นามนั้น สำคัญไฉนแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

บริษัทผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดปานกลาง และเป็นบริษัทขนาดปานกลางค่อนข้างเล็ก มียอดขายเพิ่งแตะ 1 พันล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง ที่ชื่อ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC เข้ามาจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อ 4 ปีเศษมาแล้ว ในกลางปี 2554 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ไม่กี่เดือน ถือว่ามีชื่อติดปากนักลงทุนต่ำ เพราะไม่มีสตอรี่หวือหวาอะไร แม้จะมีกำไรต่อเนื่อง แต่กำไรก็ปานกลางเช่นกัน


 

ภาพลักษณ์ภายนอกของ QTC ถือเป็นบริษัทที่ไม่โดดเด่นอะไรมากมาย มีอัตรากำไรสุทธิพอประมาณไม่มากมายอะไร แค่ระดับ 7-12% ต่อปี แล้วแต่สภาพว่าปีไหนดีมากหรือน้อย 

สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างเงียบ น่าจะมาจากบุคลิกภาพส่วนตัวของผู้บริหารสูงสุดที่ชื่อ นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ที่นั่งควบ 2 ตำแหน่งคือ ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการนั่นเอง

พูลพิพัฒน์ เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ATC แต่ระยะหลังชื่อหายไป แต่ปรากฏชื่อของทายาท 3 คนเข้ามาถือหุ้นแทน รวมแล้วมากกว่า 60% ซึ่งก็ยิ่งทำให้ชื่อที่ไม่ติดปากนักลงทุนอยู่เดิม ยิ่งเงียบหายกันใหญ่ ทั้งที่ไม่ได้เคยหายหน้าไปไหน ยังมุ่งมั่นทำธุรกิจตามปกติ

จนกระทั่งปีนี้ ที่มีการขยับตัวครั้งใหญ่ เมื่อ  ATC ประกาศรุกทางธุรกิจครั้งสำคัญ ด้วยการเพิ่มทุนอีกประมาณ 35%  จากทุนจดทะเบียนเดิม 200 ล้านบาท เป็น  270 ล้านบาท

การเพิ่มทุนดังกล่าว ไม่ใช่ต้องการเอาไปทำโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าแบบเดิม แต่ขยับขยายไปทำอย่างอื่น แต่ก็หนีไม่พ้นเกี่ยวกับไฟฟ้าอีก นั่นคือ ธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น

ตามประสาวิศวกร พูลพิพัฒน์ ระบุว่าก่อนการตัดสินใจลงทุน ได้มีผลการศึกษาความเป็นไปเบื้องต้นของโครงการที่ระบุว่า  QTC ต้องการใช้เงินเพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่นประมาณ 180 ล้านบาท และเงินทุนส่วนที่เหลือจะเตรียมไว้ขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งช่วงเวลาที่ใช้จากการระดมทุน จะอยู่ในระหว่างเดือนมิ.ย. 2559-ธ.ค. 2560

 

รายละเอียดผลการศึกษาเบื้องต้นโครงการที่ญี่ปุ่น มีดังนี้

–  เป็นโครงการขนาดกำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ (MW)

– งบที่ใช้เบื้องต้น 180 ล้านบาท ตามสัดส่วนที่บริษัทคาดจะลงทุน

– งบประมาณทั้งหมดที่คาดจะต้องใช้เพื่อให้โครงการสร้างรายได้มีระยะเวลาโครงการ 20 ปี ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 13,042 ล้านเยน หรือประมาณ 3,961 ล้านบาท QTCระดมทุน 329 ล้านบาท

 

การเพิ่มทุนครั้งนี้ ไม่ได้ขายนักลงทุนทั่วไป หรือผู้ถือหุ้นเดิม แต่เป็นการขายแบบเฉพาะเจาะจงให้ 4 คนประกอบด้วย 1.นายสถิตย์  ลิ่มพงศ์พันธุ์ 2.นางสาวแคทรียา บีเวอร์ 3.Mr. Chanthamome Phommany 4.Mr. Thatnakhone Thammavong…2 รายหลังเป็นนักลงทุนสัญชาติ สปป.ลาว

ชื่อแรกนั้น ใครไม่รู้จักก็เกินเลยไปล่ะ …อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ คนก่อนปัจจุบัน ที่โด่งดังนั่นเอง

ราคาที่เสนอขายก็เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งทำการถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นสามัญของบริษัทย้อนหลัง 7 วันทำการหุ้นละ 5.21 บาท  แต่เสนอขายในราคาหุ้นละ 4.70 บาท คิดเป็นมูลค่าหุ้นที่ขายรวม 329 ล้านบาท โดยมีส่วนลด 9.8% จากราคาตลาด

ข่าวดังกล่าว หากหุ้นจะร่วงลงไปบ้างเพราะเหตุว่า จำนวนหุ้นเพิ่มมากขึ้น และราคาที่ขายต่ำกว่าตลาด ก็คงไม่มีใครตั้งคำถามอะไร…แต่ราคาหุ้นหลังเป็นข่าวออกไปแล้ว กลับวิ่งหน้าเริ่ดยิ่งกว่ากินยาผิดซอง

ราคาหุ้นของ QTC ปิดตลาดเมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ระดับ 4.92 บาท

ถึงวันจันทร์ที่  18 เมษายน ราคาหุ้น QTC เปิดตลาดหลังจากทราบข่าวที่แจ้งตลาดก่อนหน้าเรื่องการเพิ่มทุน กระโดดไปที่ 4.96 บาท จากนั้นก็วิ่งขึ้นไปอย่างร้อนแรงที่จุดสูงสุดของวัน 6.15 บาท ก่อนจะลงมาปิดตลาดที่  5.95 บาท

วันอังคารที่ 19 เมษายน ราคาหุ้นยังไม่ยอมหยุดวิ่ง เปิดตลาดมาที่ราคา 6.30 บาท แล้วผันผวนช่วงหนึ่งก่อนจะวิ่งไปที่จุดสูงสุดของวัน 7.70 บาท แล้วปิดตลาดที่ราคานั้น

ความร้อนแรงชนิดเกินคาดครั้งนี้ ทำเอาเซียนๆ ทั้งหลายงุนงงไปตามๆ กัน…จากหุ้นที่เงียบเชียบ กลายเป็นหุ้นร้อนแรงจนยากจะห้าม…ได้ไง???

สอบถามพูลพิพัฒน์ดูแล้ว เจ้าตัวก็ยังงงๆ เป็นไก่ตาแตกอยู่ว่า เพิ่มทุนต่ำกว่าตลาด แถมเพิ่มตั้งเยอะ ไม่ได้ขายคนทั่วไปอีก และโครงการก็ยังไม่ได้เริ่ม ต้องใช้เวลาลงทุนอีกนานหลายปี …ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าหุ้นมีแม่เหล็กดึงดูดใจขาฮาร์ด…ตรงไหน

สอบถามคนในวงการหลายตลบ…ถึงบางอ้อว่า น่ากลัวชื่อที่มีเสน่ห์ดึงดูดเร้าใจที่สุด เห็นจะเป็น สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์…อดีตประธานหลายตำแหน่งน่ะเอง

ใครว่านามนั้นไม่สำคัญ…คงต้องขอเถียงล่ะ

อย่างน้อยราคาหุ้น QTC ที่ร้อนแรงติดกัน 2 วันมากถึง 56% มีโอกาสที่จะ…ไม่โดนตลาดหุ้นขึ้นบัญชี trading alert แน่นอน

มีชื่อหลวงพ่อสถิตย์เป็นยันต์กันภัยล่วงหน้าเรียบร้อย…55555

 

 

Back to top button