พาราสาวะถี อรชุน

คนการเมืองต้องลดธงลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยให้กับ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของไทย ซึ่งได้ถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังจากเข้ารับการรักษาด้วยอาการโรคหอบหืดกำเริบที่โรงพยาบาลศิริราชก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ถือเป็นการปิดตำนานนักการเมืองผู้ได้ฉายามากมายทั้ง มังกรสุพรรณ มังกรการเมืองและบิ๊กเติ้งหรือเติ้งเสี่ยวหารนั่นเอง


คนการเมืองต้องลดธงลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยให้กับ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของไทย ซึ่งได้ถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังจากเข้ารับการรักษาด้วยอาการโรคหอบหืดกำเริบที่โรงพยาบาลศิริราชก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ถือเป็นการปิดตำนานนักการเมืองผู้ได้ฉายามากมายทั้ง มังกรสุพรรณ มังกรการเมืองและบิ๊กเติ้งหรือเติ้งเสี่ยวหารนั่นเอง

แม้พรรคการเมืองอย่างชาติไทยที่บรรหารนั่งเป็นหัวหน้าพรรคก่อนจะถูกยุบพร้อมกับพรรคพลังประชาชนและมัชฌิมาธิปไตยในช่วงของม็อบมีเส้นยึดสนามบิน ได้ชื่อว่าเป็นพรรคปลาไหล บางสำนักถึงขึ้นเติมใส่สเก๊ตพ่วงท้ายเข้าไปด้วย แต่คุณูปการที่เกิดจากการเป็นผู้นำประเทศของบรรหารในช่วงปี 2538-2539 นั่นก็คือ การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่คลอดรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั่นเอง

การรูดม่านปิดฉากตามอายุขัยของคนที่ได้ชื่อว่าเซียนการเมือง โดยที่ก่อนหน้าจะถึงแก่อนิจกรรมนั้น บิ๊กเติ้งเพิ่งประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยไปหมาดๆ ด้วยเหตุผลประเทศชาติต้องการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชน ในโอกาสที่โศกเศร้าเช่นนี้คงไม่เหมาะที่จะพูดถึงว่า แล้วชะตากรรมของพรรคชาติไทยพัฒนาจะเดินกันต่อไปอย่างไร ซึ่งก็น่าสนใจและน่าติดตามไม่ใช่น้อย

เมื่อคนกลายเป็นตำนานและพรรคก็มีตำนาน การสืบสานแนวคิดและการทำงานการเมืองนั้น คงจะมีอยู่ต่อไป เพียงแต่ว่าทายาทซึ่งก็หมายถึง “ลูกท็อป” วราวุธ และ “หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา ยังจะสืบทอดเจตนารมณ์จากผู้เป็นพ่อต่อไป หรือจะปล่อยให้พรรคเป็นเรื่องของสมาชิกซึ่งบรรดาแกนนำก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่บิ๊กเติ้งปลุกปั้นมากับมือทั้งสิ้นจะว่ากันไป โดยไม่เกี่ยวข้องกับคนในบ้านจรัญสนิทวงศ์ 55 อีก

ขณะที่คนของพรรคชาติไทยพัฒนาอยู่ในอาการเศร้าโศก แต่อีกด้านการเมืองที่ว่าด้วยการทำประชามติก็เข้าสู่โหมดเข้มข้นขึ้น เมื่อพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปีผลบังคับใช้ นั่นหมายความว่า ข้อห้ามเรื่องการแสดงความก้าวร้าว รุนแรง ปลุกระดม บิดเบือน ตามข้อบัญญัติในกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วเช่นกัน

โดยการบัญญัติพฤติกรรมที่กว้างขวางเช่นนี้ จำเป็นที่กกต.จะต้องวางหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าสิ่งไหนที่เข้าข่ายข้อห้ามดังว่านั้น เพื่อป้องกันการกล่าวหา ใส่ร้าย ที่สำคัญจะได้ไม่ต้องให้ใครใช้ไปตีความเพื่อหวังผลในการทำลายบุคคลหรือกลุ่มคนพวกหนึ่งพวกใด แต่ถ้าฟัง ประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม พูดถึงหลักเกณฑ์ที่กกต.จะจัดทำขึ้นแล้ว คงไม่ต่างจากสิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขู่ไว้ก่อนหน้านั้น

เพราะถอดรหัสจากคำพูดของกกต.รายนี้แล้ว สรุปได้ว่าทั้งฝ่ายรับหรือฝ่ายไม่รับก็ห้ามรณรงค์ทั้งสิ้น ภาษาที่ใช้มันคลุมเครือไม่ตอบโจทย์ที่สังคมสงสัยให้ชัด สรุปแล้ว การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหนนี้ จะมีเพียงกรธ. สนช.และสปท.ที่จะได้ชี้แจงเนื้อหาส่วนดีของร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง รวมไปถึงเครือข่ายของรัฐบาลที่วางเป้า 3 แสนคนเท่านั้นที่จะได้อธิบายเรื่องร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนฟังโดยไม่ผิดกฎหมาย

