ขาลงของอาเบะโนมิกส์พลวัต 2016

วันนี้ไม่ว่าข้อตกลงเรื่องตรึงผลผลิตน้ำมัน ที่เมืองโดฮาประเทศกาตาร์ออกมาว่าบรรลุเป้าหมายมากหรือน้อยดัชนีตลาดหุ้นไทยจะต้องเปิดบวกหลังจากสัปดาห์ของการหยุดยาวช่วงสงกรานต์ปล่อยให้เสียโอกาสจากการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกทะยานแรงประมาณ 5% ไปก่อนแล้ว


วิษณุ โชลิตกุล

 

วันนี้ไม่ว่าข้อตกลงเรื่องตรึงผลผลิตน้ำมัน ที่เมืองโดฮาประเทศกาตาร์ออกมาว่าบรรลุเป้าหมายมากหรือน้อยดัชนีตลาดหุ้นไทยจะต้องเปิดบวกหลังจากสัปดาห์ของการหยุดยาวช่วงสงกรานต์ปล่อยให้เสียโอกาสจากการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกทะยานแรงประมาณ 5% ไปก่อนแล้ว

หลังจากเปิดตลาดแล้วดัชนีตลาดหุ้นไทยจะบวกหรือกลับลงมาในแดนลบคงต้องขึ้นกับตัวแปรเฉพาะหน้าว่าจะมีปัจจัยบวกดันดัชนีไปยืนเหนือ 1,400จุดหรือลงไปหาระดับ 1,350จุดกันใหม่

สถานการณ์ตลาดหุ้นยามนี้ทั่วโลกดูเหมือนว่าจะถูกขับเคลื่อนด้วยข่าวหรือปัจจัยเฉพาะหน้ามากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่นับวันตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจยังคงชี้ชวนให้ดำดิ่งไปสู่ภาวะถดถอยจากภาวะเงินฝืดต่อเนื่องและที่สำคัญความง่อนแง่นทางการเมืองของรัฐบาลชินโซอาเบะก็คืบคลานเข้ามาใกล้ทุกขณะ 

เหตุสำคัญคืออาเบะโนมิกส์กำลังเดินเข้าสู่ภาวะขาลงเต็มตัว

3 ปีก่อนรัฐบาลอาเบะได้ประดิษฐ์นโยบายเศรษฐกิจที่มีฉายาว่าอาเบะโนมิกส์ที่มีธงนำเรียกว่าลูกศร 3 ดอกเพื่อดึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เผชิญภาวะเงินฝืดเรื้อรังให้พ้นจากสภาพดังกล่าวประกอบด้วย 

-มาตรการทางการเงินในฐานะ “ลูกศรดอกแรก”เริ่มต้นในปลายปี 2556 คือ  มาตรการ QE หรือผ่อนคลายการทางเงินเชิงรุกมาใช้ (ธนาคารกลางญี่ปุ่นออกพันธบัตรมหาศาลทุกเดือนเพื่อซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงินหรือตราสารหนี้เอกชนรวมถึงพวกสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเช่นกองทุนรวมประเภท ETF และกองทรัสต์เพื่ออสังหาริมทรัพย์ (REITs) และยังเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาล)โดยมีจุดหมายพลิกฟื้นเศรษฐกิจและยุติภาวะเงินฝืดที่เรื้อรังมา 2 ทศวรรษเพื่อบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ภายใน 3 ปีและยุติปัญหาดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคตกต่ำมาราธอน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ว่าเป็นปฏิบัติการ“กามิกาเซ่ทางการเงิน”

-มาตรการทางการคลังขาดดุลงบประมาณสร้างงานสาธารณะ(รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนปีพ.ศ.2563) ในฐานะ“ลูกศรดอกที่สอง” โดยตั้งเป้าหมายขึ้นภาษีบริโภคหรือ salestax จากเดิม 8% เป็น 10%เมื่อเดือนเมษายน 2557  และเพิ่มขึ้นอีกในเดือนธันวาคมปีเดียวกันเป็น 12.5%มีเป้าหมายจะเก็บปี 2558 อีก 15%มาชดเชยการขาดดุลเพราะเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลญี่ปุ่นสูงมากถึง 230% ของจีดีพี แต่ผลพวงของการขึ้นภาษีคือกำลังซื้อหดหายจากท้องตลาดจนกระทั่งจีดีพีของประเทศเริ่มลดต่ำลงและเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้า

-มุ่งกระจายความมั่งคั่งทั่วประเทศผ่านกระบวนการกระจายการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ให้อำนาจตัดสินใจนโยบายส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น ในฐานะ “ลูกศรดอกที่สาม”

ความล้มเหลวของลูกศรดอกที่สองที่ส่งผลต่อลูกศรดอกที่สามโดยปริยายทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการการเงินโดยธนาคารกลางญี่ปุ่นขับเคลื่อนใหม่อีก

