ทุกข์ของคนรวยพลวัต 2016
เอกสาร (เคยลับ) ของบริษัทรับจัดการเรื่องบริการภาษีของปานามาชื่อมอสแซค ฟอนเซกา จำนวน 11.5 ล้านฉบับ มีความจุ 2.6 เทราไบต์ (2.6 ล้านล้านไบต์) หรือคิดเป็นหน้ากระดาษมากกว่า 281 ล้านหน้า ถูกมือลึกลับส่งให้กับสื่อแห่งหนึ่งในเยอรมนี และ สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เผยแพร่ กลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกเพราะ เป็นการเปิดโปงเงื่อนงำของธุรกิจให้บริการการตั้งบริษัทในศูนย์กลางการเงินนอกฝั่งข้ามประเทศ (OFCs) ให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการให้ล่วงรู้ความลับดังกล่าว
วิษณุ โชลิตกุล
เอกสาร (เคยลับ) ของบริษัทรับจัดการเรื่องบริการภาษีของปานามาชื่อมอสแซค ฟอนเซกา จำนวน 11.5 ล้านฉบับ มีความจุ 2.6 เทราไบต์ (2.6 ล้านล้านไบต์) หรือคิดเป็นหน้ากระดาษมากกว่า 281 ล้านหน้า ถูกมือลึกลับส่งให้กับสื่อแห่งหนึ่งในเยอรมนี และ สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เผยแพร่ กลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกเพราะ เป็นการเปิดโปงเงื่อนงำของธุรกิจให้บริการการตั้งบริษัทในศูนย์กลางการเงินนอกฝั่งข้ามประเทศ (OFCs) ให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการให้ล่วงรู้ความลับดังกล่าว
สื่อฉลามร้ายด้านจ้องจับผิดคน ในนามของวิชาชีพแบบสืบสวนสอบสวน พากันกระจายข้อมูลดังกล่าวในช่วงข้ามคืนไปทั่วโลก ทำให้รายชื่อลูกค้าของบริษัทดังกล่าวถูกเปิดโปง พากันหนาวๆร้อนๆ ไปตามๆ กันเพราะสุ่มเสี่ยงต่อข้อกล่าวหาเรื่องการฟอกเงิน หรือหลบเลี่ยงภาษี หรืออาจจะรวมถึงการให้เงินสนับสนุนการก่อการร้ายตามมาตรฐานของหน่วยงานสหประชาชาติที่เรียกว่า FTAF ที่เป็นคนตั้งเกณฑ์ให้กับชาติต่างๆ ทั่วโลกใช้บังคับเป็นกฎหมายออกมา
คำถามคือ รายชื่อลูกค้าของบริษัทดังกล่าว จะต้องเผชิญอะไรบ้างนอกเหนือจากการตกเป็นขี้ปากชาวบ้านที่ตั้งข้อสงสัยว่าไม่ชอบมาพากลในการหนีภาษีหรือฟอกเงิน
คำตอบยังไม่ชัดเจน เพราะว่าไปแล้ว มาตรการในการจัดการเรื่องนี้ ยังไม่ได้เป็นเอกภาพกันทั่วโลก และที่สำคัญ ศูนย์กลางการเงินนอกฝั่งหรือ OFCs นั้น ก็ไม่ได้มีแต่ด้านร้ายเสมอไป หากยังมีด้านดีปรากฏอยู่ด้วย มีลักษณะเป็นดาบสองคมธรรมดาของคนหรือนิติบุคคลที่ร่ำรวย และต้องการปกปิดธุรกรรมที่กฎหมายไม่อนุญาตซึ่งปัจจุบัน FATF กำหนดไว้ว่ามีทั้งหมด 24 ฐานความผิด มากกว่าแค่การหนีภาษีอย่างเดียว
นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯบอกว่า เป้าหมายของแหล่งข่าวลึกลับดังกล่าว น่าจะมุ่งไปที่จีนเป็นหลัก เพราะ 33% ของรายชื่อที่ถูกเปิดออกมา เป็นคนและบริษัทจีน แต่ก็ยังไม่การยืนยันอีกเช่นกัน เพราะอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญเท่านั้น และจีนเองก็ไม่มีความชัดเจนว่า เป็นสมาชิกของ FATF หรือไม่
OFCs ในอดีตถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องเป็นแหล่งฟอกเงินของพวกผิดกฎหมายหรือหนีภาษี จนกระทั่งสิบกว่าปีมานี้ FATF มีบทบาทมากขึ้น ทำให้ OFCs ทั้งหลายถูกดึงเข้าสู่ระบบป้องกันการฟอกเงินและต่อต้านก่อการร้ายอย่างจริงจัง โดยธุรกรรมที่ผ่าน OFCs ทุกแห่งจะต้องกรอกเอกสารของสถาบันการเงินที่รู้จักกันดีคือ KYC ที่กำหนดวงเงินต้องรายงานต่อ FATF และหน่วยงานท้องถิ่นที่เป็นเครือข่ายอย่างเข้มงวด ซึ่งในกรณีของไทยมี ปปง.เป็นผู้กำกับดูแล
กติกาของการโอนเงินผ่านสถาบันการเงินทุกชนิดที่คนไทยคุ้นเคยในหลายปีมานี้คือ หากวงเงินโอนเกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องกรอกเอกสาร KYC เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ปปง.รับรู้และตรวจสอบเส้นทางเงินว่าเข้าข่ายมูลฐานความผิดที่กำหนดไว้ 23 มูลฐานความผิดหรือไม่ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งทำให้การตรวจสอบเส้นทางเงินที่ผ่านไปมายัง OFCs ทุกแห่งทั่วโลก อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันนี้ ลดความสงสัยไปได้มาก
