พาราสาวะถี อรชุน

ยิ่งกดทับยิ่งต่อต้าน ยิ่งห้ามยิ่งอยากรู้อยากเห็น เป็นปกติวิสัยของมนุษย์ ที่ยกเอาประเด็นนี้มากล่าวถึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่คสช.ไม่อนุญาตให้ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส เว็บไซต์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ไปร่วมงานวันเสรีภาพสื่อโลก หรือ World Press Freedom Day ซึ่งจัดโดยยูเนสโก ที่ประเทศฟินแลนด์ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคมนี้


ยิ่งกดทับยิ่งต่อต้าน ยิ่งห้ามยิ่งอยากรู้อยากเห็น เป็นปกติวิสัยของมนุษย์ ที่ยกเอาประเด็นนี้มากล่าวถึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่คสช.ไม่อนุญาตให้ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส เว็บไซต์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ไปร่วมงานวันเสรีภาพสื่อโลก หรือ World Press Freedom Day ซึ่งจัดโดยยูเนสโก ที่ประเทศฟินแลนด์ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคมนี้

จนล่าสุดองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนหรือ RSFประณามต่อการตัดสินใจดังกล่าว โดย เบนจามิน อิสมาอิล หัวหน้าแผนกเอเชีย-แปซิฟิกของ RSF ระบุว่า เป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะมีผลกระทบตามมา มันเป็นไปได้มากว่าเขาจะสามารถเข้าร่วมการประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์หรืออีเมล์คำปราศรัยหรือแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษไปยังยูเนสโกที่เฮลซิงกิ

ขณะที่ RSF ก็จะแปลสิ่งที่ประวิตรพูดเป็นภาษาฝรั่งเศสและไทย และจะใช้เครือข่ายที่มีอยู่ในการกระจายเนื้อหาเหล่านี้ไปยังสื่อมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย และหากเป็นไปได้ ก็จะใช้มันเพื่อรณรงค์ถึงการตระหนักในเสรีภาพทางข้อมูลข่าวสาร เพื่อจะให้รัฐบาลทหารและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาล ได้รับบทเรียนจากปรากฏการณ์สไตรแซนด์ หรือ Streisand effect

สำหรับปรากฏการณ์สไตรแซนด์นั้น หมายถึงปรากฏการณ์ที่ความพยายามในการปกปิดข้อมูลหรือความเห็น ส่งผลกลับตาลปัตร กลายเป็นทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้น ชื่อปรากฏการณ์นี้มาจากชื่อของนักร้องชาวสหรัฐฯ บาร์บารา สไตร์แซนด์ ที่ฟ้องคดีกับช่างภาพในปี 2546 ด้วยข้อกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากการที่ภาพถ่ายชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะของเขามีบ้านพักของเธอติดไปด้วย โดยคดีดังกล่าวส่งผลให้คนอเมริกันกว่า 500,000 คนได้เห็นภาพบ้านที่เธออยากจะปกปิด

กรณีประวิตรถูกห้ามนั้น องค์กรนักเขียนสากล ฟินแลนด์ ออกแถลงการณ์ร่วมกับองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ฟินแลนด์ มูลนิธิสื่อและการพัฒนาฟินแลนด์และสหภาพสื่อฟินแลนด์ แสดงความผิดหวังไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยชี้ว่า การที่นักข่าวจะไปร่วมงานวันเสรีภาพสื่อโลกไม่ได้ทำให้เกิดภัยคุกคามอะไรแก่ประเทศบ้านเกิดของเขาเลย การห้ามนี้เป็นการลงโทษต่อตัวบุคคลและเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก

แต่เข้าใจว่าสื่อนอกหรือแม้กระทั่งคนที่ยังกังขาน่าจะกระจ่างชัดเสียทีเมื่อได้เห็นกรณีขันแดง ปฏิบัติการณ์อันสะเทือนเลื่อนลั่น ขันแดงเป็นภัยต่อความมั่นคง ไปจนถึงขั้นจะนำเอาอดีตส.ส.น่าน 3 รายของพรรคเพื่อไทยไปปรับทัศนคติ สีแดงกลายเป็นสีสัญลักษณ์แห่งความขัดแย้ง การเขียนภาพมายาเช่นนี้ คงไม่ต้องมองถึงภาพความเข้มข้นในการกวดขันต่อขบวนการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในห้วงเวลาการทำประชามติ

