(แก้ไข) ดูยัง? PTT เคลียร์ชัดทุกประเด็น!

ดูยัง? PTT เคลียร๋ชัดทุกประเด็น! หลังประธานผู้ตรวจการแผ่นดินวิจารณ์การดำเนินงานด้านต่างๆ ในสาธารณะ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม kaohoon.com/online/content/view/37075


บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ระบุว่า ตามที่มีการวิจารณ์บริษัทผ่านสื่อมวลชน โดยปราศจากข้อเท็จจริง และขาดความเข้าใจอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจการด้าน พลังงาน และการบริหารงานในลักษณะบริษัทมหาชน และได้มีผู้นำไปเผยแพร่ต่อในสื่อสังคมต่างๆ ปตท. เห็นว่าการกล่าวอ้างดังกล่าวทำให้เกิดความสับสนกับประชาชนทั่วไป สร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ขององค์กร และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ดังนั้น ปตท. จึงขอชี้แจงในประเด็นที่ถูกนำมากล่าวอ้างดังต่อไปนี้

 

ประเด็นที่ 1. การยื่นฟ้องคดีของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องการคืนท่อก๊าซฯ ควรต้องรอคำวินิจฉัยของศาลฯ

ตามที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างว่าคำฟ้องของตนเป็นข้อเท็จจริงคนละส่วนกับคำฟ้องของคุณรสนา โตสิตระกูลนั้น เนื่องด้วย ปตท.  ยังไม่ได้รับหมายสำเนาคำฟ้องหรือหมายเรียกจากศาล จึงยังไม่ทราบรายละเอียดของคำฟ้อง อย่างไรก็ตาม หากคำฟ้องดังกล่าวเป็นเรื่องของการคืนท่อก๊าซฯ ปตท. ขอยืนยันว่าได้ส่งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้กับศาลปกครองสูงสุดพิจารณาในคดีแปรรูป (คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 35/2550) แล้ว และพร้อม ที่จะชี้แจงเพิ่มเติมตามที่ศาลปกครองจะพิจารณาเห็นสมควร และเพื่อเป็นการเคารพในกระบวนการยุติธรรม ปตท. จึงจะไม่ชี้แจงประเด็นนี้ในสาธารณะนอกเหนือจากที่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลฯ แล้ว

 

ประเด็นที่ 2. ปตท. ยืนยันดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว และ ปตท. ไม่มีอำนาจมหาชนของรัฐ อีกต่อไป

มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ขอให้ศาลเพิกถอนการแปรรูป ปตท. และต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครอง สูงสุดมีคำพิพากษาไม่เพิกถอนการแปรรูป ปตท. แต่ให้แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และอำนาจมหาชนของรัฐออกจาก ปตท. 

ทั้งนี้ การดำเนินการแปรรูป ปตท. เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดตาม พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ด้วยความรอบคอบ ผ่านการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนดำเนินการ

สำหรับในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก่อนวันจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด (1 ตุลาคม 2544) โอนไปเป็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งทรัพย์สินที่จะต้องแบ่งแยกเพื่อคืนรัฐ ได้แก่ส่วนที่

1. ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ (โดยการปิโตรเลียมฯ)  

2. บังคับเหนือที่ดินของเอกชน (การเวนคืนและการรอนสิทธิ) และ

3. ได้จ่ายเงินค่าทดแทนโดยการใช้เงินของการปิโตรเลียมฯ  

สำหรับ ทรัพย์สินที่การปิโตรเลียมฯได้มาโดยมิได้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ แต่ได้มาโดยวิธีการอื่น เช่น การซื้อ การจัดหา หรือแลกเปลี่ยนนั้น ไม่ต้องคืนให้กระทรวงการคลัง ดังนั้น ท่อ ก๊าซฯในทะเล ซึ่งไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนบังคับเหนือที่ดินของเอกชนใด และไม่ได้มีการจ่ายค่าทดแทนให้แก่เอกชนใด จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องคืนให้แก่กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาล ปกครองสูงสุด

ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ที่ดินและท่อก๊าซฯที่อยู่บนที่ดินดังกล่าวแล้ว โดยศาลก็ได้มีคำสั่งยืนยันหลายครั้งว่าได้ดำเนินการตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว ซึ่งครั้งล่าสุด คือ วันที่ 7 เมษายน 2559 ศาลปกครองสูงสุดโดยการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลวัน ที่ 26 ธันวาคม 2551

