชลิตกุล
ต่างชาติทำท่าซื้อบาทเมื่อเปิดตลาดเช้าวานนี้ จนค่าบาทแข็งเกือบหลุดไปใต้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่พอถึงตอนบ่ายและค่ำ การเทขายบาทไปถือดอลลาร์กลายเป็นงานหลัก จนบาทอ่อนยวบไปเกือบ 35.20 บาท และมีเค้าว่าจะอ่อนต่อ โดยไม่ต้องรอให้แบงก์ชาติไทยเข้าแทรกเหมือน 2 สัปดาห์ก่อนหน้า
แล้วก็ไม่แปลกที่ค่าเงินบาทอ่อน จะสัมพันธ์กันอย่างดีกับการที่ต่างชาติกลายเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหุ้น และตราสารหนี้ของไทยอย่างชัดเจนบ่ายวานนี้ โดยที่ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 927 ล้านบาท (ซื้อ 21% ขาย 23%) และ ขายล่วงหน้าในตลาด TFEX มากถึง 3,917 สัญญา
ท่าทีของต่างชาติ ส่งสัญญาณชัดว่า มีการถอนตัวออกจากตลาดไทยชั่วคราว ในช่วงก่อนและระหว่างวันหยุดของเทศกาลสงกรานต์ ส่วนจะกลับมาอีกครั้งหลังสงกรานต์หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบ
ท่าทีของกองทุนต่างชาติไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะสุ้มเสียงของกองทุนเก็งกำไรในตอนบ่ายของวานนี้เริ่มเปลี่ยนไปจากกระแสของการหันกลับมาถือเงินดอลลาร์ครั้งใหม่ หลังจากที่ดอลลาร์อ่อนลงอย่างมากในรอบหลายปี จนเกิดแรงเหวี่ยงว่าการเข้าซื้อดอลลาร์ยามถูกเช่นนี้ จะสร้างกำไรมหาศาลในระยะข้างหน้าไม่ไกลนัก
ผลลัพธ์ก็คือ เงินทุนเก็งกำไรที่ไหลเข้ามาในเอเชียนับแต่เดือนมกราคมเริ่มหมดเสน่ห์ลงไปกะทันหัน โดยการกลับทิศของกองทุนเก็งกำไรค่าเงินเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง (ตามเวลาประเทศไทย) เมื่อช่วงเช้า ดอลลาร์อ่อนค่าลงในการซื้อขายช่วงแรกของตลาดเอเชีย เพราะกองทุนยังคงเชื่อมั่นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟดฯ) จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้มีการประกาศตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งในสัปดาห์ที่แล้ว
สถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนไปเมื่อ ค่าดอลลาร์เทียบสกุลเงินเอเชียในเวลาต่อมา เมื่อนักวิเคราะห์ของวาณิชธนกิจใหญ่ โกลด์แมน แซคส์ ออกคำชี้แนะว่า ถึงเวลาที่จะต้องขายเงินสกุลเอเชียที่เป็นหลักและรองได้แล้ว เนื่องจากการวิ่งขึ้นยาวนาน 2 เดือนนับแต่มกราคม น่าจะจบสิ้นเสียที เมื่อพิจารณาจากพื้นฐานเศรษฐกิจของชาติในเอเชียที่ยังคงเปราะบางจากการส่งออกที่ย่ำแย่ลงและเศรษฐกิจที่มีปัญหาเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องหลายประเทศ รวมถึงการที่ S&P ประกาศลดอันดับเครดิตฮ่องกง จีน และ สิงคโปร์
นักวิเคราะห์โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า การแข็งขึ้นของค่าเงินสกุลในเอเชียที่ดีสุดในรอบ 9 เดือน (หากนับรายเดือนก็แข็งสุดในรอบ 7 ปี ควรถึงเวลาสิ้นสุดลงได้แล้ว เริ่มตั้งแต่เงินเยน และหยวน เพราะเศรษฐกิจที่ถดถอยของทั้งสองประเทศ (แม้จะมีเสียงโต้แย้งว่าเกินจริง) จะฉุดให้ค่าเงินทั้ง 2 สกุลตกต่ำลง
