พาราสาวะถี อรชุน

ตั้งคำถามตัวโตๆ ไปถึงคสช.ต่อจุดยืนที่ย้ำมาโดยตลอด การกล่าวหาเรื่องใดๆ ต้องมีข้อมูลหลักฐาน มิเช่นนั้น จะถือเป็นการปลุกปั่นสร้างความแตกแยก ถ้าเช่นนั้นก็ต้องฝาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสั่งการไปยังผู้มีหน้าที่รับผิดชอบหน่อยว่า ให้ตรวจสอบหรือเรียก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ที่บอกว่าเริ่มมีบางพรรคการเมืองเคลื่อนไหวต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ พรรคดังว่านั้นเป็นพรรคใดและเคลื่อนไหวอย่างไร


ตั้งคำถามตัวโตๆ ไปถึงคสช.ต่อจุดยืนที่ย้ำมาโดยตลอด การกล่าวหาเรื่องใดๆ ต้องมีข้อมูลหลักฐาน มิเช่นนั้น จะถือเป็นการปลุกปั่นสร้างความแตกแยก ถ้าเช่นนั้นก็ต้องฝาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสั่งการไปยังผู้มีหน้าที่รับผิดชอบหน่อยว่า ให้ตรวจสอบหรือเรียก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ที่บอกว่าเริ่มมีบางพรรคการเมืองเคลื่อนไหวต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ พรรคดังว่านั้นเป็นพรรคใดและเคลื่อนไหวอย่างไร

อย่าเพียงแค่สร้างวาทกรรมแล้วกล่าวหาเหมือนอย่างที่พรรคการเมืองบางพรรคถนัดและสร้างตราบาปให้คนมานักต่อนักแล้ว ตั้งแต่เหตุการณ์ตะโกนในโรงหนังกล่าวหา ปรีดี พนมยงค์ จนมาถึง จำลองพาคนไปตาย ยิ่งคนที่มีหัวโขนเป็นถึงประธานกรธ.ต้องระบุให้ชัดว่า พรรคที่ว่านั้นมีพฤติกรรมอย่างไร เคลื่อนไหวอย่างนี้ต้องมีความผิดอย่างแน่นอน

เพราะประการหนึ่งคือ คสช.สั่งห้ามไม่ให้มีการประชุมหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เมื่อกล่าวหาเช่นนี้หมายความว่าพรรคการเมืองนั้นกำลังขัดคำสั่งย่อมต้องดำเนินการให้เด็ดขาด หากคนที่กล่าวหาไม่มีข้อมูลใดมายืนยัน เช่นนี้จะถือว่าเป็นการสร้างข่าวเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคการเมือง เป็นการจุดชนวนความขัดแย้งใช่หรือไม่

เช่นเดียวกับกรณีที่ วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า มีการระดมทุนเพื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ยิ่งเป็นสิ่งที่บิ๊กตู่จะต้องสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงเร่งประสานขอข้อมูลเพื่อไปดำเนินการโดยด่วนเพราะถือเป็นเจตนาที่จะทำลายล้างกระบวนการทำประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้น ความเคลื่อนไหวถึงขั้นระดมทุนนั้นต้องยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมากล่าวหากันแบบพล่อยๆ ได้

ในเมื่อเวลานี้กฎหมายประชามติยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็ต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ดำเนินการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปก่อน การที่ท่านผู้นำแสดงความไม่พอใจต่อการไปต่อต้านการปาฐกถาของมีชัยของบรรดานักเรียนนักศึกษา นั่นหมายความว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ ใครแตะต้องไม่ได้ เช่นนั้น การที่มีคนระดมทุนเพื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญย่อมถือเป็นความผิดร้ายแรงต้องเร่งจัดการให้เด็ดขาด

แต่ในทางกลับกัน ถ้าคนที่กล่าวหาไม่มีข้อมูลใดๆ มายืนยัน บอกแต่เพียงว่าได้ข่าวมา ก็ถามผู้มีอำนาจต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะนี่เท่ากับเป็นการกล่าวหาบุคคลอื่นโดยไร้หลักฐานและมุ่งหวังสร้างความแตกแยกอย่างชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังชี้เป้าไปชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยและนปช.จ้องที่จะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการสร้างความแตกแยก

ดังนั้น ข้อกล่าวหาของหัวหน้าทีมกฎหมายและคำพูดของหัวหน้าพรรคย่อมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นดัชนีชี้วัดคำพูดของท่านผู้นำและผู้มีอำนาจว่าบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มคนที่พูดเพื่อสร้างความแตกแยกไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ แน่นอนว่า พฤติกรรมก็ไม่แตกต่างจากที่ถูกวิจารณ์ต่อการปฏิบัติกับพุทธะอิสระและกลุ่มพระสงฆ์อีกพวกที่เคลื่อนไหวในเรื่องเดียวกัน