ประเด็นที่กล่าวอ้างว่า ในวันที่มีคำสั่งว่าการดำเนินการตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว ศาลฯ ยังไม่เห็นรายงานของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีข้อสังเกตว่า ปตท. ยังดำเนินการไม่ครบถ้วนนั้น สตง. ได้มีหนังสือแจ้งความเห็นโดยตรงไปยังศาลฯ 2 ฉบับ ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งศาลฯ ได้พิจารณาหนังสือดังกล่าว และแจ้งตอบ สตง. แล้วว่า ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในส่วนอำนาจมหาชนของการปิโตรเลียมฯ เมื่อได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 อำนาจมหาชนของรัฐได้ถูกโอนไปเป็นของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จึงทำให้ในปัจจุบัน ปตท. ไม่มีอำนาจมหาชนของรัฐอีกต่อไป  

 

ประเด็นที่ 3. การแปรรูป ปตท. เป็นไปตามนโยบายรัฐที่ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล การให้สิทธิพนักงานจองซื้อเป็นไปอย่างโปร่งใส ตามแนวปฏิบัติสากล เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร 

การกล่าวหา ว่า ปตท. แจกหุ้นพนักงานและสหภาพรัฐวิสาหกิจ เพื่อปิดปากไม่ให้คัดค้านการแปรรูปการปิโตรเลียมฯ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และขาดความเข้าใจหลักการบริหารประสิทธิภาพองค์กร

การกระจาย หุ้นของ ปตท. เปิดให้ผู้สนใจลงทุนและพนักงานจองซื้อ ได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติสากล โดยที่ปรึกษาการเงินชั้นนำของไทยและระดับโลก ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม 

การให้สิทธิพนักงานจองซื้อหุ้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการให้พนักงานมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัท หรือ ESOP (Employee Stock Ownership Plan) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสากล ทั้งในต่างประเทศ และในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีความผูกพันกับองค์กร มีส่วนร่วมและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของบริษัท ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพ องค์กรมีผลประกอบการที่ดีและเจริญเติบโตไปด้วยกัน ดังเห็นได้จากบริษัทชั้นนำในต่างประเทศเช่น Apple, Alibaba, BP รวมทั้งรัฐวิสาหกิจของไทยอื่นๆที่แปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

การที่ ปตท. สามารถ ดำเนินการแปลงสภาพตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ โดยปราศจากการคัดค้านอย่างรุนแรงนั้น เนื่องจาก ปตท. ได้เปิดโอกาสให้พนักงานและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของ ปตท. เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูล และร่วมในคณะทำงานเรื่องต่างๆ ตั้งแต่แรกเริ่ม จึงทำให้พนักงานเข้าใจเจตนารมณ์ วัตถุประสงค์การแปลงสภาพ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่องค์กรและประเทศชาติ การดำเนินการต่างๆจึงเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ จึงเห็นได้ว่า การไม่คัดค้านการแปรรูป ปตท. ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการได้รับจัดสรรหุ้น ESOP แต่อย่างใด

 

ประเด็นที่ 4. สถาบันการเงินที่มีชื่อต่อท้ายว่า Nominee ถือหุ้น ปตท. เป็นกรณีปกติของบัญชีรับฝากหลักทรัพย์ของการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งถือหุ้นบริษัทมหาชนชั้นนำอื่นๆใน ตลท. เช่นเดียวกัน

การกล่าวหาว่ามีบุคคลใช้บัญชี Nominee มาถือหุ้น ปตท. และได้ประโยชน์มากมายจากเงินปันผล เกิดจากความไม่เข้าใจกลไกในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยนักลงทุนต่างประเทศ

สถาบันการเงินต่างๆจัดตั้งบัญชี Nominee และดำเนินการบริหารเงินลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อย นิติบุคคล นักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ประสงค์ลงทุนหรือซื้อหุ้นในประเทศอื่น ภายใต้กฎหมายของแต่ละประเทศ และทำหน้าที่เป็นบัญชีรับฝากหลักทรัพย์ของนักลงทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญ, กองทุนประกันสังคม, กองทุนบริหารสินทรัพย์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติปกติสากล   บริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ ก็มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นบัญชี Nominee เพื่อสนับสนุนการลงทุนและระดมทุนจากนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหลักทรัพย์ของไทย 

