ทุนสัมภเวสีพลวัต 2016

การประชุมที่เมืองโดฮาของ 23 ชาติส่งออกน้ำมันดิบเป็นสินค้า ไม่นับอิหร่าน-ลิเบีย และไม่นับผู้ผลิตใหญ่ที่ไม่ได้ส่งออก (เช่น สหรัฐและจีน) จบลงอย่างล้มเหลวเมื่อคืนวันอาทิตย์ ทำให้เช้าวานนี้ ตลาดหุ้นเอเชียพากันร่วงแรงตั้งแต่เปิดตลาด เพราะแรงขับของราคาน้ำมันที่ร่วงแรงมากกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล


วิษณุ โชลิตกุล

 

การประชุมที่เมืองโดฮาของ 23 ชาติส่งออกน้ำมันดิบเป็นสินค้า ไม่นับอิหร่าน-ลิเบีย และไม่นับผู้ผลิตใหญ่ที่ไม่ได้ส่งออก (เช่น สหรัฐและจีน) จบลงอย่างล้มเหลวเมื่อคืนวันอาทิตย์ ทำให้เช้าวานนี้ ตลาดหุ้นเอเชียพากันร่วงแรงตั้งแต่เปิดตลาด เพราะแรงขับของราคาน้ำมันที่ร่วงแรงมากกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ตลาดหุ้นไทยวานนี้ เปิดตัวหลังหยุดยาว 5 วันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กลายเป็นตลาดที่สวนทางกับตลาดหุ้นทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ตลาดอนุพันธ์ ที่ดัชนี SET50 Futures เปิดลบเล็กน้อยไม่เกิน 3 จุดแล้วรีบาวด์กลับมาบวกตลอดวัน และราคาหุ้นส่วนใหญ่ (ยกเว้นพลังงาน) ที่วิ่งบวกกันตามปกตินับแต่เปิดตลาด สวนคำชี้แนะของนักวิเคราะห์ โดยภาคเช้าดัชนี SET บวกเล็กน้อยที่ระดับ 3 จุดเศษ

ในภาคบ่าย ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มดีดกลับจากแรงซื้อ และดัชนีตลาดหุ้นในยุโรปที่ร่วงน้อยกว่าคาด ทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย ดันดัชนีบวกแรงท้ายตลาดกลับไปเกือบทะลุแนวต้าน 1,400 จุด ได้สำเร็จ

การบวกของดัชนีตลาดไทย เกิดขึ้นก่อนที่ดัชนีตลาดหุ้นฟรังเฟิร์ตของเยอรมนีและยูโรโซน จะรีบาวด์กลับเช่นกัน เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดนักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกจึงมีพฤติกรรมแบบ ”หมู (ตาย) ไม่กลัวน้ำร้อน”

คำอธิบายเบื้องต้นอย่างง่ายและหยาบคือ ตลาดหุ้นไทยวานนี้บวกเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่สูญเสียโอกาสในช่วงหยุดสงกรานต์ ที่ตลาดหุ้นอื่นบวกแรงกันทั่วโลก  แล้วก็มีการชี้แนะว่า ไม่น่าจะไปต่อได้ไกล เพราะตลาดหุ้นโลกเริ่มถอยลงตามราคาน้ำมัน และผลประกอบการที่อ่อนแอของไตรมาสแรก

คำอธิบายเช่นนี้ ค่อนข้างขัดแย้งกับสัญญาณทางเทคนิคและข้อเท็จจริงของตลาดเก็งกำไรทั่วโลกยามนี้

ในด้านสัญญาณเทคนิค นับจากที่มีการปรับฐานครั้งล่าสุดของดัชนีตลาดหุ้นไทย ไปที่จุดต่ำระดับ 1,360 จุด ดัชนีก็รีบาวด์กลับมาท้าทายแนวต้านใหม่ ปรากฏสัญญาณชัดเจนว่า ที่จะมีการปรับฐานลงลึกไปกว่านั้นอีกไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนเริ่มดีขึ้น แม้จะมีผลกำไรลดลง แต่ราคาหุ้นก็ลงลึกมาต่ำเกินกว่าพื้นฐานมากแล้ว

ข้อเท็จจริงสำคัญที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือ สภาพคล่องของทุนที่ล้นเกิน จากการที่ปริมาณเงินซึ่งชาติหลักของโลก (สหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น) ได้พิมพ์ออกมาในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาจนท่วมตลาด ไม่สามารถแปรสภาพเป็นการผลิตซ้ำใหม่ จนเกิดการจ้างงานหรือกำลังซื้อใหม่ ให้เศรษฐกิจเป็นขาขึ้นอย่างยั่งยืน แต่กลับจมปลักกับภาวะเงินเฟ้อติดลบ หรือเงินฝืดเรื้อรังที่แก้ไขในลักษณะ ”ลิงแก้แห”

ความล้มเหลวจากการแปลงสภาพให้ทุนในรูปเงินสดสภาพคล่อง เป็นกิจการทางเศรษฐกิจภาคการผลิตและบริการอื่นๆ ทำให้ทุนล้นเกินกลายสภาพเป็นทุนสัมภเวสี ที่เที่ยวเร่ร่อนไปมาในตลาดเก็งกำไร 4 แหล่งทั่วโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ นั่นคือ ตลาดปริวรรตเงินตรา ตลาดตราสารหนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้น ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกันต่อเนื่อง