ปลายปี 2557 ธนาคารกลางญี่ปุ่นทำให้โลกประหลาดใจอีกเมื่อขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ QE เพิ่มเติมจากเดิมเพื่อซื้อสินทรัพย์เชิงรุกจากปีละ 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นปีละ 724 แสนล้านดอลลาร์หรือเดือนละ6 ล้านดอลลาร์สหรัฐแต่ดูเหมือนว่าผลลัพธ์รอบหลังนี้จะไม่มีประสิทธิผลเหมือนเดิมอีกครั้งเพราะเกิดอาการ“ดื้อยา” ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นเองก็เผชิญกับข้อจำกัดทางทรัพยากรเพราะไม่สามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาได้ตามใจชอบโดยไม่ต้องมีทองคำสำรองเหมือนเฟดของสหรัฐ

มาตรการ QE ที่เริ่มไม่ได้ผลเศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยต่ำกว่าที่คาดในขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมและการบริโภคภาคครัวเรือนตกต่ำต่อเนื่องแถมยังมีส่วนผลาญเงินทุนที่เป็นทรัพยากรของธนาคารกลางญี่ปุ่นไปมากถึง 75% ของที่เคยมีอยู่ทำให้การเพิ่ม QE ไม่สามารถทำได้อีก ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องเล่นเกมเสี่ยงกว่าเดิมด้วยการหันมาใช้มาตรการ “ดอกเบี้ยติดลบ” ตามรอยธนาคารกลางยุโรป 

ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม เพราะการลดดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเยนให้ถูกลง ไม่ได้ช่วยให้เยนอ่อนค่าลง แต่กลับแข็งค่ามากขึ้นในรอบ 19 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เพราะนักลงทุนในตลาดเก็งกำไรมองว่าดอกเบี้ยติดลบทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นร่วงลงแต่ดันราคาพันธบัตรให้สูงขึ้นสวนทางกัน 

จากพฤติกรรมเดิมของนักลงทุนญี่ปุ่นเมื่อลดดอกเบี้ยจะหันไปหอบเงินออกเพื่อทำแคร์รี่เทรดในตลาดต่างประเทศ (การกู้เงินจากตลาดที่ดอกเบี้ยต่ำไปหากำไรจากตลาดดอกเบี้ยสูงกว่าเพื่อหาส่วนต่างกำไร) แต่ช่วงนี้รากฐานของเศรษฐกิจทั่วโลกย่ำแย่ทำให้นักลงทุนในตลาดเก็งกำไรไม่กล้าทำแคร์รี่เทรดเพราะมีความเสี่ยงสูงมากแต่กลับพบเห็นช่องใหม่ในการหาประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางด้วยการเข้าเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ดันราคาพันธบัตรรัฐบาลให้พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจนมีกำไรสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่ติดลบสวนทางกันสามารถหักกลบกันได้ดี

กำไรที่สวยงามจากการเก็งกำไรของตลาดตราสารหนี้และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในญี่ปุ่นและยูโรโซนกลายเป็นผลทำให้ค่าเงินเยนและยูโรแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์จนต้องมานั่งแก้ปัญหาระลอกใหม่

คำขู่ของธนาคารกลางญี่ปุ่นจนกระทั่งรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่บริหารเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ว่า พร้อมจะใช้มาตรการสกัดการแข็งค่าของเงินเยนหากจำเป็น โดยพิจารณาจากสถานการณ์รอบด้าน กลับถูกเมินเฉย เพราะเงินเยนยังคงปิดตลาดที่ราคาสูงสุดนั้นเอง เนื่องจากตลาดทราบดีว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มหมดเครื่องมือใหม่ในการจัดการกับเงินฝืด และกำลังถลำลึกเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

นักวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเหลือทางเลือกในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจแค่ 2 ทางเท่านั้นในอนาคต  และอีกทางเลือกเดียวทางการเมือง

2 ทางเลือกแรกคือ 1)ให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำการลดดอกเบี้ยให้ต่ำลงกว่าเดิมอีก โดยยอมเสี่ยงกับผลลัพธ์ข้างเคียงที่คาดเดายาก 2)ใช้มาตรการทางการคลังแบบสมัยอดีตนายกคิอิชิ มิยาซาว่า นั่นคือ การพิมพ์ธนบัตรเอามาแจกให้ประชาชนญี่ปุ่นใช้เพื่อให้จับจ่ายสินค้ากระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” เพื่อหวังว่าจะเกิดการผลิตซ้ำ ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่าความต้องการบริโภคในประเทศอ่อนตัวต่อเนื่อง ยาวนานกว่าระดับปกติ แม้ว่านั่นอาจจะทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลญี่ปุ่นพุ่งขึ้นอีก เพราะเก็บภาษีเพิ่มไม่ได้มาก

ทางเลือกสุดท้ายที่เหลือทางเดียวคือ ยุบสภาให้เลือกตั้งทั่วไป เพื่อปิดฉากอาเบะโนมิกส์อย่างเป็นทางการ

Back to top button