หุ้นโรงกลั่นน้ำมันลูบคมตลาดทุน
หุ้น SPRC หรือ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ราคาแม้จะผ่านไอพีโอ 9.00 บาท
ธนะชัย ณ นคร
หุ้น SPRC หรือ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ราคาแม้จะผ่านไอพีโอ 9.00 บาท
ทว่าก็ยังไปไหนไม่ไกล
อย่างวานนี้ราคาปิด 10.90 บาท ขณะที่ราคาเป้าหมายเฉลี่ยของโบรกฯ อยู่ประมาณ 13.50–14.00 บาท ต่อหุ้น
จริงแล้วผู้ถือหุ้นใหญ่ SPRC อย่างกลุ่มเชฟรอนนั้น ส่วนตัวผมไม่แน่ใจว่าเขาต้องการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือเปล่า
แต่หากไปพลิกดูตามกติกาของทางการไทยแล้ว
หุ้น SPRC ต้องเข้าตลาดหุ้น และควรจะเข้ามาก่อนหน้านี้ตั้งนานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เข้าสักที
กระทั่งมาเข้าเทรดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2558 นั่นแหละ
การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น SPRC ในช่วงแรก ยังคงต่ำกว่าไอพีโอ แต่หลังจากนั้น ราคาก็ค่อยๆ ปรับขึ้นกระทั่งมาอยู่เหนือไอพีโอได้สักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะร่วงลงไปต่อ
ล่าสุด ราคาได้กลับมายืนเหนือไอพีโออีกครั้งเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ และก็ยังยืนเหนือไอพีโอมาได้
ในปี 2558 หุ้น SPRC มีกำไรสุทธิ 8,227 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่ขาดทุนสุทธิ 6,367 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มปีนี้ เห็นโบรกฯ มองกันว่า ผลประกอบการน่าจะดีขึ้น
ส่วนราคาหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้นตามหรือเปล่า ก็ต้องมานั่งลุ้นกัน
หุ้นโรงกลั่นน้ำมันอีกตัวที่ราคาดิ่งมาโดยตลอดตามผลประกอบการ และสร้างความน่าผิดหวังมากๆ คือ ESSO หรือ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ย้อนกลับไปดูผลประกอบการในช่วง 4 ปี ย้อนหลัง ปรากฏว่า ปี 2554–2557 ขาดทุนสุทธิมาโดยตลอด มากบ้างน้อยบ้างสลับกันไป
แต่ในปี 2558 เริ่มมีกำไรกลับมากว่า 1,700 ล้านบาท
ผลประกอบการที่ขาดทุนในปีก่อนหน้านี้ เช่นปี 2557 ก็อาจพอเข้าใจได้ว่า มาจากวิกฤตการณ์น้ำมันในตลาดโลก มีราคาหล่นอย่างรุนแรง ทำให้ขาดทุนสต๊อกน้ำมันกันถ้วนหน้า
ส่วนปีก่อนๆ หน้าปี 2557 นั้น เหตุผลก็แตกต่างกันไป
ESSO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2551 ราคาจองซื้อ หรือไอพีโอ อยู่ที่ 10.00 บาท ต่อหุ้น
ราคาหุ้นวานนี้ปิด 5.20 บาทต่อหุ้น และราคาหุ้นก็อยู่ในระดับนี้มาตั้งนานแล้ว
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเบาบาง ส่วนวานนี้อยู่ประมาณ 6-7 ล้านบาท เท่านั้น
มีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นโรงกลั่นน้ำมันอย่าง ESSO และ SPRC
และเหตุใดผลประกอบการ และราคาหุ้นของหุ้น 2 ตัวดังกล่าวถึงได้แตกต่างกับหุ้นโรงกลั่นน้ำมันเช่นเดียวกัน อย่าง BCP หรือบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ TOP หรือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน)
ทั้ง BCP และ TOP ต่างมีผลประกอบการเป็นบวกมาโดยตลอด ทั้งที่รูปแบบของธุรกิจก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก
TOP อาจมีปัญหาสะดุดนิดหน่อยในปี 2557 จากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน
แต่ในปี 2558 กำไรสุทธิก็สามารถดีดตัวขึ้นมาได้ และมาอยู่ที่ 12,181 ล้านบาท
ส่วน BCP ก็มีกำไรสุทธิ 4,150 ล้านบาท
มีการตั้งคำถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่โรงกลั่นน้ำมันข้ามชาติ ตั้งใจให้ผลประกอบการออกมาแบบนี้
เช่น อาจจะสร้างแผนการลงทุนไปเรื่อยๆ
โดยเงินที่นำมาลงทุนก็มาจากผลกำไร และอีกส่วนหนึ่งก็กู้ยืมเงินมาจากบริษัทแม่ แล้วก็บันทึกไปเป็นการลงทุนเพิ่มเติม โน่นนี่นั่น ฯลฯ ว่ากันไป
หากทำแบบนั้นจริงๆ ก็เท่ากับว่า มองข้ามหัวรายย่อยไปเลย
แต่ส่วนตัว ผมว่าไม่น่าจะเป็นแบบนั้นหรอก