ทว่าจะโทษผู้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะในขณะที่เกิดการตีความที่ชวนให้คนส่ายหน้านั้น ยังมีคนอีกพวกหนึ่งซึ่งถูกหวยรัฐประหารมาโดยตลอดได้ออกมาแสดงการสนับสนุนด้วยสารพัดวิธี หลับหูหลับตาเห็นดีเห็นงามไปกับทุกเรื่อง เป็นการแสดงความเชื่อง แสนรู้ หวังให้ผู้มีอำนาจแลเห็นเพื่อจะได้กลับมาอีกหนในโควตาลากตั้งหรืออาจจะได้ดิบได้ดีมากไปกว่านั้น

กล่าวสำหรับปมของกลุ่มเคลื่อนไหวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจและพวกเชลียร์คงปักใจเชื่อและปักหมุดไปแล้วว่า มีแต่นักการเมืองและพรรคการเมืองที่ไม่เอาระบอบเผด็จการรัฐประหาร ดังนั้น จึงต้องสร้างกลไกเข้มข้นมาตั้งป้อมจัดการ โดยลืมไปว่า ยังมีคนอีกพวกที่ไม่ได้ถูกใครชี้นำนั่นก็คือ บรรดานักวิชาการที่ปฏิเสธอำนาจที่ไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยมาโดยตลอด

ล่าสุด สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนคนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย แสดงจุดยืน แม้จะเห็นว่าการทำประชามติเป็นเพียงพิธีกรรมที่สร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหาร แต่ประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารก็ควรจะไปใช้สิทธิ์ด้วยการ Vote No

เพราะแม้สุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านและนำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ประชาชนที่ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังมีสิทธิ์และมีความชอบธรรมที่จะต่อต้านรัฐธรรมนูญต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม คาดเดาได้ยากว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ที่แน่ๆก็คืออนาคตทางการเมืองไทยยังไม่มีความชัดเจนและฝ่ายประชาธิปไตยยังต้องสู้กัน

นั่นเป็นความจริงที่คงอยู่มาโดยตลอดโดยเฉพาะในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ แต่ที่จะแย้งจากมุมความเห็นของสมชายคงเป็นกรณีที่ว่าเป็นการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตย เพราะในความเห็นจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ฝ่ายหนึ่งยึดมั่นในกลไกและระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่อีกฝ่ายแค่พวกที่สวมหัวโขนประชาธิปไตย แต่เบื้องลึกเบื้องหลังอิงแอบกับอำนาจนอกระบอบหรือพูดให้ชัดคือเกาะเกี่ยวกับระบอบอำมาตยาธิปไตยมาตลอดเวลานั่นเอง

สิ่งที่สะท้อนภาพได้ชัดเจนมากที่สุด คงจะเป็นภาพของกระบวนการตัดสินขององค์กรอิสระที่ไม่อิสระอย่างแท้จริง บางพรรคการเมืองไม่ว่าจะทำอะไรต้องผิดอยู่ร่ำไป ขณะที่บางพรรคทำในเรื่องเดียวกันไม่เคยจะเป็นความผิด หรือแม้แต่ทำผิดก็มีช่องให้รอดอยู่เสมอนั่นเอง ที่เด่นชัดและนักประชาธิปไตยพากันส่ายหน้าเป็นแถวคงเป็นกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

มีอย่างที่ไหนการแก้ไขเพื่อให้มีส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ขณะที่อีกฝ่ายแก้ไขในเรื่องเลือกตั้งระบบส.ส.เพื่อให้พรรคของตัวเองและพรรคร่วมรัฐบาลเวลานั้นได้ประโยชน์กลับทำได้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญไปเสียฉิบ นี่แหละที่เป็นการยืนยันว่า มันไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันอย่างแท้จริง

เห็นท่าทีของท่านผู้นำล่าสุดแล้วยิ่งเหนื่อยใจ เพราะท่านไปพูดเรื่องการขนคนมาชุมนุมเป็นการพาคนมาตาย ก็ไม่ใช่การขนคนมาชุมนุมอย่างที่ท่านว่านี้หรือที่ทำให้ต้องเกิดการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งๆที่มีการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ไปแล้ว ที่ต้องตอบให้ได้คือวิกฤติที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารเป็นวิกฤติจากการใช้อำนาจของรัฐบาลเลือกตั้งจริงๆหรือเป็นสถานการณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อล้มรัฐบาลเลือกตั้ง กล้ากันไหมที่จะพูดความจริง

Back to top button