เมื่อลูกล้างผลาญกลับมา พลวัต 2016

ข่าวที่ห่างไกลคนไทยเหลือเกิน แต่มีความหมายต่อตลาดการเงินและตลาดทุนทั่วโลกอย่างมากสัปดาห์นี้ คือข่าวว่าด้วยการที่รัฐบาลอาร์เจนตินากำลังเตรียมการเสนอขายตราสารหนี้รัฐบาลหรือพันธบัตรอายุ 30 ปี มูลค่า 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในตลาดพันธบัตรระหว่างประเทศ


ข่าวที่ห่างไกลคนไทยเหลือเกิน แต่มีความหมายต่อตลาดการเงินและตลาดทุนทั่วโลกอย่างมากสัปดาห์นี้ คือข่าวว่าด้วยการที่รัฐบาลอาร์เจนตินากำลังเตรียมการเสนอขายตราสารหนี้รัฐบาลหรือพันธบัตรอายุ 30 ปี มูลค่า 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในตลาดพันธบัตรระหว่างประเทศ

เป้าหมายที่ระบุไว้ในการขายพันธบัตรมหาศาลครั้งนี้ มีไว้ชัดเจนว่า ประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จะนำไปชำระหนี้พันธบัตรที่เลยกำหนดไถ่ถอนมายาวนานกว่า 15 ปีกับบรรดาผู้ถือพันธบัตรที่เป็นคดีความฟ้องร้องกันยืดเยื้อเพื่อจบคดี ส่วนที่เหลือก็เพื่อนำไปแก้ปัญหาทางการคลังของรัฐบาลอาร์เจนตินา

นี่คือการกลับมาเป็นครั้งแรกในรอบ  15 ปีของรัฐบาลอาร์เจนตินาในตลาดตราสารหนี้ของโลก หลังจากการเบี้ยวหนี้อันอื้อฉาวครั้งสุดท้ายเนื่องจากวิกฤติทางการคลังรัฐบาลในช่วงปี ค.ศ. 2001

ตลาดตราสารหนี้พากันต้อนรับการกลับมาครั้งใหม่ของรัฐบาลอาร์เจนตินาภายใต้ประธานาธิบดีเมาริซิโอ มากรี้ อย่างใจจดใจจ่อ  จนมีการเปรียบเทียบว่าคล้ายคลึงกับนิยายเปรียบเทียบของพระเยซูคริสต์ในครั้งอดีตที่เล่าถึงการรอคอยของเศรษฐีเฒ่ายิวต่อ “ลูกล้างผลาญ” ที่เสเพลและหลงทาง ที่หมดเนื้อหมดตัวและสิ้นหนทางจนต้องซมซานกลับมา

นั่นเป็นการเปรียบเปรยที่เกินจริง เพราะโดยแท้จริงแล้ว การกลับมาของอาร์เจนนตินาในตลาดพันธบัตรระหว่างประเทศครั้งนี้ ได้จังหวะพอดีกับภาวะ “เงินท่วมโลก” จากการที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรโซนพากันพิมพ์ธนบัตรตามมาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเงินดังกล่าวล่องลอยในตลาดเก็งกำไรไปมาอย่างไร้เป้าหมายพอดี

ความหิวกระหายเงินสดมาแก้สภาพคล่องของอาร์เจนตินา กับความโหยหาลูกค้าหน้าใหม่ของตลาดพันธบัตรที่พร้อมจะจ่ายผลตอบแทนพันธบัตรที่ดีกว่าอัตรา “ติดลบ” ดังที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นและยูโรโซน  ถือว่าเป็นข่าวดีที่มาบรรจบกันเหมือนไม่ได้นัดหมาย แต่เหมาะเจาะยิ่งนัก ถือเป็นทางออกที่สวยงามให้กับคำถามที่ยังไร้คำตอบที่วนเวียนกันไปมาได้อย่างดี

พันธบัตรที่จะเสนอขายมูลค่า 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐครั้งนี้ ถือเป็นมูลค่ามหาศาลที่สุดรายหนึ่งในตลาดหนี้ของโลกยามนี้ มีเงื่อนไขสำคัญแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่มีอายุ 30 ปี มีกำหนดราคาพันธบัตรที่ระดับ 3 เซนต์เหนือพาร์ และส่วนที่อายุ 10 ปีมีกำหนดราคาที่ระดับ 2 เซนต์เหนือพาร์ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นวาณิชธนกิจหลัก 2 รายคือ Torino Capital ของนิวยอร์ก และ Latinvest ของไมอามี่  แต่มีผู้ที่ร่วมการจำหน่ายพันธบัตรมากมายทั่วโลกประกอบด้วย Deutsche Bank AG ของเยอรมนี HSBC Holdings Plc ของอังกฤษ  JPMorgan Chase & Co.ของสหรัฐฯ  Banco Santander SA ของสเปน  Banco Bilbao Vizcaya Argentaria SA ของอาร์เจนตินา  Citigroup Inc. ของสหรัฐฯ และ UBS Group AG ของสวิตเซอร์แลนด์

