เศรษฐกิจหลากลีลาขี่พายุ ทะลุฟ้า

ตัวเลขการส่งออก เพิ่งจะกระเตื้องเป็นบวกมา 2 เดือน ภายหลังติดลบต่อเนื่องมายาวนานถึง 31 เดือน แต่ก็คงจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจในภาพรวมไม่ได้มากสักเท่าไหร่นัก


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

ตัวเลขการส่งออก เพิ่งจะกระเตื้องเป็นบวกมา 2 เดือน ภายหลังติดลบต่อเนื่องมายาวนานถึง 31 เดือน แต่ก็คงจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจในภาพรวมไม่ได้มากสักเท่าไหร่นัก

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หน่วยงานมันสมองของกระทรวงการคลังเอง ยังออกมาปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจจะเติบโตได้เพียง 3.3% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ถึง 3.7%

ก็คงต้องทำใจว่า ไม่ติดลบก็บุญหัวแล้ว วิถีของผู้ประกอบการไทยเรา ก็คงต้องมองเหตุการณ์กันแบบช็อตต่อช็อต ก่อนจะคิดลงมือทำอะไรไป

ครับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คนช่างคิดสมชื่อ ก็งัดกระบวนท่าทำงานด้วยการออกมาตรการมาเป็น 10 มาตรการแล้ว แต่ละมาตรการก็ดูจะขลังและศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อย

อาทิ การชุมนุมเจ้าสัวใหญ่หรือลูกเจ้าสัว มาทำเศรษฐกิจประชารัฐ 12 คณะ เพื่อมาทำแผนแม่บทการพัฒนาโดยรอบด้านอย่างเนี้ย

แต่ยาที่ให้ไป ก็ยังไม่สู้จะออกฤทธิ์มากสักเท่าไหร่

ตอนนี้ แนวธุรกิจที่มีชื่อเรียกว่า “สตาร์ท-อัพ” กำลังฮิตติดลมบน นายกฯประยุทธ์ ก็ตั้งใจว่าจะให้เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ภายใต้กำกับของรองนายกฯสมคิด ไปที่ไหนก็เรียกขานและเผยแพร่ธุรกิจสตาร์ท-อัพๆ คือธุรกิจที่มีนวัตกรรม ไม่ซ้ำเก่า และบริหารงานโดยคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดติดกรอบกันทั้งนั้น

นี่ก็ยังต้องติดตามกันต่อไปว่า การสร้าง “สตาร์ท-อัพ” ให้เป็นวาระแห่งชาติ จะสร้างอะไรให้ได้เป็นกอบเป็นกำ พอจะไปกระตุกเศรษฐกิจให้ขึ้นมาได้กี่มากน้อย

นอกจากนี้ ก็ยังมีนโยบายใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจจากทีมงานสมคิด ที่จะต้องติดตามกันต่อไปว่า จะสร้างมรรคผลในการกอบกู้เศรษฐกิจให้ดีขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหนอีกหลายรายการ

อาทิเช่นคลัสเตอร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตเศรษฐกิจชายแดน หรือเศรษฐกิจไทยแลนด์  4.0 อย่างเนี้ย บางเรื่องก็พอจะทำความเข้าใจได้ บางเรื่องก็ต้องเกาหัวแกรกว่า แล้วจะทำให้หายจากนามธรรมมาเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

เรื่องคลัสเตอร์ ผมว่าโดยตัวมันเอง ไม่ใช่ตัวที่จะไปผลักดันเศรษฐกิจได้โดยตรงนะ เพียงแต่เป็นการจัดระเบียบตัวอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกันให้เป็นหมวดหมู่

ผมก็มีคำถามในใจกลับไปเหมือนกันว่า แล้วทุกวันนี้ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง หรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อันเป็นหัวใจใหญ่ของอีสเทิร์น ซีบอร์ด

มันไม่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ที่มีองค์ประกอบครบสมบูรณ์ทั้งท่าเรือ สาธารณูปโภคครบครัน และการเป็นเขต EPZ นั่นคือ Export Processing Zone ที่เป็นเขตปลอดภาษีสมบูรณ์แบบอยู่ดอกหรือ

เมื่อเร็วๆ นี้ยังได้ยินดร.สมคิดเปรยๆ ว่า จะไปจัดระเบียบให้อีสเทิร์น ซีบอร์ดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผมก็ยังงงว่า ก็มันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สุดยอดที่สุดตามเจตนารมณ์ต้นแบบอยู่แล้ว

ยังมีความจำเป็นจะไปจัดอะไรให้มันเป็นซุปเปอร์เขตเศรษฐกิจพิเศษอีก

การจัดระเบียบคลัสเตอร์ บางทีเอกชนธรรมดาเขาก็จัดคลัสเตอร์โดยตัวเขาเองได้นะ

อย่างเช่นโรงไม้หรือร้านเฟอร์นิเจอร์ย่านบางโพ เขาก็จัดเป็น “ถนนประชานฤมิตร” เป็นแหล่งใหญ่ให้คนที่ชื่นชอบเฟอร์นิเจอร์ไม้ไปช้อปหาสินค้ากันได้นะ

นึกถึงภาพบาร์เบียร์พัฒน์พงศ์ นี่ก็คลัสเตอร์ของแท้เหมือนกัน เพราะหากตั้งกันอยู่กระจัดกระจาย ก็หาแขกเข้าไปดื่มกินได้ลำบาก แต่นี่เป็นย่านเลย นักเที่ยวทั้งไทยและเทศก็รู้สึกเพลิดเพลินเจริญใจดีกับบรรยากาศเข้าร้านโน้นออกร้านนี้

พูดถึงเรื่องเขตเศรษฐกิจชายแดน ผมก็ว่ามันไม่มีความจำเป็นจะไปตั้งโรงงานหรือย่านการค้าให้มันเป๊ะตรงชายแดนหรอกนะ

บางที่ใช่อย่างเช่นหาดใหญ่ แม่สอด ก็ยกระดับกันไป แต่บางที่มันก็ไม่ใช่ ซึ่งส่วนใหญ่มันก็ไม่ใช่หรอกนะ เพราะพื้นที่ชายแดนส่วนใหญ่กันดารจะตาย และก็ขาดแคลนสาธารณูปโภค ถ้าคิดจะทำก็ต้องไปลงมือใหม่เลย

สมัยหนึ่ง รัฐบาลเคยคิดจะย้ายอุตสาหกรรมทอผ้าไปแม่สอด จ.ตาก เพราะคิดว่าจะได้แรงงานราคาถูกจากพม่า

แรงงานมันก็ถูกจริงหรอก แต่เรื่องผ่านเข้าออกเมืองก็ไม่สะดวก ต้นทุนโลจิสติกส์ก็สูง เพราะต้องขนวัตถุดิบจากส่วนกลางไปขาหนึ่ง ผลิตจากโรงงานออกมาแล้ว ก็ต้องขนกลับส่วนกลางไปกระจายสินค้าใหม่อีก

โดนต้นทุนโลจิสติกส์ถึง 2 เด้งกับการได้แรงงานราคาถูก แล้วมันจะไปคุ้มค่าอะไร ในที่สุดโรงงานที่ย้ายไปเปิดก็ต้องซมซานกลับกรุงเทพฯกันเป็นแถว

เศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ฟื้น ไม่ได้อยู่ที่ลีลาหรือถ้อยคำประดิษฐ์ หากแต่อยู่ที่การกระทำในสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นรูปธรรมมากกว่า ไม่ใช่ลอยเคว้งคว้างอยู่ในอากาศ     

Back to top button