TMB กับ ไอเอ็นจีลูบคมตลาดทุน

ล่าสุดได้รับคำยืนยันจากคุณรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ว่า ไอเอ็นจี กรุ๊ป ยังไม่มีนโยบายขายหุ้น TMBแน่นอน


 ธนะชัย ณ นคร

 

ล่าสุดได้รับคำยืนยันจากคุณรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ว่า ไอเอ็นจี กรุ๊ป ยังไม่มีนโยบายขายหุ้น TMBแน่นอน

ปัจจุบัน ING BANK N.V. ถือหุ้นใน TMB ประมาณ 25%

และยังมีหุ้นบุริมสิทธิอีกราวๆ 6-7%

ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาตลอดว่า ไอเอ็นจี กรุ๊ป อาจขายหุ้น TMB ออกมา เพื่อที่จะนำเงินไปใช้หนี้กับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์

แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้มีการขาย

ส่วนธุรกิจของไอเอ็นจีในประเทศไทย ที่ถูกขายออกมามีเพียง “ไอเอ็นจีประกันชีวิต” (หรือ เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต ในปัจจุบัน) เท่านั้น

คุณรังสรรค์ ยืนยันว่า ไอเอ็นจี กรุ๊ป ไม่ได้มีการพูดคุยกับตนเองเรื่องขายหุ้น

ขณะที่เรื่องการขายหุ้นของพันธมิตรนั้น ปกติแล้ว หากมีนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ก็จะบอกกล่าวกันก่อน

มีคำถามว่าแล้วในส่วนของกระทรวงการคลังที่ถือหุ้นอยู่ประมาณ 25% ล่ะ

จริงๆ แล้ว คลังเองนั้นก็มีนโยบายต้องการขายหุ้น TMB ออกไปอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายังติดในเงื่อนไขของราคาขาย และกลุ่มธุรกิจที่จะเข้ามาซื้อ

การขายหุ้นของคลัง (หากขายจริงๆ) กลุ่มที่จะซื้อก็จะมาจาก 2 กลุ่ม คือ ไอเอ็นจี กรุ๊ป และกลุ่มการเงินอื่นๆ

หากไอเอ็นจี กรุ๊ป เข้ามาซื้อ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร

แต่หากขายให้กลุ่มการเงินอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องขายพร้อมกับไอเอ็นจี กรุ๊ป เพราะจะไม่มีกลุ่มการเงินใดๆ เข้ามาถือหุ้นโดยที่ไอเอ็นจีฯ ยังถือหุ้นอยู่แน่นอน

ที่ผ่านมาราคาหุ้นของ TMB จะเคลื่อนไหว โดยอิงไปตามกระแสข่าวการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเป็นหลัก

นักลงทุนต่างคาดหวังว่า หากมีกลุ่มใดขายหุ้นออกมา (หรือคลัง-ไอเอ็นจีขายพร้อมกัน) ก็อาจจะต้องมีการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ จึงเกิดการเข้ามาเก็งกำไร และดันราคาพุ่งขึ้นมา

กลับมาที่ราคาขายของกระทรวงการคลัง

อย่างที่รับทราบกันว่า คลังเองนั้นต้องการขายในราคา 3.80 บาท

ถามว่าราคานี้มาจากไหน

ประเด็นนี้มีข่าวว่า น่าจะเป็นเป็นการคำนวณโดยคุณสุภา ปิยะจิตติ อดีตผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง

ราคานี้ถูกคำนวณว่า เป็นราคาต้นทุนบวกกับผลตอบแทนที่คลังควรจะได้รับ อะไรประมาณนี้แหละครับ

ขณะที่ราคาหุ้น TMB หากดูย้อนหลังไปในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ราคาเคยขึ้นไปสูงสุด 3.24 บาทต่อหุ้น เมื่อช่วงปลายปี 2557 และหลังจากนั้น ราคาหุ้นก็ปรับลงมาตลอด

ส่วนราคาเป้าหมายของโบรกฯ ในช่วงปีก่อนๆ หน้านี้ ระดับสูงสุดก็เฉลี่ย 3.40-3.50 บาท ต่อหุ้น ซึ่งไม่เคยขึ้นไปถึง 3.80 บาทเลย

แน่นอนว่า เมื่อราคาถูกกำหนดแบบนี้ และหากผู้บริหารคลังคนใด ทะลึ่งขายต่ำกว่าราคา 3.80 บาท งานอาจเข้าได้

เพราะจะถูกกล่าวหาว่าขายสมบัติชาติในราคาขาดทุน หรือต่ำเกินไป

มีโอกาสติดคุกติดตารางเชียวนะ

เมื่อราคาหุ้นของคลังถูกกำหนดมาแบบนี้ และสมมุติว่ามีกลุ่มการเงินสนใจหุ้นทั้งในส่วนของคลังและไอเอ็นจีจริงๆ ราคาขายก็ควรจะเท่ากัน

จำกรณีของธนาคารสินเอเชีย (ACL) กันได้ไหม

ราคาขายของแบงก์กรุงเทพ (BBL) กับในส่วนของกระทรวงการคลังนั้นแตกต่างกัน

และนั่นทำให้มีปัญหาต่อการขาย

ราคาที่แบงก์กรุงเทพต้องการขายนั้นต่ำกว่าของคลัง และในที่สุดก็ต้องปรับราคาใหม่เพื่อขายเท่ากับคลัง และมาขายให้กับไอซีบีซี แบงก์ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน

กรณีของ TMB ก็เป็นกรณีคล้ายกัน

เพียงแต่ว่าราคา TMB ที่คลังกำหนด อาจค่อนข้างสูงเกินไป และไม่มีความสัมพันธ์กับพื้นฐานของ TMB ขณะนี้

วานนี้ราคาหุ้น TMB ปิดที่ 2.44 บาทต่อหุ้น

และวันนี้ TMB จะแจ้งผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 1/2559

จากการคาดการณ์ของโบรกฯ ต่างยังคงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น TMB เพราะคาดว่ากำไรจะออกมาสวยงาม โดยต่างมองว่า TMB จะมีกำไรอยู่ระหว่าง 2.30-2.80 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นระหว่าง 38-69 เปอร์เซ็นต์

ผลประกอบการของ TMB นั้น ถือว่าดีขึ้นทุกๆ ปี

เช่นเดียวกับในปีนี้ที่โบรกฯ หลายแห่งมองว่า กำไรสุทธิมีโอกาสจะขึ้นถึงระดับ 1 หมื่นล้านบาท

คิดไปคิดมา หุ้นเทิร์นอะราวด์แบบนี้ ใครถือหุ้นอยู่

อาจไม่อยากขายแล้วก็ได้

Back to top button