จากพฤติกรรมดังว่า น่าจะสอดคล้องกับจดหมายเปิดผนึกที่ ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนถึง ธีรยุทธ บุญมี อดีตอาจารย์คณะเดียวกันที่เพิ่งกล่าวปัจฉิมปาฐกถาในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่สถาบันเอเชียศึกษาเมื่อวันก่อน โดยเจ้าตัวมองว่า อดีตคนเดือนตุลาฯรายนี้ยังคงสนับสนุนทิศทางของประเทศที่ไปคนละทิศกับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน

ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ธีรยุทธใช้วิชาชีพมานุษยวิทยาในการผลักให้สังคมไทยไม่เพียงหันเหออกไปจากเส้นทางของประชาธิปไตย แต่ยังต้องตกไปสู่หุบเหวของอำนาจเผด็จการทหาร นี่เป็นอีกครั้งที่ธีรยุทธไม่ได้ใช้โอกาสที่มีมากกว่าหลายๆ คน ช่วยเตือนสติผู้มีอำนาจให้เคารพอำนาจของประชาชน เคารพบุญคุณที่ประชาชนเลี้ยงดูเขามา

แม้จะเสนอปัญหาข้อสำคัญของสังคมไทยว่าเป็นปัญหาเรื่องความอยุติธรรม แต่ก็โยนความผิดให้นักการเมืองฝ่ายเดียว ส่วนกับข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการทหาร แม้แต่จะกล่าวถึงความฉ้อฉลของทหารในอดีต ธีรยุทธก็ยังไม่กล้า ส่วนความฉ้อฉลของทหารในปัจจุบันคงไม่ต้องกล่าวถึง เรื่องบัดสีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งผู้คนในครอบครัวรับตำแหน่ง การเข้าไปรับตำแหน่งกรรมการบริหารองค์กรต่างๆ หรือเรื่องด่างพร้อยที่หาทางกลบเกลื่อนกันไปอย่างหน้าด้านๆ ธีรยุทธก็หลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึง

สิ่งที่ประหลาดยิ่งไปกว่านั้นคือ ธีรยุทธเข้าใจว่าปัญหาของประเทศในยามนี้คือความอยุติธรรม แต่กลับไม่สนใจความอยุติธรรมที่คณะรัฐประหารสร้างขึ้นมา บรรดาการใช้อำนาจซึ่งชาวโลกเขาประณามกันทุกเมื่อเชื่อวันตลอดระยะเวลาจนจะสองปีแล้ว ไม่สมควรนับว่าเป็นความอยุติธรรมที่ก่อปัญหากับสังคมไทยหรอกหรือ

ภายใต้อำนาจเผด็จการเหล่านี้ คิดว่าจะเกิดการปฏิรูปให้เกิดความยุติธรรมได้หรือ การปิดปากประชาชน ปิดปากนักการเมือง คุกคามสื่อมวลชน ด้วยอำนาจเผด็จการเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานที่ดีให้เกิดความยุติธรรมได้หรือ การที่มีเพียงคนแบบธีรยุทธกับบรรดาทหาร ที่สามารถพูดอย่างไรก็ได้โดยไม่เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาจากผู้ที่เห็นต่าง จะก่อให้เกิดการปฏิรูปที่นำมาซึ่งสังคมที่ยุติธรรมได้อย่างไร 

ไม่เพียงไม่วิจารณ์การกระทำเหล่านั้นของทหาร แต่ธีรยุทธยังส่งเสริมระบอบรัฐประหารให้เดินหน้าการปฏิรูปต่อไป ให้กระทำอย่างเร่งด่วนไม่ต้องขยายเวลาไปอีกนาน แล้วยังเสนอกระบวนการที่ปูทางให้เกิดระบอบอภิสิทธิ์ชน นำข้อเสนอจากรายชื่อบุคคลที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองจากประชาชน แล้วนี่เป็นระบบที่แสดงความศรัทธาต่อชาวบ้านอย่างไร

ขณะที่ชาวบ้านที่ต่อต้านการรัฐประหาร เป็นชาวบ้านที่อยู่ใต้ระบบความอยุติธรรม ความเห็นของคนเหล่านี้ไม่น่ารับฟังเพราะล้วนตกอยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมืองอย่างนั้นหรือ แล้วจะมีกระบวนการอย่างไรให้คนเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมถ้าไม่ยกเลิกอำนาจของคณะรัฐประหารไปโดยเร็วเสียที 

สิ่งที่เป็นข้อกังขาของยุกติในฐานะลูกศิษย์ของธีรยุทธก็คือ ในระหว่างที่สังคมไทยกำลังครุกรุ่นด้วยปัญหารุมเร้าต่างๆ นานา ก็มีนักวิชาการที่นิยมเผด็จการเสนอหน้ากันออกมาปกป้องประคับประคองการรัฐประหาร เพียงแต่ไม่นึกเลยว่านักวิชาการคนแรกๆที่ จะต้องกล่าวถึงว่าเป็นนักมานุษยวิทยาที่พยายามประคับประคองเผด็จการทหารก็คือธีรยุทธนั่นเอง จริงๆ แล้วยุกติคงลืมไปแล้วว่าอาจารย์ที่ตัวเองเคารพนั้นเขาเลิกสวมเสื้อกั๊กอุดมการณ์หันไปใส่สูทกลางกระเท่เร่มาตั้งนานแล้ว

Back to top button