ตัวอย่างบัญชี Nominee ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของ ปตท. คือ Chase Nominee Limited จัดตั้งโดยธนาคารขนาดใหญ่ของโลก เพื่อให้บริการลูกค้าที่ประสงค์จะลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ จึงมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชั้นนำของไทยหลายแห่ง เช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บมจ.บ้านปู ธนาคารกสิกรไทย บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น เป็นต้น

 

Rank

Mkt Cap.

จำนวนบริษัทที่มี Nominee เป็นผู้ถือหุ้น

สัดส่วน บริษัทที่มี Nominee เป็นผู้ถือหุ้น ต่อ บริษัททั้งหมด

Top 50

42

84%

Top 100

70

70%

 

ประเด็นที่ 5. การนำเงินกองทุนน้ำมัน ไป ชดเชยราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มในอดีต เป็นการดำเนินการโดยรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ไม่ให้ราคาสูงตามต้นทุนที่นำเข้า ปตท.ไม่มีส่วนได้เสียใดๆ

การกล่าวหาว่ามีการนำเงินกองทุนฯมาช่วยค่าขนส่งก๊าซ LPG ของ ปตท. เกิดจากความไม่เข้าใจนโยบายการกำกับราคาพลังงานของรัฐและไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจน 

ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา รัฐบาลเปิดเสรีให้ผู้ดำเนินธุรกิจก๊าซ LPG (ผู้ค้ามาตรา 7) สามารถนำเข้าและจำหน่าย LPG ได้ โดยหากมีต้นทุนการนำเข้าสูงกว่าราคาที่รัฐกำหนดให้ขายก็จะได้รับการชดเชย จึงไม่มีผู้ค้ารายใดสนใจ เพราะไม่มีแรงจูงใจ เนื่องจากผู้นำเข้าต้องจ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อนแล้วจึงได้รับเงินชดเชยจากรัฐ ภายหลัง

จากการที่ราคาพลังงานโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นมาในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยในยุคต่างๆมีนโยบายตรึงราคาขายก๊าซ LPG เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค ซึ่งทำให้ต้องนำเงินจากกองทุนฯมาชดเชยส่วนต่างจากต้นทุนที่นำเข้ามาสำหรับปริมาณที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  ซึ่งมากบ้างน้อยบ้างตามภาวะราคาในตลาดโลก นอกจากนั้น รัฐยังได้ประกาศนโยบายก๊าซ LPG ทั่วประเทศราคาเดียวกัน ทำให้ต้องนำเงินกองทุนฯอีกส่วนมาชดเชยค่าขนส่งและกระจายผลิตภัณฑ์

ในฐานะผู้ดำเนินการนำเข้าและกระจายก๊าซ LPG ปตท. จึงเป็นผู้ได้รับการชดเชยดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อัตราที่รัฐชดเชยยังต่ำกว่าต้นทุนการนำเข้าและขนส่งจริง ทำให้ ปตท. ขาดทุนจากการดำเนินการในส่วนนี้ โดยปี 2558 เป็นเงินประมาณ 1,042 ล้านบาท แบ่งเป็นขาดทุนจากการนำเข้า 622 ล้านบาท และขาดทุนจากการขนส่งประมาณ 420 ล้านบาท จึงเห็นได้ว่า การนำเงินกองทุนฯมาอุดหนุนราคาก๊าซ LPG ไม่ใช่เล่ห์การโกงของใครทั้งสิ้น แต่มาจากนโยบายรัฐที่ต้องการแบ่งเบาภาระผู้บริโภค ไม่ให้ราคาขายก๊าซ LPG ในประเทศสูงตามต้นทุนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 รัฐได้ประกาศลอยตัวราคาขายปลีกก๊าซ LPG ให้สะท้อนต้นทุนการนำเข้าที่แท้จริง  โดยใช้โอกาสที่ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับตัวลงมาใกล้เคียงกับราคาที่ขายในประเทศ ดังนั้นภาระการชดเชยด้วยเงินจากกองทุนจะลดลง

