ต้องจับตาน้ำมัน(ดิบ)ลูบคมตลาดทุน
วันนี้กลับมาเขียนเรื่องน้ำมันดิบอีกครั้ง
ธนะชัย ณ นคร
วันนี้กลับมาเขียนเรื่องน้ำมันดิบอีกครั้ง
สาเหตุก็เพราะมีประเด็นใหม่เข้ามาเกี่ยวกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องในช่วงกว่า 3 สัปดาห์
ทั้งมอร์แกน สแตนเลย์ และธนาคารบาร์เคลย์ ได้ออกบทวิเคราะห์มาพร้อมกัน และบอกเหมือนกันในประเด็นเรื่องราคาน้ำมันดิบ
นั่นคือ ราคาที่ปรับขึ้นไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน
ทว่าเกิดจากการที่ “กลุ่มเฮดจ์ฟันด์” เข้ามาเก็งกำไร
และแน่นอนว่า หากมีการสั่งขายล็อตใหญ่ออกมา จะทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างหนัก(อีกครั้ง)
เหตุผลสนับสนุนของบทวิเคราะห์ในครั้งนี้ เขายกข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของโลก รวมทั้งประเทศเกิดใหม่ ยังชะลอตัว และน่าจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน
ส่วนประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในกลุ่มโอเปก ก็ยังเพิ่มกำลังการผลิต
ไม่ว่าจะเป็น ประเทศซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน
อย่างกรณีอิหร่าน เขาก็ย้ำเองมาตลอดว่า ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันให้ได้ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันผลิตได้อยู่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ส่วนลิเบียเอง ก็ต้องเพิ่มกำลังการผลิตเช่นกัน
ส่วนอิรักนั้น ก็ย้ำเช่นกันว่า ไม่ต้องการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ เพราะเขาต้องการเงินมาใช้จ่ายภายในประเทศ
อิรักนั้น ประเทศอยู่ในช่วงของภาวะสงคราม
แน่นอนว่า หากปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง ก็จะทำให้รายได้ลดลงด้วย ซึ่งอิรักประกาศชัดเจนว่า “ไม่ยอม”
ย้ำกันอีกครั้งว่า ประเทศในกลุ่มโอเปคที่มีจำนวน 12 ประเทศ มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบอยู่ 32 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ส่วนนอกกลุ่มโอเปคนั้น มีกำลังการผลิตรวม 78 ล้านบาร์เรลต่อวัน
และเมื่อนำกำลังการผลิตมารวมกันพบว่า ยังคงมีจำนวนมากกว่าความต้องการ
และยอดดังกล่าวนี้ เขายังได้รวมถึงการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในอนาคตด้วย
ตัวเลขแบบนี้เองที่ทางมอร์แกน สแตนเลย์ และธนาคารบาร์เคลย์ บอกว่า “ไม่มีความสัมพันธ์กัน” กับราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น และมาอยู่เกินกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ก่อนหน้านี้ โกลด์แมน แซคส์ ก็บอกไว้ทำนองนี้เหมือนกัน
“น้ำมันดิบยังเผชิญกับภาวะอุปทานที่มากเกินไป และราคาน้ำมันในปีนี้ไม่น่าจะเกินไปกว่า 40 ดอลลาร์ แต่ก็จะไม่ร่วงลงไปแตะที่ระดับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า
สรุปแล้ว ที่ราคาน้ำมันดิบที่ขยับขึ้นมานั้น ถือว่า “ผิดธรรมชาติ”
และน่าจะมีการ “เก็งกำไร”
แต่ถึงอย่างไร ก็ยังไม่มีใครคาดการณ์ว่า กลุ่มเฮดจ์ฟันด์ จะปล่อยน้ำมันออกมาเมื่อใด
หรือยังคงต้องการขยับราคาน้ำมันให้มากกว่าปัจจุบัน
ราคาน้ำมันดิบ หากดูจากราคาปิดเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 22 เม.ย. หากเป็นเวสต์เท็กซัส หรือ WTI จะอยู่ที่ประมาณ 43 ดอลลาร์บาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนเบรนท์นั้น จะมากกว่านั้นเล็กน้อย หรือ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ทำให้หุ้นน้ำมัน และหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น ต่างขยับขึ้นกันมาอย่างต่อเนื่อง
ในประเทศไทย เช่น หุ้นในกลุ่ม ปตท. ทั้ง PTT PTTEP PTTGC และ TOP
อย่างไรก็ดี ในช่วงหัวค่ำของคืนวานนี้ สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า ราคาได้ปรับลงมาเล็กน้อย เพราะนักลงทุนได้มีการเทขายทำกำไรกันออกมา
กลุ่มเฮดจ์ฟันด์ เข้าไปตรงไหน
ก็มักจะมีความวุ่นวายตามมา