คุ้มครอง(แบงก์)เงินฝาก ลูบคมตลาดทุน

มีปุจฉาว่า จริงๆ แล้ว การเลื่อนลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากออกไป เพราะต้องการช่วย “แบงก์” หรือ “คนฝากเงิน”


ธนะชัย ณ นคร 

 

มีปุจฉาว่า จริงๆ แล้ว การเลื่อนลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากออกไป เพราะต้องการช่วย “แบงก์” หรือ “คนฝากเงิน”

นั่นคือ การยืดระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 15 ล้านบาทออกไปจนถึงเดือนส.ค. 2561 (กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2559) ก่อนทยอยลดลงสู่ 1 ล้านบาทภายในปี 2563

ก่อนหน้านี้ คนที่มีเงินฝากในระดับนี้ต่างก็รับทราบกันแล้วล่ะ

และหลายคนก็วางแผนทางการเงิน หรือเตรียมกระจายเงินฝากของตนเองไปยังแบงก์ต่างๆ มากขึ้น หรือช่องทางการออม หรือการลงทุนอื่นๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะอยู่ในแบงก์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง

ไม่ว่าจะเป็น BBL  KTB  KBANK  และ SCB

ดังนั้น คนที่มีเงินฝากในธนาคารขนาดใหญ่แบบกระจุกตัว เขาก็ต้องกระจายบัญชีออกไป

เช่น ไปเปิดบัญชีกับธนาคารขนาดใหญ่แห่งอื่น หรือเฉลี่ยเงินฝากไปยังธนาคารขนาดกลาง และเล็กแทน

ทั้งนี้ ก็เพื่อกระจายความเสี่ยงออกไป

แน่นอนว่า หากเป็นรูปแบบนี้ ธนาคารที่มีคนฝากเงินมากๆ ก็จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ที่ถูกมองว่าจะได้รับผลกระทบ

ส่วนธนาคารขนาดกลางและเล็ก ก็อาจไม่ได้กระทบอะไรมาก

หรืออาจจะเป็นปัจจัยบวกเสียด้วย เพราะจะมีเงินฝากไหลเข้ามามากขึ้น

คนที่มีเงินฝากจำนวนมาก ยังวางแผนที่จะนำเงินเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอื่นๆ ด้วย เช่น การซื้อประกันชีวิต หรือการซื้อกองทุนที่มีระดับความสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนที่ลงทุนพันธบัตรต่างๆ

แต่เมื่อ มีการเลื่อนความคุ้มครองออกไป ก็ทำให้แผนเหล่านั้น เลื่อนออกไปเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ นำร่องเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมา ทั้งดอกเบี้ย MLR MOR  และ MRR ราวๆ 0.25%

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นยังไม่ปรับลด

แม้ว่าในช่วงนี้ แบงก์จะปล่อยสินเชื่อได้ค่อนข้างลำบาก

ทว่าในด้านของเงินฝากนั้น แต่ละแห่งก็ยังบริหารจัดการได้ โดยให้อัตราส่วนของเงินกู้และเงินฝาก ยังคงมีความสัมพันธ์กัน หรือ L/D ratio(Loan-to-deposit ratio) ซึ่งเป็นปริมาณสินเชื่อต่อยอดเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์

ถามว่า แบงก์เมื่อลดดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ยังไม่ลดเงินฝาก

มีความเป็นไปได้ไหมที่พวกเขายังต้องการดึงเงินฝากไว้กับธนาคารตัวเองต่อไป

คำตอบคือ ก็อาจเป็นไปได้

เพราะหากดอกเบี้ยเงินฝากปรับลง ก็จะเกิดการเคลื่อนย้ายของเงินฝากแน่นอน โดยเฉพาะกับคนที่มีบัญชีเงินฝากมูลค่าหลักสิบล้านบาท หรือมากกว่านั้น

และหากกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก เข้ามามีผลบังคับใช้อีกในช่วงอีก 4 เดือนข้างหน้าพอดี

ซึ่งนั่นก็อาจทำให้ ระบบเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะแบงก์ขนาดใหญ่อาจมีปัญหา

จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นนโยบายที่ต้องการ “อุ้ม” ธนาคารขนาดใหญ่ หรือไม่

เพราะหากดูข้ออ้างที่ที่นำมาใช้ในการเลื่อนนั้น ไม่ค่อยสมเหตุผลสักเท่าไหร่

สำหรับการยืดความคุ้มครองเงินฝากครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก

เพราะในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์วิกฤติซับไพรม์ของสหรัฐฯในปี 2551 และปี 2555 หรือหลังจากที่ไทยเพิ่งผ่านเหตุมหาอุทกภัยครั้งรุนแรงในปี 2554

ในปี 2555 นั้น รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาออกมาเกี่ยวกับเรื่องคุ้มครองเงินฝาก

นั่นก็คือ ยืดระยะเวลาการคงวงเงินคุ้มครองเงินฝากไว้ที่ 50 ล้านบาทออกไปอีก 3 ปี จนถึง 10 สิงหาคม 2558 โดยอ้างว่าเศรษฐกิจไทยกำลังทยอยฟื้นตัว

ในช่วงวิกฤติการเงินปี 2540 เราต้องสูญเสียเงินจำนวนมากเพื่ออุ้มแบงก์

และผ่านมาจนถึงวันนี้ การอุ้มแบงก์ก็ยังมีให้เห็น

 

 

 

 

 

Back to top button