 

ประเด็นที่ 6. ปตท. ดำเนินการจัดหาด้วยกระบวนการที่โปร่งใส ตามระเบียบและหลักการกำกับกิจการที่ดี พร้อมรับการตรวจสอบ โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการประมูลสร้างแท้งก์น้ำมัน 10 แห่ง ตามที่มีการกล่าวหาว่าผู้ชนะเสนอราคาสูงกว่าปกติ 4-5 ล้านบาท

ข้อกล่าวหาว่ามีผู้ชนะการประมูลสร้างแท้งก์น้ำมัน 10 แห่งของ ปตท. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เสนอราคาสูงกว่าปกติ 4-5 ล้านบาท เป็นการรับฟังจากบุคคลที่ 3 โดยไม่ได้แสดงรายละเอียดและหลักฐานใดๆประกอบ ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ปตท. ได้ตรวจสอบเบื้องต้น ไม่ปรากฏว่าในช่วงปี 2557 – 2558 มีการประมูลสร้างถังน้ำมันใดๆ 

ปตท. ขอเรียกร้องให้ผู้กล่าวหาแสดงรายละเอียดและหลักฐานเกี่ยวกับกระบวนการจัดหา ที่อ้างถึง เพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบ ชี้แจง และแก้ไขหากมีข้อบกพร่องจริง

 

ประเด็นที่ 7. ราคาน้ำมันปรับขึ้นลงโดยกลไกตลาดและนโยบายรัฐในการเก็บภาษีและกองทุนน้ำมัน ปตท. เป็นตัวแทนรัฐในการสร้างการแข่งขันด้านราคาเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

ข้อกล่าวหาว่า ปตท. ใช้สิทธิแสวงหาประโยชน์จากประชาชน เมื่อมีการตรวจสอบเรื่องกองทุนน้ำมัน ราคาน้ำมันจึงถูกลง เกิดจากการขาดความเข้าใจในกลไกการกำหนดราคาน้ำมันของไทย

โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญคือ

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งแปรตามราคาตลาด

2. ภาษีสรรพสามิตและอื่นๆ ตามที่รัฐกำหนด ส่งเป็นรายได้เข้ารัฐเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ

3. เงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันและอื่นๆ ตามที่รัฐกำหนด เพื่อใช้เป็นกลไกผลักดันนโยบายด้านพลังงานของรัฐ

4. ค่าการตลาดของผู้ค้า ซึ่งติดตามดูแลโดยกระทรวงพลังงานให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

 กองทุน น้ำมันเป็นเครื่องมือของรัฐในการกำกับราคาน้ำมันชนิดต่างๆ ให้เป็นไปตามนโยบาย โดยมีคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เป็นผู้กำกับการบริหารจัดการและกำหนดการจัดเก็บเงิน ซึ่งเรียกเก็บหรือส่งผ่านไปยังผู้บริโภคโดยตรง ปตท. และผู้ค้าน้ำมันอื่นไม่มีส่วนได้เสียใดๆในส่วนเงินเก็บเข้ากองทุนฯ 

ราคาน้ำมันขึ้นลง เป็นผลจากราคาอ้างอิงในตลาดสากล และการกำหนดอัตราภาษีและเงินกองทุนเป็นหลัก ในส่วนค่าการตลาดที่ ปตท. และบริษัทน้ำมันอื่นๆ ได้รับ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ประมาณ 1.50 บาทต่อลิตร ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกน้ำมัน  

ปตท. ไม่เคยขายน้ำมันแพงกว่าสถานีบริการน้ำมันหรือปั๊มตราอื่นๆ แต่มีแนวปฏิบัติที่จะชะลอการปรับราคาเพื่อสร้างการแข่งขันในตลาดน้ำมัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่นในปี 2558 ปตท. ตั้งราคาหน้าปั๊มต่ำกว่าปั๊มของบริษัทน้ำมันต่างประเทศ เป็นจำนวน 23 วัน จาก 365 วัน

 

ประเด็นที่ 8. ค่าตอบแทนกรรมการ ปตท. แปรผันตามผลการดำเนินงานขององค์กร มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของบริษัทมหาชนทั่วไป 

