ที่ดัชนี 1,370 จุดพลวัต 2016
เมื่อวานนี้ ราคาน้ำมันที่บวกต่อเนื่องตั้งแต่เช้าจากแรงเหวี่ยงขาขึ้นแรงเมื่อวันศุกร์ มีผลทำให้ดัชนีตลาดทั่วเอเชียผันผวน จะลงก็ไม่ได้ จะขึ้นต่อก็เกรงว่าจะมีแรงขายทำกำไรดักข้างหน้า ตลาดไทยก็อยู่ในภาวะเช่นเดียวกัน ด้วยแรงซื้อขายที่ต่ำกว่าวันปกติเพราะจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลหยุดยาวของวันสงกรานต์ประจำปีนาน 5 วัน
วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ ราคาน้ำมันที่บวกต่อเนื่องตั้งแต่เช้าจากแรงเหวี่ยงขาขึ้นแรงเมื่อวันศุกร์ มีผลทำให้ดัชนีตลาดทั่วเอเชียผันผวน จะลงก็ไม่ได้ จะขึ้นต่อก็เกรงว่าจะมีแรงขายทำกำไรดักข้างหน้า ตลาดไทยก็อยู่ในภาวะเช่นเดียวกัน ด้วยแรงซื้อขายที่ต่ำกว่าวันปกติเพราะจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลหยุดยาวของวันสงกรานต์ประจำปีนาน 5 วัน
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดตลาดบวกแค่ 0.20 จุด ที่ระดับต่ำกว่า 1,370 จุดเล็กน้อย โดยที่ต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องที่ระดับ 2.1 พันล้านบาท แต่กลับซื้อล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์ 4.59 พันสัญญา ซ่อนนัยยะให้คนงงงวยว่าดัชนีจะขึ้นหรือลงกันแน่
ปฏิบัติการ ลับ-ลวง-พราง ของต่างชาติในภาวะที่ตลาดกำลังผันผวนอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะตคลาดหุ้นทั่วโลกก็เป็นเช่นเดียวกัน
ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยที่โยงใยอย่างสำคัญมากคือ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอยู่ในฐานะย่ำแย่ต่อเนื่องโดยล่าสุดวานนี้ ธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เปิดเผยรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก ระบุว่า สำหรับประเทศไทยคาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 2.5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและจีน ส่งผลให้การส่งออกของไทยลดลง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของโครงสร้างการผลิตที่ไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนได้ และมีความหลากหลายของสินค้าน้อย
ตัวเลขจีดีพีของไทยในมุมมองของธนาคารโลกนี้ ถือว่าเป็นตัวเลขที่เลวร้ายสุด เมื่อเทียบกับตัวเลขก่อนหน้านี้ไม่นานของธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ประเมินว่าจะเติบโตในปีนี้ 3.1% และธนาคารพัฒนาเอเชียที่ระบุว่าจะเติบโตเพียงแค่ 3.0%
ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้นดูจะย่ำแย่กว่ามาตรฐานเฉลี่ยของเอเชียโดยรวม เพราะธนาคารโลกมองว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (ที่รวมจีนเข้าไว้ด้วย) ยังคงฟื้นตัว แต่คาดว่าจะขยายตัวได้ 6.3% ในปีนี้ และ 6.2% ในปีหน้า แต่หากไม่รวมจีนจะขยายตัวได้ 4.8% ในปีนี้ และ 4.9% ในช่วงปี 2560-2561
ที่น่าสนใจก็คือ ธนาคารโลกประเมินว่าชาติในอาเซียนหลายรายเช่น ฟิลิปปินส์และเวียดนามมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดโดยอยู่ที่กว่า 6% ในปีนี้ ด้านอินโดนีเซียจะอยู่ที่ 5.1% ส่วน กัมพูชาจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 7%
เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของไทยนั้นคือขีดจำกัดของขาขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าในปีนี้ จะต้องลดการพึ่งพาธุรกิจส่งออกลง หันมาสู่การบริโภคภายในประเทศ ที่ล่าสุดมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะทำให้ภาคชนมีการลงทุน แต่ก็ยังมีเรื่องรบกวนสำคัญคือ ปัจจัยทางด้านการเมืองที่ประเทศจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วรวมถึงปัจจัยที่ต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2560 เพื่อคืนบรรยากาศแห่งประชาธิปไตยกลับมา
แรงกดดันจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับผลกระทบจากความย่ำแย่ของเศรษฐกิจ ทำให้ความคาดหวังของตลาดหุ้นไทยมีลักษณะพึ่งพาปัจจัยระยะสั้นมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่เปราะบางทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น
– ความหวังต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปจากทั้ง FED และ ECB มีเพิ่มขึ้น
– ความกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หลังรายงานการประชุมของ FED ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะขาลง และมีรายงานการประชุมของประจำเดือนมีนาคม ของธนาคารกลางยุโรปที่ระบุถึงความวิตกต่อปัญหาภาวะอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ
– ความคาดหวังต่อผลการประชุมเพื่อตรึงผลผลิตน้ำมันดิบของชาติโอเปกและนอกโปเปก จะลงเอยในทางบวก
ปัจจัยภายนอกทั้งหมดนี้ ยังไม่สำคัญเท่ากับความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นบลูชิพโดยเฉพาะธนาคารในประเทศ หลังจากตัวเลขการขยายตัวของสินเชื่อที่ต่ำกว่าการขยายตัวของเงินฝากชัดเจนมากขึ้นต่อเนื่อง
ความพยายามเมื่อวานนี้ของนักลงทุนในตลาดที่พยายามประคองดัชนีให้ยืนที่ระดับ 1,370 จุด เป็นการพยายามที่เกิดจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะสถาบันและรายใหญ่บางส่วนที่ว่า เศรษฐกิจและราคาหุ้นนั้นไม่จำเป็นต้องไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป สวามารถสวนทางกันได้เป็นบางครั้ง
ความเชื่อดังกล่าว ไม่ผิดเสียทีเดียว เพราะในบางตลาดนั้น สามารถเป็นขาขึ้นได้ยาวนานเศรษฐกิจย่ำแย่ เช่นกรณีดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์ก เป็นขาขึ้นยาวนานต่อเนื่องกว่า 5 ปี หลังจากร่วงหนักในช่วงหลังวิกฤตซับไพรม์ พ.ศ. 2551 ทำนิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่า ท่ามกลางหายนะของธุรกิจรอบด้านรวมทั้งบริษัทจดทะเบียนที่อาศัยวิศวกรรมการเงินมาสร้างมูลค่าเทียมให้กับกิจการครั้งแล้วครั้งเล่า
นอกจากนั้น ในตลาดทุน(ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้)ที่มีขนาดเล็ก(รวมทั้งไทย) ในยามที่เกิดระแสทุนเก็งกำไรไหลเข้ารุนแรงเพราะต้องการหาแหล่งลี้ภัยในการลงทุนที่ปลอดภัย จากความผันผวนของการเงินโลก ก็อาจจะยังผลให้เกิดภาวะขาขึ้นของตลาดยาวนาน นับแต่ราคาพันธบัตรพุ่งสวนทางกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร หรือราคาหุ้นร้อนแรงกับภาวะกระทิงระยะสั้นๆ โดยไม่แยแสว่าเศรษฐกิจพื้นฐานจะดีหรือเลวแค่ไหน หากเมื่อเปรียบเทียบดูแล้ว สามารถคืนผลตอบแทนในการลงทุนได้ดีกว่าความเสี่ยงจากการลงทุนจากข้อบกพร่องของตลาดหลายด้าน
ปีนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยเริ่มต้นขึ้นมาอย่างเลวร้าย จนดัชนีร่วงลงไปที่ระดับ 1,290 จุด ก่อนจะพลิกตัวกลับมายืนเหนือ 1,420 จุด ก่อนจะร่วงกลับมาที่ระดับเหนือ 1,350 จุด แล้วรีบาวด์กลับมาที่ระดับปัจจุบันบันรอบๆ 1,370 จุด ซึ่งเป็นบททดสอบหาทิศทางของตลาดที่มีความสำคัญว่าจากนี้ไป หลังช่วงหยุดยาววันสงกรานต์ผ่านไปแล้ว จะเคลื่อนตัวทางไหน
คำตอบว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ แต่ปัจจัยเรื่องทุนไหลเข้าก็เป็นตัวแปรที่ไม่อาจปฏิเสธความสำคัญได้เช่นกัน โดยมีบรรยากาศทางการเมืองเป็นตัวแปรผกผันที่สำคัญว่า ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในการร่างรัฐธรรมนูญของไทยยามนี้ จะนำไปสู่การนองเลือดครั้งใหม่หรือไม่
การรอคอยคำตอบ อาจจะน่าอึกอัด แต่ก็ถือเป็นภาคบังคับที่นักลงทุนจำต้องทำความคุ้นเคย