พาราสาวะถี อรชุน

เป็นไปตามสูตรจริงๆ เมื่อเข้าสู่ห้วงสถานการณ์จวนตัวไม่ว่ายุคไหนสมัยใดเป็นต้องงัดเอามุก ทักษิณ ชินวัตร มาใช้ดับความร้อนแรงของกระแสข่าวที่พุ่งเข้าหาตัวเองทุกครั้ง ท่วงทำนองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้สัมภาษณ์ล่าสุดก็เช่นเดียวกัน การกล่าวหานักศึกษาที่เคลื่อนไหวมีคนต่างประเทศให้การสนับสนุนและวางแผนดำเนินการซึ่งก็หนีไม่พ้นการเอ่ยชื่อทักษิณ


เป็นไปตามสูตรจริงๆ เมื่อเข้าสู่ห้วงสถานการณ์จวนตัวไม่ว่ายุคไหนสมัยใดเป็นต้องงัดเอามุก ทักษิณ ชินวัตร มาใช้ดับความร้อนแรงของกระแสข่าวที่พุ่งเข้าหาตัวเองทุกครั้ง ท่วงทำนองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้สัมภาษณ์ล่าสุดก็เช่นเดียวกัน การกล่าวหานักศึกษาที่เคลื่อนไหวมีคนต่างประเทศให้การสนับสนุนและวางแผนดำเนินการซึ่งก็หนีไม่พ้นการเอ่ยชื่อทักษิณ

ไม่ใช่การโยนหินถามทาง แต่เป็นการโยนประเด็นเพื่อให้เป็นกระแสกลบข่าวร้อนทั้งหลายแหล่ที่บิ๊กตู่และคนในรัฐบาลร่วมกันสร้างขึ้นมาในห้วงเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการห้ามแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ การควบคุมตัว วัฒนา เมืองสุข ไปปรับทัศนคติ โดยมีกลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์กดดันให้มีการปล่อยตัวรายวัน

รวมไปถึงกรณี พลเอกปรีชา จันทร์โอชา น้องชายองค์รัฏฐาธิปัตย์ที่เซ็นคำสั่งตั้งลูกชายของตัวเองเป็นนายทหาร เป็นความไม่เหมาะสมที่บิ๊กตู่เองก็ยอมรับในทีว่ามันไม่สมควรที่จะไปลงนามด้วยตัวเอง เพียงแต่ว่า ต้องดูท่าทีของคนที่ถูกกล่าวหาจะออกมาตอบโต้ กระโดดงับเหยื่อที่ถูกโยนมาล่อหรือไม่ หากปากไวซัดกลับย่อมเป็นการช่วยกลบข่าวร้ายให้ฝ่ายตรงข้ามไปโดยปริยาย

ในชั้นเชิงของการต่อสู้ไม่ว่าจะนักการเมืองหรือนักการทหารที่โดดมาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวผ่านการรัฐประหาร ย่อมไม่มีใครยอมใคร แต่คำถามที่สำคัญในแง่ของประชาชนในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญกันอยู่แล้วมันเกิดประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติและชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนอยู่หรือไม่ ช่วงชิงอำนาจจะรักษาเก้าอี้กันอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ในอีกด้านในฐานะผู้มีอำนาจต้องทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีด้วย

จะเที่ยวไปโทษว่าเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างนี้ สภาวะอากาศมันเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ จนถึงขนาดไปโทษว่าเป็นเพราะการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลที่ผ่านมาจึงมีผลต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่เป็นอยู่เวลานี้ ทำได้แค่นี้ก็ไม่สมควรที่จะอยู่บริหารประเทศกันต่อเพราะมันง่ายเกินไป ต้องอธิบายให้ได้ว่ามาตรการสารพัดที่บอกว่าทำกันไป เม็ดเงินที่อัดกันลงไปนั้น มันช่วยทำให้ประชาชนคลายความเดือดร้อนไปได้มากน้อยขนาดไหน

อีกมุมจากการแสดงออกของท่านผู้นำ กรณีการไล่บี้ไม่ให้ฝ่ายระบอบทักษิณหรือกลุ่มคนที่ต่อต้านมีที่ยืน ต้องย้อนกลับไปมองด้วยว่า ในสายตาของต่างชาตินั้นเป็นอย่างไร การทึกทักเอาว่าเดินทางไปมาหลายประเทศหลายเวทีเขาให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง นั่นเป็นภาพของความเป็นจริงที่เขาจริงใจหรือแค่มายาทางการทูต เรื่องอย่างนี้สัมผัสกันได้ถ้าไม่โกหกตัวเอง