สำหรับค่าเงินแข็งเกินพื้นฐานในเอเชีย นักวิเคราะห์ระบุว่า มีตั้งแต่ค่าเงินบาทของไทย เงินวอนของเกาหลีใต้ ไต้หวันดอลลาร์ หยวนจีน และริงกิตของมาเลเซีย หลังจากที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มรีบาวด์กลับจากจุดต่ำสุด รวมทั้งกระแสเงินไหลเข้าจากการทิ้งดอลลาร์เมื่อเฟดฯยืนยันท่าทีไม่เร่งร้อนขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ แต่ค่าเงินที่แข็งเกินจริง สวนทางกับเศรษฐกิจที่ยังไม่ยอมฟื้นตัว ทำให้ชาติที่ยังคงควบคุมค่าเงินมีแนวโน้มที่จะหาทางลดค่าเงินระลอกใหม่ และชาติที่ปล่อยเงินลอยตัวก็จะทำการแทรกตลาด เพื่อให้ค่าเงินอ่อนลงเป็นระยะๆ แบบที่ธนาคารกลางของไทยได้กระทำอยู่ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
ค่าเงินที่นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า จะต้องอ่อนตัวลงอย่างแรงในปีนี้ ประกอบด้วยเงินเยนที่คาดว่าจะอ่อนลงจากระดับปัจจุบัน 111 เยนต่อดอลลาร์ ไปที่ระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ หรือลดลง 14% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่วนเงินภายในก็ถูกคาดหมายว่าจะร่วงลง 7.4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินวอนของเกาหลีใต้ คาดว่าจะร่วงลงไป 12% เมื่อเทียบกับดอลลาร์
แม้ตลาดจะไม่ได้เห็นพ้องกับคำชี้แนะของโกลด์แมน แซคส์ทั้งหมด เพราะว่า กองทุนของซิตี้แบงก์ ซึ่งเป็นเทรดเดอร์รายใหญ่ระดับหัวแถวของโลก กลับมองว่าเร็วเกินไปที่จะซื้อดอลลาร์กลับมาอีกครั้ง ตราบใดที่เฟดฯยังไม่ใส่ใจ กับการเร่งขึ้นดอกเบี้ยระลอกใหม่ แต่สัญญาณลบดังกล่าวก็มีเสียงขานรับพอสมควรว่าตลาดอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ไม่ได้พึ่งพาปัจจัยจากเฟดฯ อย่างเดียวเสมอไป
การถอนตัวของกองทุนเก็งกำไรในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเอเชียกลับไปถือดอลลาร์ ยังไม่ชัดเจนว่า เป็นไปเพราะสาเหตุชั่วคราวหรือระยะกลางจากพื้นฐานของเศรษฐกิจในเอเชียหรือไม่ แต่สัญญาณดังกล่าว ก็ใช่ปัจจัยบวกในระยะสั้นสำหรับตลาดหุ้นเอเชียยามนี้มากนัก
ความแปรปรวนของตลาดหุ้นเอเชีย ทั้งในระหว่างวัน และข้ามวัน หรือ ระหว่างสัปดาห์ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องติดตามกันต่อไป ด้วยขวัญกระเจิงที่ชวนหวาดผวาง่ายเกินระดับปกติ
เงินบาทที่แข็งค่ามานานนับเดือนก็คงต้องถึงเวลาที่จะต้องอ่อนยวบ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ เพราะความจริงแล้ว มันควรจะเป็นเช่นนั้นมานาน หากพิจารณาจากพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ที่ยังคงคาดว่าจะย่ำอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพียงแต่ที่ผ่านมาถูกกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาทำให้ผิดธรรมชาติไป
จากนี้ไป คงได้เวลากลับสู่สามัญเสียที พร้อมกับยอมรับข้อเท็จจริงของชีวิตบางส่วน แม้จะไม่ทั้งหมดเพราะความดื้อรั้นส่วนตัวของใครบางคน ที่ไม่เหมาะจะเป็นนักลงทุน