คำว่าสัมภเวสี เกิดขึ้นจากศัพท์บัญญัติทางศาสนาในอินเดียโบราณ โดยทั่วไปแล้วหมายถึง กลุ่มปุถุชนและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ต้องแสวงหาที่เกิด ซึ่งยังไม่ถึงนิพพาน แต่โดยรวมแล้วถูกเข้าใจว่าเป็นวิญญาณเร่ร่อนที่ยังหาที่เกิดใหม่ยังไม่ได้ เพราะขาด “ปฏิสนธิจิต” (แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าความเชื่อนี้ผิด)

ทุนสัมภเวสี จึงเป็นทุนที่เร่ร่อนเก็งกำไรไปยังตลาดทั้ง 4  โดยมีแรงจูงใจคือผลตอบแทนของการลงทุน เมื่อใดที่ตลาดใดก็ตาม ที่ตลาดโดยรวมเกิดสภาพราคาหลักทรัพย์ต่ำกว่าพื้นฐาน ทุนเหล่านี้จะดาหน้ากันเข้าไปหาประโยชน์ และหากตลาดเริ่มเข้าเขตอิ่มตัว หรือมีอัพไซด์แคบลงจนไม่คุ้ม ก็จะจากไป

ในทางทฤษฎี ตลาดที่เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ จะต้องมีเครื่องมือในการดูดซับการไหลเข้าของทุนเก็งกำไรเหล่านี้ เพื่อแปลงสภาพเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับภาคการผลิตและบริการที่แท้จริง ซึ่งเท่ากับทำให้เป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่งคั่งแก่เศรษฐกิจมวลรวม  แต่ในทางปฏิบัติอาจจะขัดแย้งกับทฤษฎีได้ หากว่า ทุนเก็งกำไรนั้นมีขนาดใหญ่มากเกิน จนเข้าข่าย ”ยักษ์นอกตะเกียง” ที่เหนือการควบคุมของหน่วยงานกำกับดูแล ที่สามารถสร้างผลสะเทือนให้ตลาดปั่นป่วนได้เสมอ

ภาวะเศรษฐกิจของโลกหลังวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐเมื่อ 8 ปีก่อน ที่รัฐบาลชาติต่างๆ ก่อหนี้สาธารณะเสียมากมหาศาล จนกระทั่งกลายเป็นขีดจำกัดในการใช้มาตรการทางการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องหันมาพึ่งพามาตรการทางการเงินมากเกินขนาด เช่น พิมพ์ธนบัตรเพิ่มผ่านมาตรการ QE หรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเวลาเศรษฐกิจย่ำแย่ จนมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นการ “เสพติดนโยบาย”

มาตรการทางการเงินดังกล่าว ได้ผลบ้าง แต่ในระยะยาว กลับมีผลข้างเคียงทำให้สถานการณ์หนักข้อขึ้น ตัวอย่างของ อาเบะโนมิกส์ของญี่ปุ่นที่เคยฮือฮาใกล้จะถึงจุดจบ และมาตรการของ ECB ที่ไม่เคยทำให้ยูโรโซนพ้นจากภาวะเงินฝืด กลับเปิดช่องให้ทุนล้นเกินไหลเข้าตลาดเก็งกำไรง่ายและมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่งคั่งใหม่ให้กับคนหยิบมือเดียวที่ช่ำชองกับการใช้เครื่องมือของตลาดทุนอย่างคล่องแคล่วบนความเสี่ยงที่จับต้องได้

การเคลื่อนตัวไปรอบโลกของทุนสัมภเวสี ให้คำอธิบายได้ชัดเจนว่า เหตุใดตลาดหุ้นเมื่อวานนี้ และในระยะต่อไปอีก (อาจจะตลอดปีนี้) จึงมีกรอบจำกัดขาลงมากกว่าระดับปกติ และเคลื่อนไหวที่ไม่สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ภาวะที่เกิดขึ้น ไม่อาจจะถือเป็นภาวะฟองสบู่ของตลาดทุน (แม้จะใกล้เคียงมากเพราะเกิดขึ้นเมื่อสภาพคล่องตลาดเงินล้นเกินและดอกเบี้ยต่ำ) แต่น่าจะเป็นภาพสะท้อนเชิงลึกของกลไกเศรษฐกิจที่ไม่สามารถดูดซับทุนเก็งกำไรล้นเกินให้เกิดมรรคผลให้กับภาคการผลิตและบริการได้

ตัวอย่างของตลาดหุ้นไทย ที่ปีนี้มีหลักทรัพย์เข้าระดมทุนใหม่ หรือเพิ่มหลักทรัพย์ใหม่ในตลาดต่ำจนน่าใจหาย เป็นการสะท้อนความล้มเหลวของ ก.ล.ต. และผู้บริหารตลาดฯ ที่ไม่สามารถเติมสินค้าใหม่ให้กับตลาดได้ ทั้งที่โอกาสเปิดกว้างจากทุนไหลเข้าจำนวนมากในช่วง 3 เดือนมานี้

จะถือเป็นค่าโง่ในการรับมือกับทุนสัมภเวสี ก็คงไม่ผิด แม้จะไม่ถูกทั้งหมด

Back to top button