JAS ตั้งเป้าลูกค้าบรอดแบนด์พุ่งเป็น 3.3 ล้านรายในปี 60
JAS ตั้งเป้าลูกค้าบรอดแบนด์พุ่งเป็น 3.3 ล้านรายในปี 60
นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารุกธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตเป็นหลัก โดยจะขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มเป็น 3.3 ล้านรายในปี 60 เติบโตต่อเนื่องจากสิ้นปีนี้ที่ตั้งเป้าขยายลูกค้าเพิ่มเป็น 2.5 ล้านราย จากปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ราว 2 ล้านราย
และคาดว่าในปีนี้จะมีรายได้จากบริการดังกล่าวราว 18,121 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มเป็น 21,674 ล้านบาทในปี 60 โดยมองแนวโน้มการเติบโตของบริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยยังมีช่องว่างอีกมาก
ทั้งนี้ กลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทมีแผนลงทุนขยายโครงข่ายบรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ต ซึ่งวางงบลงทุนไว้ราว 6,000 ล้านบาท ตั้งเป้าขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมเพิ่มเป็น 7,400 ตำบลทั่วประเทศภายในปีนี้ จากปัจจุบัน 5,900 ตำบล เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการใช้งานได้ ซึ่งบริษัทจะขยายลงไปให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน เพื่อทำให้เกิดการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ที่เกิดจากการขายและบริการบรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ตเติบโตมากขึ้น
นอกจากนี้ ในช่วงเดือน เม.ย.59 บริษัทได้ออกแคมเปญบรอดแบรนด์เพื่อดึงดูดการใช้งานของลูกค้า โดยแคมเปญดังกล่าวได้มีการเพิ่มความเร็วของการใช้งานให้แก่ลูกค้า และมีราคาแพคเกจที่ถูกที่สุด เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งหลังจากออกแคมเปญก็ได้รับการตอบรับที่ดี และคาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นราว 100,000 ราย/ไตรมาส ก็เชื่อว่าจะสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมได้
นายพิชญ์ กล่าวว่า ในการประชุมผู้ถือหุ้น JAS วันนี้ ได้มีการอนุมัติในโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวน 1,200 ล้านหุ้น จากผู้ถือหุ้นเป็นการทั่วไป ในราคา 5.00 บาท/หุ้น โดยบริษัทฯได้เตรียมวงเงินไว้ 6,000 ล้านบาท และจะมีการดำเนินการซื้อหุ้นคืนในวันที่ 1-10 มิ.ย.59 ซึ่งจะมีการแจ้งรายละเอียดให้ผู้ถือหุ้นทราบในเดือนพ.ค.59
ขณะที่ผู้ถือหุ้น JAS ทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ได้ลงคะแนนเสียงให้กำหนดวาระให้ผู้บริหารชี้แจงกรณีที่บริษัส แจส โมบาย บรอดแบนด์ ไม่ชำระเงินและทิ้งใบอนุญาตคลื่น 9800 MHZ ซึ่งนายพิชญ์ เป็นผู้ชี้แจงต่อผู้ถือหุ้นว่า เหตุผลที่ไม่รับใบอนุญาตดังกล่าว เนื่องจากมีเงื่อนไขในส่วนของแบงก์การันตีที่ได้ขอไว้กับธนาคารกรุงเทพนั้น ทางธนาคารได้ให้นายพิชญ์และครอบครัวเป็นผู้ค้ำประกันส่วนตัว ซึ่งตนเองได้ปฏิเสธรับข้อเสนอดังกล่าว
ด้านพันธมิตรจากจีนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนติดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องของจีน ทำให้ไม่ทันระยะเวลาตามกำหนด 90 วัน ตามที่ระบุในประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และ ทาง กสทช.ก็ไม่ผ่อนผันเรื่องระยะเวลาให้กับบริษัท ทำให้ไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกัน 7.2 หมื่นล้านบาทมามอบให้ได้ทัน
แต่อย่างไรก็ตาม นายพิชญ์ ยังยืนยันว่าการไม่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวจะไม่เกิดผลกระทบและยืนยันว่าหากสามารถนำหนังสือไปมอบให้กับ กสทช.ได้ บริษัทก็มีความพร้อมในการดำเนินการ เพราะได้วางแผนงานไว้แล้ว และการชดใช้ความเสียหายจากกรณีดังกล่าวก็จะไม่สร้างผลกระทบให้กับบริษัทมากนัก เนื่องจากบริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่บันทึกเป็นกำไรพิเศษเป็นจำนวนมาก ส่วนมูลค่าความเสียหายเชื่อว่าจะมีเพียงการยึดเงินค้ำประกันการเข้าประมูลวงเงินกว่า 600 ล้านบาทเท่านั้น