ข้อกล่าวหา ว่ากรรมการ ปตท.ได้รับผลประโยชน์มากเป็นเพราะผู้กล่าวหาไม่มีการเปรียบเทียบข้อมูลกับ องค์กรที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะบริษัทมหาชน 

ค่าตอบแทน กรรมการของ ปตท. ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ต้องให้ความเห็นชอบด้วย โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนใน ตลท. อื่นๆ และแปรผันตามผลการดำเนินงานในแต่ละปี โดยจะเปิดเผยอยู่ในรายงานประจำปีที่สาธารณชนสามารถตรวจสอบดูได้  

ในปี 2557 และ 2558 กรรมการ ปตท. ได้รับค่าตอบแทนรวมทุกประเภทเฉลี่ย 2.86 ล้านบาทต่อคน และ 1.67 ล้านบาทต่อคนตามลำดับ (ไม่รวมเบี้ยประชุมคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าบริษัทมหาชนชั้นนำหลายบริษัทใน ตลท. ที่ให้ผลตอบแทนกรรมการเฉลี่ยในระดับ 5-7 ล้านบาทต่อคน ทั้งๆ ที่ ปตท. เป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาด Market Capitalization สูงที่สุดใน SET

สำหรับกรรมการ ปตท. บางท่านที่ลงทุนซื้อหุ้น ปตท. จะได้รับเงินปันผลตามเกณฑ์เดียวกันกับผู้ถือหุ้นทั่วไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสถานะการเป็นกรรมการแต่อย่างใด การนำเงินปันผลที่ได้รับในฐานะผู้ถือหุ้น มาคิดรวมเป็นผลประโยชน์ตอบแทนกรรมการ จึงไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม

 

ประเด็นที่ 9. การมีหนังสือจากอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เพื่อให้คำยืนยันว่าได้มีการดำเนินการตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว และเห็นควรยุติเรื่องนี้ตามคำวินิจฉัยของศาลฯ เป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส 

ตามที่ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินให้ข้อมูลผ่านสื่อว่า มีอดีตประธาน ปตท. เขียนจดหมายส่วนตัวมาถึงท่าน และระบุว่าได้ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว อย่ามาหาเรื่อง และให้ยุติเรื่องดังกล่าวนั้น ปตท. ตรวจสอบแล้วไม่พบหนังสือส่วนตัวของอดีตประธานกรรมการ ปตท. แต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (คุณไพรินทร์ ชูโชติถาวร) ได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ ถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อชี้แจงให้ทราบว่า ปตท. ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำ พิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว 

ปตท. ใคร่ขอให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยหนังสือส่วนตัวที่ได้กล่าวถึงต่อสาธารณะ เพื่อจะได้ตรวจสอบว่ามีความพยายามใช้อิทธิพลใดๆหรือไม่ และเป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนในเรื่องดังกล่าว

 

10.  การแต่งตั้งข้าราชการเข้ามาเป็นกรรมการ ปตท. เป็นสิทธิของผู้ถือหุ้น เพื่อกำกับดูแลทรัพย์สินของรัฐ ควบคู่กับการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐด้านพลังงาน

ปตท. มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 51.1 และกองทุนรวมวายุภักษ์ถือหุ้นอีกร้อยละ 14.9 การแต่งตั้งผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐเป็นกรรมการ ปตท. สามารถกระทำได้ผ่านการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งปตท.ไม่มีบทบาทในการชี้นำ 

ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รัฐควรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยมอบหมายผู้แทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการ เพื่อกำกับดูแลและรักษาผลประโยชน์ของรัฐ รวมทั้งติดตามการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐด้วย 

ทั้งนี้ ข้าราชการที่มาเป็นกรรมการบริษัท ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเชิงวินัยข้าราชการ กฎหมายเกี่ยวกับกรรมการของรัฐวิสาหกิจ กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน และกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกำหนดความรับผิดไว้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา จึงเป็นหลักประกันว่าผู้แทนของภาครัฐจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทในลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน

ปตท. ขอยืนยันว่าได้ดำเนินงานทุกขั้นตอนภายใต้หลักธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ และสามารถสอบถามข้อเท็จจริงอื่นๆ ได้ที่ www.pttplc.com หรือ ดาวน์โหลด PTT Insight Application หรือ PTT Contact Center โทร.1365

Back to top button