นักวิเคราะห์ตลาดทุนจำนวนมากยอมรับกันว่า นี่คือการประกาศแสดงการยอมรับความชอบธรรมของตลาดเงินระหว่างประเทศต่อรัฐบาลของนายเมาริซิโอ มากรี้ อย่างเต็มที่ หลังจากที่ตลาดสูญสิ้นความเชื่อถือในเครดิตของรัฐบาลอาร์เจนตินามานานกว่า 15 ปีแล้ว

การยอมรับดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ เท่ากับว่าในนามแห่งผลประโยชน์แล้ว ตลาดสามารถที่จะทำตนเป็น “ผู้โปรดสัตว์” ได้เสมอ ตราบใดที่ผู้หลงผิดเหล่านั้นสามารถที่จะกลับมาคืนผลประโยชน์ตอบแทนบางส่วนหรือทั้งหมดให้กับตลาดอีกครั้ง และ/หรือต่อไปในในอนาคต

การล่มสลายของเครดิตรัฐบาลอาร์เจนตินาต่อตลาดทุนระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ หากดำเนินมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว และดำเนินมานับครั้งไม่ถ้วน

อาร์เจนตินาในอดีตยุคสังคมเกษตร เคยมีภาพลักษณ์เป็นชาติที่มั่งคั่งระดับหัวแถวของโลก ก่อนการพยายามเปลี่ยนประเทศเป็นอุตสาหกรรม แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเข้าสู่ยุคใหม่ กลายเป็นชาติที่ล้มเหลวเพราะการเข้าสู่อุตสาหกรรมโดยที่ ไม่ได้เน้นหนักในการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยี หรือ ไม่สอดรับกับห่วงโซ่อุปทานของโลก รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่แยกตัวออกจากกระบวนการผลิต ล้วนเป็นบทเรียนที่ไม่ได้มีการทบทวนและแก้ไข ปล่อยให้ตกอยู่ใต้วงจรอุบาทว์ของความไร้ดุลยภาพ

ปรากฏการณ์ของหายนะทางการเมือง การคอร์รัปชั่น และ ความล่มสลายทางเศรษฐกิจตลอด 2 ศตวรรษ ทำให้โลกรู้จักประเทศนี้ในฐานะแหล่งผลิตท่าเต้นแทงโก้ แหล่งส่งออกนักฟุตบอลระดับโลก ที่พร้อมจะล่มสลายทางเศรษฐกิจซ้ำซาก เหมือนละครน้ำเน่า

รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่นำเอานโยบายประชานิยมแบบเล่นพวกมาใช้จนชาติล่มสลาย ตามมาด้วยรัฐบาลเผด็จการทหารที่ฆ่าคนในประเทศมหาศาล และล้มเหลวในการรับมือเศรษฐกิจ ล้วนมีส่วนทำให้อาร์เจนตินากลายเป็นต้นแบบที่อัปลักษณ์ซึ่งทำให้ตลดาดทุนโลกต้องมีบทเรียนมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนถึงครั้งล่าสุดจากการเบี้ยวหนี้ครั้งใหญ่ ค.ศ. 2011

การกลับมาของ “ลูกล้างผลาญ” อย่างอาร์เจนตินารอบใหม่นี้ จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ เป็นคำถามที่ท้าทาย เพราะยังไม่มีใครรู้ดีว่า อาร์เจนตินาจะสามารถก้าวข้ามอดีตที่เลวร้ายของตนเองได้อีกหรือไม่ แต่ในยามที่เงินล้นโลกยามนี้ การมีคนที่หิวกระหายเงินมาช่วยดูดซับส่วนเกินออกไปจากระบบเสียบ้างก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีในระยะเฉพาะหน้า

หลังจากนั้นก็ค่อยว่ากันอีกทีในอนาคต ที่ไม่มีใครคาดเดาล่วงหน้าได้

Back to top button