เมื่อสถานการณ์มันเดินทางมาถึงจุดนี้ ที่หวังกันว่าน่าจะมีการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางเลือกให้ประชาชนได้ตัดสินเป็นอันปิดประตูตาย ด้วยเหตุนี้ความเห็นล่าสุดของ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ฝากข้อคิดถึงผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในฐานะนักประชาธิปไตยผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์เขามีความเห็นอย่างไร

เดอะอ๋อยจั่วหัวว่า ยังไม่ทันไรก็ทำท่าจะล้มเลิกการลงประชามติเสียแล้ว ยังไม่มีประชาชนฝ่ายไหนเลยที่แสดงออกว่าต้องการจะขัดขวางการลงประชามติ ความคิดที่จะล้มการลงประชามตินี้กลับมาจากผู้มีอำนาจแท้ๆ การจะล้มเลิกการลงประชามตินั้น แค่คิดก็ผิดแล้ว ยิ่งพูดออกมายิ่งผิดเพราะทำให้เกิดความไม่แน่นอน คนไม่เชื่อมั่นว่าประเทศนี้จะเดินไปอย่างไร กระทบการลงทุนส่งผลต่อเศรษฐกิจไปแล้ว

ที่ร้ายกว่านั้นถ้าล้มเลิกจริงๆ ขึ้นมา จะทำให้ประเทศเสียโอกาสในการที่จะให้ประชาชนได้ช่วยกันแก้ปัญหาจากความขัดแย้งแตกต่างและจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นโดยไม่มีทางออก ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าฝ่ายที่ต้องช่วยกันพยายามประคับประคองให้เกิดการลงประชามติขึ้นให้ได้คือประชาชน การป้องกันการล้มการลงประชามตินั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแต่อย่าไปทำอะไรให้เข้าทางผู้ที่ต้องการจะล้มการลงประชามติ

เช่นอย่าไปก่อกวนขัดขวางกระบวนการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่จะมาชี้แจงหรือแม้แต่ใครจะรณรงค์สนับสนุนร่างก็อย่าไปขัดขวาง ปล่อยให้ทำได้เต็มที่เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย เพียงแต่เราก็ขอใช้สิทธิ์ชี้แจงความคิดเห็นของเราบ้าง โดยไม่ต้องไปแย่งเวทีหรือไมโครโฟนของเขา ถึงตอนจะลงประชามติก็อย่าไปขัดขวางคนไปออกเสียง อย่าไปปิดทางเข้าออก อย่าไปทำลายบัตรลงคะแนน แต่ควรจะส่งเสริมให้คนไปลงประชามติกันมากๆ ด้วยความสะดวกเรียบร้อย

เมื่อไม่มีการก่อกวนการชี้แจงของทุกฝ่ายและไม่มีการกระทบกระทั่งใดๆ ก็ไม่มีเหตุจะเอาไปอ้างเพื่อล้มเลิกการลงประชามติ อีกอย่างหนึ่ง ถ้ามีเจ้าหน้าที่หรือคนแปลกหน้ามาถามว่าจะว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่จำเป็นต้องบอกเขา เพราะถ้าหากบอกว่าไม่รับกันไปมากๆ เขาเกิดกลัวแพ้ขึ้นมาก็เลยจะพาลพาโลหาเหตุต่างๆ นานาล้มเลิกการลงประชามติไปเสียอีก

เสนออย่างนี้ไม่ใช่ประชด แต่พูดด้วยความจริงใจ เพราะเห็นว่าการลงประชามติเป็นเรื่องสำคัญที่จะตัดสินอนาคตของประเทศและเป็นโอกาสที่ประชาชนทั้งหลายจะบอกให้คนทั้งโลกรู้ว่าคนไทยต้องการประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการ ส่วนการแสดงความเห็นทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุนนั้นไม่ใช่ความวุ่นวาย เป็นเรื่องปกติที่รัฐควรต้องส่งเสริมด้วยซ้ำ เมื่อมีประชามติทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต้องสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี

บทสรุปของคนที่สงสัยก็คงเหมือนอย่างที่จาตุรนต์ว่าไว้นั่นแหละ จะเป็นไปได้ยังไงที่จะไม่ให้พูดถึงรัฐธรรมนูญไม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ประชามติในโลกมนุษย์นี้เขาต้องให้ประชาชนพูดคุยกันเสียให้เต็มที่ แล้วตัดสินด้วยเสียงข้างมาก คำสั่งหรือกฎหมายใดที่ห้ามคนแสดงความเห็นในเรื่องที่จะลงประชามติ ย่อมไม่มีความชอบธรรมและจะไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจจะไม่ได้สนใจในประเด็นนี้เพราะเขาคิดและเชื่อมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่มีต่างหากคือกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์

Back to top button