OFCs ที่ได้รับการรับรองว่ามีกติกาที่สอดรับกับ FATF ประกอบด้วยชื่อต่อไปนี้ได้แก่ บาฮามาส เบอร์มิวด้า เกาะบริติชเวอร์จิ้น ไอส์แลนด์ เกาะเคย์แมน เกาะเจอร์ซี่ย์ ลักเซมเบิร์ก เกาะมอริเชียส ปานามา นิวซีแลนด์ เกาะโดมินิก้า และ สวิตเซอร์แลนด์ โดยเกาะเคย์แมน เป็นแหล่งที่มีวงเงินผ่านมากที่สุดแต่ละปี ส่วนเกาะโดมินิก้า เป็นแหล่งที่มีรายชื่อบริษัทจดทะเบียนมากที่สุด
รายชื่อ OFCs เหล่านี้ จะเห็นชื่อสิงคโปร์และฮ่องกง หายไปเรียบร้อย ทั้งที่ในอดีตได้ชื่อว่าเป็นแหล่งฟอกเงินสำคัญของโลกเช่นกัน
การทำธุรกรรมที่ OFCs ภายใต้กติกาของ FATF ถือว่าถูกจัดระเบียบอย่างดี เนื่องจากในด้านบวกช่วยแก้ปัญหาในการทำธุรกรรมข้ามประเทศได้อย่างดีมาก โดยเฉพาะธุรกิจข้ามชาติที่ต้องลงทุนหรือมีธุรกรรมกับชาติคู่ค้าที่ไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องภาษีซ้อน หรือ มีฐานะเป็นศัตรูกัน หรือถูกคว่ำบาตร ช่วยให้ลดต้นทุนการเงินและช่วยให้การค้าหรือลงทุนคล่องตัวมากขึ้น
เพียงแต่ในด้านลบที่กลุ่มทำผิดกฎหมายใช้เป็นแหล่งฟอกเงินก็เป็นพฤติกรรมด้านลบที่ยังมีอยู่ต่อไป ต้องหาทางแก้ไขและป้องกันเพิ่มเติม
ในกรณีของไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นสมาชิกของ FATF มาตั้งแต่ต้น และมีเงื่อนไขกำกับในการบังคับให้เงินโอนที่มีวงเงินตามข้อกำหนดต้องรายงานใน KYC เสมอ ทำให้ปัญหาเรื่องการฟอกเงินจากพฤติกรรมชวนสงสัยเกิดขึ้นอย่างมาก แต่คนรวยและบริษัทนิติบุคคลข้ามประเทศของไทยจำนวนหนึ่ง ก็ยังต้องการใช้บิรการของ OFCs ด้วยเหตุผลที่ไม่เปิดเผย
คำถามคือ คนที่ใช้บริการผ่าน OFCs ผิดกฎหมายหรือไม่ ยังไม่ชัดเจน แม้เจตนาในการปกปิดจะทำให้สังคมเกิดคำถาม ดังนั้น การค้นหาคำตอบต้องย้อนไปที่ข้อกำหนดในกฎหมายฟอกเงินของไทยเป็นหลัก ซึ่งได้เริ่มต้นใช้บังคับในปี พ.ศ. 2542 แล้วแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2551 และ 2556 โดยการแก้ไขครั้งหลังสุดได้พ่วงเข้าเรื่องต่อต้านก่อการร้ายเข้าด้วย
กฎหมายต่อต้านการฟอกเงินของไทย มีลักษณะเป็น กฎหมายปิดปาก (estoppel) ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา จะถูกปิดปากมิให้แก้ต่าง แต่มีหน้าที่ป้องกันตัวเองจากข้อกล่าวหา เพื่อแสดงที่มาที่ไปของเงินและทรัพย์ที่เจ้าหน้าที่ ปปง. อายัดไว้ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเสียเปรียบอย่างมาก ถือเป็นกฎหมายที่มีลักษณะดาบสองคมได้ง่าย จึงเป็นที่หวาดผวาของคนรวยที่ตกเป็นข่าวอย่างมาก จึงได้เห็นการออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องพัลวัน
ที่น่าสนใจก็คือ กฎหมายฟอกเงินของไทยปัจจุบัน ที่มีถึง 23 มูลฐานตามข้อกำหนดของ FATF นั้น ไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่อง “อาชญากรรมด้านภาษี” หรือ Tax Crimes เข้าด้วย ดังนั้น เศรษฐีและนิติบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นลูกค้าของบริษัทที่เป็นข่าว จึงจะไม่ถูกข้อหาหนีภาษีตามกฎหมายฟอกเงินปัจจุบันแน่นอน
ข้อดีของการเปิดเผย เอกสารของบริษัทมอสแซค ฟอนเซกา อยู่ที่สังคมไทยจะได้รับรู้ว่าคนรวยและบริษัทที่ต้องการซุกซ่อนความร่ำรวยมีใครบ้าง และ รู้เพิ่มอีกว่า กฎหมายฟอกเงินไทย ยังย่อหย่อนกว่ามาตรฐานโลกคือ ไม่มีการระบุถึง อาชญากรรมด้านภาษี เป็นฐานะความผิด ซึ่งทำให้ในอนาคต น่าจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายฟอกเงินอีกครั้งให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องภาษีด้วย
ไม่อย่างนั้นก็จะมีคนอ้างว่า นี่เป็นเพียงแค่บริหารภาษีตามปกติอย่างคลุมเครือ หาคำอธิบายที่ชัดเจนไม่ได้