หากไม่เข้าใจ ให้ลองไปหาอ่านบทวิเคราะห์ของ พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ อาจารย์ประจำสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการสาธารณะ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ได้นำเสนอทิศทางการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของนโยบายต่างประเทศของไทยภายใต้การชี้นำของรัฐบาลทหาร โดยมองว่าไทยกำลังเผชิญกับสภาวะ ถูกลดทอนภาพลักษณ์และบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ

โดยพงศ์พิสุทธิ์ได้ย้อนภาพให้เห็นว่า ในช่วงสงครามเย็นและหลังสงครามเย็น ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในการริเริ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการเล่นบทบาทเป็นตัวกลางเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทั้งระหว่างและภายในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ไทยยังเป็นพันมิตรด้านความมั่นคงที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงและบทบาทของไทยข้างต้นได้เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ทั้งนี้เพราะประชาธิปไตยได้กลายเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองสากล คณะรัฐประหารจึงเผชิญกับกระแสกดดันจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและยุโรป รัฐบาลทหารจำเป็นต้องดิ้นรนหาแหล่งความชอบธรรมและการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศใหม่ ด้วยเหตุนี้ จีนจึงกลายเป็นที่พึ่งแหล่งใหม่และทางออกวิกฤติความชอบธรรมในสายตารัฐบาลทหารอย่างไม่ต้องสงสัย

แนวทางนโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนผ่านการเปรียบเทียบถ้อยแถลงของผู้นำทหารไทยต่อสองมหาอำนาจ ด้านหนึ่งบิ๊กตู่ตอบโต้สหรัฐฯด้วยการประกาศกร้าวว่า อย่าตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทั้งโลก มันทำไม่ได้ขณะที่อดีตรัฐมนตรีระหว่างประเทศ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกรได้กล่าวชื่นชมหยอดคำหวานต่อ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน

ด้วยถ้อยคำที่ว่าเป็นคนน่ารักและสุภาพหากตนเป็นผู้หญิงจะต้องตกหลุมรักเจ้าหน้าที่จีนระดับสูงผู้นี้เป็นแน่ ถ้อยแถลงดังกล่าวถือว่าผิดธรรมเนียมการทูตพื้นฐานว่าด้วยวิถีปฏิบัติระหว่างรัฐอย่างเท่าเทียมกัน จีนกลายเป็นรัฐอุปถัมภ์ใหม่ที่ให้ความชอบธรรมแก่ไทย ในขณะที่แนวนโยบายไทยต้องยอมผ่อนปรนและถูกชี้นำโดยผลประโยชน์ของรัฐบาลจีน ความสัมพันธ์ข้างต้นมีลักษณะไม่เท่าเทียมกัน

ไทยได้สูญเสียความดึงดูดทางยุทธศาสตร์จากสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯได้หันไปกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และเวียดนามแทน จริงอยู่สหรัฐฯไม่ใช่ที่พึ่งอันขาดไม่ได้ของไทย แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ ไทยจำเป็นต้องคงไว้ซึ่งการมีคู่เจรจาที่หลากหลาย สิ่งสำคัญคือ ไทยมิใช่ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยในย่านอาเซียนในสายตาชาวโลกอีกต่อไป 

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลทหารยังมีนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะที่เอื้อต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของจีน อาทิ การส่งตัวผู้อพยพอุยกูร์และผู้ลี้ภัยการเมืองกลับจีน ผลที่ตามมาก็คือ ไทยถูกประณามจากองค์กรระหว่างประเทศ และเผชิญกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงในหลายประเทศ เช่น การโจมตีสถานทูตไทยที่ตุรกี เป็นต้น

การที่รัฐบาลทหารไทยได้ปรับนโยบายต่างประเทศในลักษณะที่กระชับความสัมพันธ์และอ่อนโอนต่อผลประโยชน์ของจีน นำไปสู่การเสื่อมถอยของภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในเวทีโลกโดยรวม ซึ่งนับเป็นต้นทุนที่สูงของไทยเพื่อแลกกับการยอมรับและให้ความชอบธรรมต่อรัฐบาลทหารของจีน นี่คือมุมมองของนักวิชาการไทยในต่างแดนที่มองมายังนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลรัฐประหารไทย

เหมือนอย่างที่นักวิชาการในประเทศและนักเคลื่อนไหวหลายๆ คนได้แสดงความกังวลกันไว้ก่อนหน้านี้ การที่ดูแลปัญหาด้านความมั่นคงได้เพราะการใช้อำนาจพิเศษไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาของประเทศ มันเป็นแค่ความมั่นคงชั่วคราวโดยที่ปัญหาเดิมๆ ทั้งหลายทั้งปวงยังมีอยู่ โดยเฉพาะกับท่าทีการยอมรับจากต่างประเทศ ทางออกก็คือ การกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย เปิดทางให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถกำหนดแนวนโยบายต่างประเทศในลักษณะที่ตรวจสอบได้และมีความสมดุลมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

Back to top button